ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อเป็นลำดับต้น

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นาย Ravi Menon ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้กล่าวในโอกาสการเผยแพร่รายงานประจำปีของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS Annual Report) ค.ศ. 2021/2022 ซึ่งเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต ดังนี้

การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ  

ภาวะเงินเฟ้อเป็นความท้าทายสำคัญทางเศรษฐกิจมหภาคที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ IMF คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อโลกในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบ 25 ปี ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกเกิดจากอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สอดคล้องกัน ภาคอุปสงค์กำลังฟื้นตัวจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ในภาคอุปทานยังคงเผชิญปัญหาจากห่วงโซ่อุปทานที่ถูกกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน กอปรกับปัจจัยความตึงตัวของตลาดแรงงาน (labour market tightness) ที่กลายเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อใน advanced economies ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและสิงคโปร์ กล่าวคือความต้องการแรงงานมีมากกว่าจำนวนแรงงาน ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้สูญเสียแรงงานต่างชาติร้อยละ 15 ซึ่งเดินทางออกจากสิงคโปร์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 (เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการจ้างงานคนสิงคโปร์ และลดการจ้างแรงงานต่างชาติ) ในขณะที่ค่าแรงในสิงคโปร์สูงเป็นประวัติการณ์ แต่กลับไม่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของผลิตภาพแท้จริง

จากสถิติเดือนมิถุนายน 2565 สิงคโปร์มีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ร้อยละ 4.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation/ CPI All Item) ร้อยละ 6.7 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี MAS จึงวางแผนที่จะใช้นโยบายค่าเงินแข็งค่า (Tighten Exchange Rate Policy) เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อของภาคการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ MAS คาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มสูงสุดที่ร้อยละ 4.0 – 4.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงปลายปี โดยน่าจะมีอัตราเฉลี่ยตลอดปี 2565 ร้อยละ 3.5 – 4.0 สำหรับปี 2566 ภาวะเงินเฟ้อน่าจะผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะยังคงสูงกว่าอัตราเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2543 ที่ร้อยละ 1.5

MAS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในสิงคโปร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นจะทำให้เกิดผลเชิงลบทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงในปีนี้ โดยเชื่อมั่นว่าทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนจะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่ใช้นโยบายเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อซึ่งเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 

MAS จะยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเป็นลำดับต้น โดยใช้วิธีการ ได้แก่ (1) นโยบายการเงินเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อโดยตรง โดยเฉพาะการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบแข็งค่า ดำเนินการเชิงรุกในการกระชับนโยบายการเงิน โดยออกนโยบายเข้มงวดขึ้น 4 ครั้ง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความเหมาะสม (2) การเยียวยาประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ มาตรการ Support Package 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ (3) การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อลดอัตราค่าจ้างและช่วยฟื้นฟูอุปทานของตลาดแรงงาน และ (4) การจัดการหนี้ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น MAS ติดตามความเสี่ยงต่อระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมถึงการกำหนดให้สถาบันการเงินรายใหญ่ต้องทดสอบความเข้มแข็ง (stress testing) อย่างเข้มงวด

การพัฒนาระบบนิเวศของเงินคริปโต (Cryptocurrency)

MAS ไม่รับรองสกุลเงินคริปโตของบริษัท TerraForm Labs และบริษัท Luna Foundation Guard ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ทั้งนี้ MAS และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการบังคับใช้อย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายในสิงคโปร์ ที่ผ่านมา MAS ได้กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับคริปโตในสิงคโปร์ โดยเน้นการปราบปรามการฟอกเงินและความระดมทุนของขบวนการก่อการร้าย แต่ยังไม่ครอบคลุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พฤติกรรมของตลาด และการสำรองเงินสำหรับ Stablecoin1 เท่าใดนัก ซึ่ง MAS จะเพิ่มการกำหนดระเบียบต่าง ๆ ในด้านนี้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา MAS ได้เตือนสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอว่าการลงทุนในคริปโต มีความเสี่ยงสูง โดยในเดือนสิงหาคม 2565 MAS จะจัดสัมมนา Green Shoots เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล และอธิบายจุดยืน ความเสี่ยง โอกาส ข้อบกพร่องและศักยภาพของสกุลเงินคริปโต stablecoins  blockchains tokenization สัญญาอัจฉริยะ และสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดวิธีที่แนวทางการพัฒนาและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงานและกลยุทธ์ด้านการเงินของสิงคโปร์

ปี 2564 ภาคการเงินยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี เติบโตที่ร้อยละ 7.4 การลงทุนด้าน FinTech สูงถึง 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการสร้างงานสุทธิทั้งหมด 4,300 ตำแหน่งในบริการทางการเงิน/FinTech

ภูมิทัศน์ทางการเงินทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานรัฐสภาสหรัฐฯเดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565) ทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ ๆ ต่อตลาดและสถาบันการเงิน ธรรมชาติของโลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนแปลงและห่วงโซ่อุปทานกำลังปรับตัว โดยมุ่งเน้นที่ความยืดหยุ่นทางธุรกิจมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นและการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนก็คืบหน้าอย่างยิ่ง ทั้งนี้ MAS จะทำการศึกษาเกี่ยวกับอนาคตของบริการทางการเงินจนถึงปี 2573 จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

MAS ได้ทบทวนแผน Financial Services Industry Transformation Maps (ITM) สำหรับช่วงปี 2564 – 2568 เพื่อนำเสนอในอีก 2-3 เดือน โดย ITM ฉบับ 2.0 นี้จะกำหนดพิมพ์เขียวของกลยุทธ์และข้อริเริ่มเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำในเอเชีย

การขับเคลื่อนภาคการเงินสิงคโปร์สู่ความยั่งยืน

MAS เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี (ค.ศ. 2021/2022) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งได้รายงานความคืบหน้าและความคิดริเริ่มต่าง ๆ ของภาคการเงินสิงคโปร์ในเส้นทางสู่ความยั่งยืน เช่น (1) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเงินต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (2) การพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืน (3) การจัดทำประเภทของทุนสำรองต่างประเทศที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และ (4) ลดการปล่อยก๊าซ CO2 ของ MAS รวมถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2565 เป็นร้อยละ 4.2 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน 2565 ที่ร้อยละ 4.9 และต่ำกว่าการเติบโตร้อยละ 6.5 ในปี 2564 รวมทั้งยังลดการคาดการณ์ในปี 2566 ลงเหลือร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 5.1 การปรับลดสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม IMF สังเกตเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการเพิ่มความยืดหยุ่นของการผลิตและการฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในมาเลเซีย ไทย และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

สำหรับประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 โดยได้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 จากปัจจัยราคาพลังงานโลกและต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหาร ได้แก่ (1) ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 37.24 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาก๊าชหุงต้มและ (2) ราคาสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ สูงขึ้นร้อยละ 6.18 และประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 ที่ร้อยละ 3.3 และ ปี 2566 ที่ร้อยละ 4.2 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก โดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ IMF คาดการณ์


1 เหรียญโทเคนดิจิทัลที่มีมูลค่าผูกอยู่เท่ากับสินทรัพย์อื่นในอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ เช่น  เหรียญ USDC, USDT, BUSD ซึ่งเป็นเหรียญที่ผูกอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 1 โทเคน จะสามารถแลกเปลี่ยนกลับเป็นมูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐได้เสมอ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง