Singapore Maritime Week (SMW) 2021 ครั้งที่ 15

สิงคโปร์ได้จัดงาน Singapore Maritime Week (SMW) 2021 ครั้งที่ 15 โดยการท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนสิงคโปร์ และสถาบันการศึกษาและวิจัยหลายแห่ง ระหว่างวันที่ 19 – 23 เมษายน 2564 ณ Marina Bay Sands Expo & Convention โดยมีนาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ กล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงประกาศเปิดตัวการทดลองใช้แพลตฟอร์ม Just-In-Time (JIT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมเกี่ยวกับกฎข้อบังคับแบบครบวงจร (digitalPORT@SGTM ) ระยะที่ 2 โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการท่าเรือ ลดต้นทุนทางธุรกิจและย่นระยะเวลาจอดพักเรือที่ท่าเรือได้ถึง 1 วันหรือมากกว่านั้น บริษัทเดินเรือพาณิชย์ เช่น COSCO Shipping Lines (Singapore) CMA CGM Group Asia Pacific และ Maersk Group (Asia-Pacific region) จะทดลองใช้บริการแพลตฟอร์ม JIT ในไตรมาส 2/2564 และขยายบริการไปยังธุรกิจเรือบรรทุกน้ำมันและเชื้อเพลิงในช่วงปลายปี 2564

ที่มาภาพ : https://www.smw.sg

MPA อยู่ระหว่างการยกร่างแผนพิมพ์เขียวการลดคาร์บอนสำหรับกิจการทะเลปี 2593 (Maritime Singapore Decarbonisation Blueprint 2050) ซึ่งจะกำหนดยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางเรือของสิงคโปร์และระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มปรึกษาหารือ (consultation exercise) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลา 2 เดือน และเน้นหัวข้อสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) ภาพรวมการท่าเรือ 2) การท่าเรือในประเทศ 3) มาตรฐานเรือเติมน้ำมันเชื้อเพลิง (bunkering) ในอนาคต 4) ทะเบียนเรือของสิงคโปร์ (SRS) 5) ความร่วมมือกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) 6) การสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของก๊าซคาร์บอน และ 7) การวิจัยและพัฒนาด้านการลดก๊าซคาร์บอนในกิจการทะเล

ทั้งนี้ บริษัท PSA International (PSA) จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดเวลาของการรอเทียบท่าของเรือสินค้า โดยการลดระยะเวลารอเทียบท่า 1 วัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 45 ตัน ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแห่งใหม่ในเขต Tuas จะเป็นท่าเรือระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงครึ่งเดียวของท่าเรือปัจจุบันในสิงคโปร์

นอกจากนี้ MPA ได้ลงนาม MOU กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการเดินเรือ (BW Group/ Sembcorp Marine/Eastern Pacific Shipping/Ocean Network Express/Foundation Det Norske Veritas/BHP) จัดตั้งกองทุน จำนวน 120 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับศูนย์การลดการใช้ก๊าซคาร์บอนในกิจการทะเลในสิงคโปร์ โดย MPA จะให้ทุนจำนวน 60 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ร่วมกับภาคเอกชนซึ่งจะร่วมลงทุน รายละ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ คณะที่ปรึกษาต่างประเทศ (International Advisory Panel – IAP) ยังได้เสนอให้จัดตั้งศูนย์การลดการใช้ก๊าซคาร์บอนในกิจการทะเล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ IMO ที่จะลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2593 เทียบกับระดับก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2551 โดยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลปล่อยก๊าซคาร์บอน 1,135 ล้านตันหรือคิดเป็น 3.5% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนทั่วโลก

นอกจากการตั้งศูนย์การลดก๊าซคาร์บอนแล้ว IAP ยังเสนอแนวปฏิบัติ อีก 8 ประการ ได้แก่ 1) การกำหนดตัวชี้วัดสำหรับความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน 2) กำหนดมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีและ แนวปฏิบัติใหม่ 3) การทดลองนำร่องและภาคปฏิบัติ 4) การพัฒนาขีดความสามารถของเรือและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง 5) การเงินสีเขียว 6) การพัฒนากลไกการกำหนดราคาคาร์บอน 7) การทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเงินทุนวิจัยและพัฒนา และเงินทุนสนับสนุน และ 8) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และโลก

กิจกรรมสำคัญใน SMW 2021

1) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 นาย Chee Hong Tat รัฐมนตรีอาวุโสประจำกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์แถลงในงานสัมมนาเทคโนโลยีทางทะเลของสิงคโปร์ (SMTC) ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของงาน SMW 2021 เรื่องนโยบายเงินสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางทะเลในสิงคโปร์เพื่อผลักดันให้มีโครงการริเริ่มด้านดิจิทัลมาในอุตสาหกรรม อาทิ ใบตราส่งสินค้าทางเรืออิเล็กทรอนิกส์ (bills of lading – eBL) และ บันทึกการส่งมอบเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ (eBDN) โดยเงินสนับสนุนจะถูกจัดสรรจากกองทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางทะเล (Maritime Innovation and Technology Fund – Mint) ที่มีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการดำเนินการโครงการนำร่อง หรือมีแผนขยายโครงการสามารถสมัครขอเงินสนับสนุนจำนวนสูงสุดที่ 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

2) MPA มีแผนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มเติม ได้แก่ 1) การพัฒนา digital technology marketplace: พื้นที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทร่วมลงทุน (venture capital) กับธุรกิจสตาร์ทอัพ และ 2) start-up playbook: คู่มือสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยากลงทุนในสิงคโปร์ โดยอ้างอิงนโยบายและโครงการเพิ่มขีดความสามารถ เงินทุน และทรัพยากรวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการเดินเรือและกิจการทางทะเล

3) MPA เปิดตัวแผนดิจิทัลภิวัฒน์ของภาคการเดินเรือ bunkering เพื่ออำนวยความสะดวก การประสานงานระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐฯ และระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง ประกอบด้วย 1) การพัฒนา digitalBunker@SG ระบบส่งข้อมูลอัตโนมัติสำหรับธุรกิจ bunkering ซึ่งจำเป็นต้องรายงานตามกฎข้อบังคับของ MPA โดยคาดว่าแผนการดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ประมาณ 1,400 วัน (man-days) ต่อปี และ 2) การเปิดรับข้อเสนอเรื่องระบบประสานความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยปรับปรุงกระบวนการและใบส่งสินค้าให้เป็นระบบดิจิทัลแบบครบวงจร (end-to-end) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทานภาค bunkering

4) MPA เปิดตัวศูนย์ Maritime Drone Estate (MDE) แห่งแรกของสิงคโปร์ [ตามแผน Sea Transport Industry Transformation Map (ITM) ปี ค.ศ. 2018] บริเวณท่าเรือ Marina South Pier ทางตอนใต้ของสิงคโปร์ใกล้กับจุดจอดเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (drone) เพื่อการเดินเรือ อาทิ การเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากชายฝั่งสู่เรือ (shore-to-ship) และ การตรวจสอบเรือระยะไกล โดยปัจจุบันมีบริษัท 9 แห่ง ได้เริ่มทดลองที่ศูนย์ MDE เช่น Airbus M1 Foodpanda และ ST Engineering เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ Infocomm Media Development Authority (IMDA) ได้ดำเนินการทดลองเครือข่าย 5G เพื่อให้ drone ปฏิบัติงานทางทะเลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

5) MPA ได้จัดการลงนาม MOU ด้านความร่วมมือทางทะเลกับต่างประเทศหลายฉบับภายในงาน SMW 2021 โดยมีนาง Quah Ley Hoon ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MPA เป็นผู้ลงนามฝ่ายสิงคโปร์ ได้แก่

  • MOU ความร่วมมือด้านระบบนิเวศทางทะเลของสิงคโปร์ – ฝรั่งเศส ครอบคลุมไปจนถึงดิจิทัลภิวัฒน์ ความยั่งยืน การฝึกอบรม และนวัตกรรมทางทะเล โดยมีนาย Marc Abensour เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสิงคโปร์ร่วมลงนาม
  • MOU ว่าด้วยการสนับสนุนให้สถาบันวิจัยทางทะเลสิงคโปร์ – สำนักงานการวิจัยแห่งนอร์เวย์ (Research Council of Norway – RCN) วาระที่ 8 (8th term) ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความร่วมมือทางทะเลระหว่างกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลและร่วมกันจัดงานสัมมนา International Maritime-Port Technology and Development Conference (MTEC) ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีของเรือและท่าเรือ (จัดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ณ เมือง Trondheim นอร์เวย์) โดยมีนาย Per Christer Lund ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมของนอร์เวย์ (Innovation Norway) ร่วมลงนาม และมี นาง H.E. Anita Nergaard เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำสิงคโปร์เป็นสักขีพยาน 
  • MOU ระหว่าง MPA กับ บริษัท PSA International (ฉบับที่ 4) เพื่อส่งเสริมโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีท่าเรือ รวมถึงระบบอัตโนมัติในการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพท่าเรือขั้นสูงและเทคโนโลยีท่าเรือสีเขียวสำหรับท่าเรือในสิงคโปร์ รวมถึงโครงการท่าเรือแห่งใหม่ในเขต Tuas โดยนาย Ong Kim Pong ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ PSA International ร่วมลงนาม

ข้อมูลเพิ่มเติม               

เมื่อเดือนมกราคม 2564 MPA และ หน่วยงาน IMDA ของสิงคโปร์ ร่วมกับการท่าเรือแห่งรอตเทอร์ดาม (Port of Rotterdam Authority) เนเธอร์แลนด์ ได้ทดลองใช้ eBL กับการขนส่งทางทะเลจากเมืองกวีเญิน เวียดนาม – เมืองรอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ เป็นผลสำเร็จ โดยแวะขนถ่ายสินค้า (transshipment) ที่สิงคโปร์ ทั้ง 2 ฝ่ายใช้แพลตฟอร์มต่างกัน (#dltledgers สิงคโปร์ และ NaviPorta เนเธอร์แลนด์) ในการตรวจสอบและประมวลผล eBL ที่มีมาตรฐานร่วมกัน ทั้งนี้ การใช้ eBL ช่วยประหยัดเวลาดำเนินการเอกสารจากปกติ 6 – 10 วัน เหลือเพียงน้อยกว่า 1 วัน 

ผลการประเมินจากสมาคม Digital Container Shipping Association (DCSA) องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 ประเมินว่าหากบริษัทสายเรือขนาดใหญ่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสายเรือทั้งหมดทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้ eBL ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (ประมาณ 5.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เรือ bunkering “CMA CGM Scandola” บรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas – LNG) ปริมาณ 7,100 ลูกบาศก์เมตรได้เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกในสิงคโปร์ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง MPA กับภาคเอกชนสายเรือ CMA CGM และบริษัทผลิตเชื้อเพลิง FueLNG (joint venture ระหว่าง Keppel Offshore Marine Ltd กับShell Eastern Petroleum Pte Ltd) เพื่อผลักดันนโยบายการลดก๊าซคาร์บอน  ในกิจการทางทะเล


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง