กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศสรุปตัวเลขทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2564 และเพิ่มอัตราคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจของสิงคโปร์ประจำปี 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2564

การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2564 GDP ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.7แบบ Year-on-Year (YoY) (จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.3) สาเหตุที่ GDP ขยายตัวอย่างมากเนื่องจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Circuit Breaker) และเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 GDP สิงคโปร์ยังคงหดตัวร้อยละ -0.6

หากเปรียบเทียบแบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสนี้ยังคงหดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2564 เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดระยะที่ 2 แบบเฝ้าระวังอย่างยิ่ง Phase 2 (HA) ในช่วง 16 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2564 และกลับมาใช้มาตรการดังกล่าวระหว่าง 22 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2564

หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงไม่ฟื้นตัวในไตรมาสนี้ ได้แก่

1) กลุ่มการก่อสร้าง หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 (ไตรมาสที่ 2/2562) ภาคการก่อสร้างใน สิงคโปร์ยังคงหดตัวร้อยละ -29.0 แบบ YOY และหดตัวร้อยละ -7.6 แบบ QoQ เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด-19) ก็ยังคงหดตัวร้อยละ -7.4 แบบ YOY และหดร้อยละ -3.4 แบบ QoQ

2) กลุ่มการค้าปลีก หากเทียบกับไตรมาสที่ 2/2562 ยังคงหดตัวร้อยละ -12.0 และหดตัวร้อยละ -4.4 แบบ QoQ  การขนส่ง/คลังสินค้า ขยายตัวร้อยละ 20.9 แบบ YoY เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางทะเลและตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2562 ยังคงหดตัวร้อยละ -24.0 และหดตัวร้อยละ -2.5 แบบ QoQ

3) การบริการด้านอาหาร/เครื่องดื่ม ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการควบคุมโรคระบาดสำหรับ Phase 2 (HA) เช่น การห้ามรับประทานที่ร้านอาหารโดยเด็ดขาด และผู้จัดเลี้ยงอาหารยังคงได้รับผลกระทบในทางลบจากข้อจำกัดในการจัดงานและการชุมนุมขนาดใหญ่ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ซบเซาต่อเนื่อง แต่อาจเติบโตขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากสิงคโปร์เริ่มประกาศยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 โดยยังคงดำเนินการในลักษณะ Risk-managed Approach

อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 ได้แก่

1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เติบโตร้อยละ 17.7 แบบ YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 11.4 ในไตรมาสที่ 1/2564 ในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวิศวกรรมขนส่งและวิศวกรรมความแม่นยำสูง จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของเซมิคอนดักเตอร์ แต่หดตัวร้อยละ -2.5 แบบ QoQ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP ทั้งหมด

2) กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร ขยายตัวร้อยละ 9.6 แบบ YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสที่ 1/2564 และหดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 แบบ QoQ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ผู้บริโภคสำหรับโซลูชั่นดิจิทัล เกม และซอฟต์แวร์ กลุ่มการเงิน/การประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 9.1 แบบ YoY และขยายตัวร้อยละ 1.7 แบบ QoQ จากการเพิ่มขึ้นในค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน (Commission) และรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ การประกันภัยที่ขยายตัวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่ยั่งยืนในผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต

3) กลุ่มโรงแรมและที่พักอาศัย ขยายตัวร้อยละ 13.2 แบบ YoY และขยายตัวร้อยละ 2.4 แบบ QoQ เนื่องจากการสนับสนุนโดยภาครัฐและอุปสงค์ของการท่องเที่ยวภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Staycation) ถึงแม้จะถูกกระทบในส่วนของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง

แนวโน้มทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ผลการดำเนินงานของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขยายตัวถึงร้อยละ 7.7 แบบ YoY ดังนั้น MTI จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ ปี 2564 เป็น “ร้อยละ 6.0 ถึง 7.0” จากเดิมที่เคยประเมินไว้เพียงร้อยละ 4.0 ถึง 6.0”

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 คาดว่าจะยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสิงคโปร์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี และอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ร้อยละ 77 ของประชากรสิงคโปร์ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว) นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ผ่อนปรนให้กลุ่มแรงงานต่างชาติที่สิงคโปร์เห็นว่าจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ อาทิ แรงงานในภาคการก่อสร้างเดินทางเข้าสิงคโปร์ ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูภาคการก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งยังคงไม่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน คาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ถึงแม้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 รัฐบาลสิงคโปร์จะประกาศยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2564 โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ของการเดินทาง แต่ในช่วงต้นอุปสงค์ของการเดินทางเข้า สิงคโปร์จะยังคงมีไม่มาก เนื่องจากมาตรการยกเว้นการกักตัวแต่เพียงฝ่ายเดียว (unilateral lift) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาสิงคโปร์ ยังคงต้องเข้ารับการกักตัวเมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง (ยกเว้นบรูไนฯ และเยอรมนีที่ยกเว้นการกักตัวทั้งสองฝ่าย) ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวและการบินจึงไม่มีทางฟื้นตัวได้ดีเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2564 นี้ ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างและวิศวกรรมทางทะเลและนอกชายฝั่ง ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะจากเอเชียใต้ และมาตรการคัดกรองแรงงานต่างชาติจากเอเชียใต้ของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ยังคงเข้มงวดมาก                   

อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ มูลค่าการค้า

อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่ 1/2564

จากข้อมูลธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 อัตราเงินเฟ้อหลักเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงจากร้อยละ 0.8 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากการลดลงของต้นทุนการค้าปลีกและสินค้าอื่น ๆ อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2564  ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ไม่เปลี่ยนจากเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ MAS ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับปี 2564 จะยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0 – 1 และประมาณการอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 1 – 2  

มูลค่าการส่งออกสินค้า ไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 26.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2564 ร้อยละ 4.9  ในขณะที่การนำเข้าสินค้า ไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 28.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่ 1/2564       

การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคที่สำคัญของ MTI

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าอุปสงค์จากภายนอกประเทศจะสนับสนุนการเติบโตของ GDP อยู่บ้าง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จากการแพร่ระบาดที่รุนแรงของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องประกาศล็อกดาวน์เป็นเวลาหลายเดือน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สหรัฐฯ MTI ประเมินว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการฟื้นฟูตลาดแรงงาน การยกระดับเงินออม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนของรัฐบาลสหรัฐฯโดยสนับสนุนเงินให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

การเติบโตของจีนคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากอัตราการเติบโตของการลงทุนลดลง และการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคในจีนในระยะสั้น เพราะรัฐบาลจีนประกาศมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทเป็นระยะ

ญี่ปุ่น อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะเร็วขึ้น ขณะที่การประกาศพรก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาดในกรุงโตเกียวและจังหวัดโอกินาวา จะส่งผลกระทบการบริโภคภายในประเทศในระยะสั้น แต่อุปสงค์จากภายนอกประเทศที่สูงจะยังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

กลุ่ม EU คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาธุรกิจสามารถเริ่มเปิดดำเนินการ และอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศของ EU

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต                                 

ตัวอย่างการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 2/2564 (YoY) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 14.7% 2) ฟิลิปปินส์ 11.8% 3) จีน 7.9% 4) อินโดนีเซีย 7.1% 5) เวียดนาม 6.6% สำหรับไทย ธนาคารแห่งประเทศรายงานนโยบายการเงินเดือนมิถุนายน 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น โดยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 และปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในขณะที่สื่อสิงคโปร์ประเมินว่าการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง แม้ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวร้อยละ 15.5 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวปราศรัยในโอกาสครบรอบ 56 ปี วันชาติสิงคโปร์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ กำลังปรับปรุงนโยบายแรงงานต่างชาติใหม่ เพื่อควบคุมคุณภาพ จำนวน และความหนาแน่นของชาวต่างชาติในสิงคโปร์ และสร้างสมดุลระหว่างการจ้างแรงงานต่างชาติกับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของพลเมืองในชาติ โดยจะสนับสนุนผู้มีรายได้ต่ำ และรักษาความกลมเกลียวทางเชื้อชาติ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 นาง Halimah Yacob ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ประกาศอนุมัติพระราชบัญญัติการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมของปีงบประมาณ ค.ศ. 2021 เพื่อเป็นการจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ ตามที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 เพื่อสนับสนุนแรงงานและธุรกิจที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง