หลังการอุบัติของโรคติดเชื้อโควิด – 19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาเรื่อง Supply Shock จากนโยบายการงดการส่งออกสินค้าสำคัญ กอปรกับการขนส่งระหว่างประเทศที่ขาดตอนและล่าช้าลงในช่วงโควิด-19 เป็นเหตุให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอาหารและเวชภัณฑ์ พยายามหากลยุทธ์เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยใช้จุดเด่นด้านที่ตั้ง รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย

สิงคโปร์เล็งเห็นว่าการใช้สิงคโปร์เป็นที่ตั้งในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Distribution Centres – RDCs) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน (supply chain disruption) และช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถส่งสินค้าข้ามพรมแดนให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น แม้ในช่วงโควิด-19 หรือช่วงโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศ การสร้างศูนย์ RDCs ในพื้นที่ใกล้เคียงหรืออยู่ในตลาดปลายทาง โดยใช้นวัตกรรมโลจิสติกส์ชั้นสูงยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการกระจายสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการ เช่น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ (เพื่อนำไปขายต่อ) และการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าท้องถิ่น เป็นต้น

การเลือกสถานที่ตั้ง RDC ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ รูปแบบการขนส่ง และความคุ้มทุน ซึ่งสิงคโปร์มีข้อได้เปรียบในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ส่งเสริมการกระจายห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเอื้อต่อการสร้างความยืดหยุ่น (resilience) และการเติบโตทางธุรกิจ

นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ในสิงคโปร์

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่เชื่อมต่อท่าเรือระหว่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มมูลค่า (value-added) ของการให้บริการ อาทิ การให้บริการครบวงจรหรือบริการรับเหมาด้านโลจิสติกส์ (Contract Logistics) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งครอบคลุมเรื่องการบริหารคลังสินค้า และการจัดส่งสินค้าระยะใกล้ไปถึงผู้รับในท้องถิ่นด้วย โดยท่าเรือทั้ง 5 แห่งในสิงคโปร์เชื่อมต่อกับท่าเรือมากกว่า 600 แห่งใน 123 ประเทศ และท่าอากาศยานชางงีเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจำนวน 3 ล้านตัน/ปี และเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 หน่วยงาน Entreprise Singapore ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) ได้เผยแพร่คู่มือการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจพร้อมมาตรการเตรียมความพร้อมในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือธุรกิจโลจิสติกส์ในการดำเนินธุรกิจ และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) จัดทำข้อมูลการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถของสิงคโปร์ในห่วงโซ่อุปทานโลก ได้แก่  

(1) DHL Asia Pacific Innovation Center (APIC) พื้นที่ออกแบบความคิดที่ด้านนวัตกรรมและโลจิสติกส์ เช่น แว่นตาอัจฉริยะสำหรับคลังสินค้า อากาศยานไร้คนขับจัดส่งสินค้าในช่วงเวลาวิกฤต และยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีตรวจจับสัญญาณประเภท machine-to-machine (M2M) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลระหว่างยานพาหนะได้ และเพิ่มระยะเวลาทำงานของยานพาหนะขึ้น 30 % นอกจากนี้ คลังสินค้า DHL Advanced Regional Center (ARC) ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ขั้นสูง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บสินค้าจากสถานที่ 72,000 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 26 ชั้น รวมถึงสร้างตัวแบบอนาคตของคลังสินค้าที่มีพื้นที่จำกัด

(2) Networked Trade Platform (NTP) แพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจรภายใต้การดำเนินของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งของสิงคโปร์ เช่น MTI EDB กรมศุลกากร กระทรวงการคลังของสิงคโปร์ (ทดแทนแอปพลิเคชันด้านการค้า TradeNet และแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อชุมชนการค้าและโลจิสติกส์ TradeXchange) มุ่งเป้าจะสร้างระบบนิเวศข้อมูลการค้าซึ่งจะวางรากฐานให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และห่วงโซ่อุปทานชั้นนำของโลก

(3) SATS ผู้ให้บริการการเชื่อมต่อทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างครบวงจร ครอบคลุมท่าอากาศยาน 47 แห่งใน 14 ประเทศ รวมถึงการขนส่งทางอากาศ การบริการผู้โดยสาร บริการจัดเลี้ยงระยะไกล และการจัดการศูนย์ล่องเรือ 1) SATS eCommerce AirHub: ระบบ eCommerce บนอากาศยาน ซึ่งสามารถประมวล 1,800 ถุงไปรษณีย์/ชั่วโมง เป็นจำนวนมากกว่าระบบ manual ถึง 3 เท่า 2) SATS Technology Innovation Centre (TechnIC@SATS): การปรับใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เช่น พาหนะนำทางอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicles  – AGV) และเครื่องคัดแยกช้อนส้อมอัตโนมัติ และ 3) SATS Coolport คลังจัดเก็บสินค้าให้ห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่ -28 ถึง 25 องศาเซลเซียส ณ ท่าอากาศยานชางงี

(4) PSA Corporation กิจการท่าเรือของสิงคโปร์ (ในเครือ Temasek) ที่ทำรายได้มหาศาลแก่ สิงคโปร์ เน้นนวัตกรรม ได้แก่ (4.1) PSA Living Lab พื้นที่สำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในการพัฒนาแนวคิดและระบบทดสอบแบบบูรณาการในสภาพแวดล้อมจริงที่ท่าเรือ Pasir Panjang โครงการสำคัญคือระบบพาหนะนำทางอัตโนมัติ และ (4.2) โครงการ PSA unboXed incubator programme ภายใต้กองทุน UnboXed Corporate Venture Fund มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม บริจาคสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นให้คิดค้นนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในด้านเทคโนโลยีท่าเรือ โลจิสติกส์ การค้า และเทคโนโลยีทางการเงิน

ประเทศไทยกับโอกาสการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายยานยนต์ในภูมิภาค

สื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์ได้ลงบทความเรื่องศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายรถยนต์ในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) โดยให้ข้อมูลว่าประเทศไทยตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ที่ 30 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีนโยบายสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต EVs เช่น การยกเว้นภาษีเป็นเวลา 3 ปีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 8 ปีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)

ข้อได้เปรียบที่ภาคธนาคารและธุรกิจสิงคโปร์เห็นว่า ไทยมีศักยภาพและโอกาสในการเป็นศูนย์กลาง RDCs ด้าน EVs และยานยนต์ของภูมิภาค เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในที่ตั้งยุทธศาสตร์ใจกลางลุ่มแม่น้ำโขงโดยเป็นจุดเชื่อมต่อผู้ผลิตและตลาดของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดยาม) กับมณฑลตอนใต้ของ ประเทศจีน โดยประเทศไทยได้มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาสาธารณูปโภคในฐานะศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ที่เข้าถึงได้ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ จึงมีศักยภาพเป็น RDC ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับภูมิภาคอาเซียน

แหล่งที่มา: ST FILE

สถาบันวิจัย Pew Research Center ของสหรัฐฯ ระบุว่า มากกว่า 80 % ของครัวเรือนในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีรถจักรยานยนต์ในครอบครอง โดยนาย Liaw Thong Jung หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมัน ก๊าซ และยานยนต์ระดับภูมิภาคของ Maybank Kim Eng ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ตลาดอาเซียนกำลังปรับยานยนต์สองล้อ (2W) ให้เป็น EV มากขึ้น พร้อมด้วยแบตเตอรี่อัจฉริยะซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนและแบ่งปันได้  ดังนั้น 2W จะดึงดูดผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

อย่างไรก็ตาม EVs ยังเผชิญกับปัญหา 3 ประการ ได้แก่ 1) ตัวเลือกน้อย 2) ราคาสูง และ 3) สาธารณูปโภคที่ยังไม่ทั่วถึง แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในแบตเตอรี่และการเติมไฟฟ้าช่วยลดปัญหา 2 ประการแรก แต่รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน EVs ในฐานะผู้ให้บริการสาธารณูปโภคและการกำหนดนโยบายเป็นเป็นประโยชน์ และเมื่อความต้องการของผู้บริโภค EVs เพิ่มขึ้น บทบาทของประเทศไทยในฐานะ RDC ภาคยานยนต์จะแข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบัน สิงคโปร์มีท่าเรือสินค้า จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ (1) Tanjong Pagar (2) Keppel (3) Brani (4-5) Pasir Panjang อาคาร 1 และ 2 ทั้งนี้ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาท่าเรือ Tuas ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ อย่างเป็นทางการบนพื้นที่ทางตะวันตกของสิงคโปร์กว่า 13.39 ล้านตารางเมตร การจัดทำโครงการแบ่งเป็น 4 ระยะ ซึ่งโครงการระยะที่ 1 ขนาดพื้นที่ 4.14 ล้านตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 จากนั้น ในปี 2570 จะย้ายท่าเรือสินค้า 3 แห่งจาก 5 แห่งของสิงคโปร์ (Brani, Keppel, Tanjong Pagar) ไปยังท่าเรือ Tuas โครงการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2583 และสามารถรองรับการขนส่งสินค้ากว่า 65 ล้าน TEUs ต่อปี (เพิ่มขึ้นจากศักยภาพเดิมของท่าเรือสิงคโปร์ทุกแห่งรวมกันในปัจจุบันกว่า 2 เท่า)

ในขณะที่สิงคโปร์ใช้จุดเด่นด้านที่ตั้งคือ การเป็นเส้นทางเดินเรือและเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งเทคโนโลยีโลจิสติกส์ที่ทันสมัยมาช่วยส่งเสริมบทบาทนำในการเป็นศูนย์การกระจายสินค้าระดับภูมิภาค ประเทศไทยก็มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง โดยเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจุดเชื่อมในเชิงภูมิศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับมณฑลตอนใต้ของจีน ทั้งยังมีศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายยานยนต์เป็นลำดับต้นในภูมิภาค ไทยจึงสามารถใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวมาช่วยสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจาย EVs ของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการนำเข้ารถยนต์ของประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มลดการนำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปและเพิ่มการนำเข้า EVs มากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง