สภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในสิงคโปร์ดีขึ้น 2 ปีติดต่อกัน แต่ยังคงเผชิญความท้าทายเรื่องแรงงานและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปี 2566

สภาพแวดล้อมและความสะดวกของการทำธุรกิจในสิงคโปร์ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สองในช่วงหลังโควิด-19 (post-Covid-19) จากผลสำรวจภาคธุรกิจแห่งชาติ ครั้งที่ 151 (National Business Survey 2022/ 2023) เมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยนักธุรกิจจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งในสิงคโปร์มีความพึงพอใจ แต่จะดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมมากขึ้นในปี 2566 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง

ผลสำรวจความเห็นของภาคธุรกิจในสิงคโปร์ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566

บริษัทกว่า 80% มั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวและบริหารธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่นตลอดปี 2566 แม้ว่าจะมีบริษัทที่คาดว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโตดีขึ้นในปี 2566 เพียง 40% โดย 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัว บริษัทเกือบทั้งหมดเห็นพ้องว่า จะเกิดภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่องไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแรงงานและต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงค่าจ้างที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ครึ่งหนึ่งของบริษัททั้งหมดเห็นว่า การรักษาและการดึงดูดลูกจ้างอายุน้อยให้อยู่กับบริษัท รวมทั้งปัญหาค่าจ้างแรงงานต่างชาติที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และข้อกำหนดที่เข้มงวดในการจ้างแรงงานต่างชาติจะเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจในสิงคโปร์ในปี 2566 ทั้งนี้ บริษัทมองว่า ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่สูงที่สุดในการทำธุรกิจในสิงคโปร์ 5 อันดับแรก ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน (79%) ค่าโลจิสติกส์ (52%) ค่าดำเนินการ cost pass-through (48%) ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหา (48%) และค่าสาธารณูปโภค (45%) 

ด้วยภาวะเงินเฟ้อในภาคแรงงาน บริษัทกว่า 400 แห่ง จึงยังมีความจำเป็นจะต้องขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงานในปีนี้ เพื่อดึงดูดพนักงานหัวกะทิไว้กับบริษัท รวมทั้งวางแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้พนักงาน กลยุทธ์ที่นิยมมากที่สุดในการจัดการกับเงินเฟ้อ 3 อันดับแรก คือ การประหยัดค่าใช้จ่าย การขึ้นราคาสินค้าและบริการ และการเจรจาต่อรองระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้ากับซัพพลายเออร์และลูกค้า ทั้งนี้ ธุรกิจต่าง ๆ หวังว่า แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 (Budget 2023)2 ของรัฐบาลจะให้การอุดหนุนด้านค่าใช้จ่าย การจัดหาแรงงาน และสนับสนุนด้านการบริหารกระแสเงินสดแก่ภาคธุรกิจเป็นหลัก

ภาคเอกชนเดินหน้าปฏิรูปธุรกิจเพื่อการเติบโต

ภาคเอกชนในสิงคโปร์ยังคงเดินหน้าปฏิรูปธุรกิจ (business transformation) เพื่อการเติบโต ทั้งผ่านกระบวนการการดำเนินการการบริการลูกค้า และการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการ และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนถ่ายสู่ธุรกิจดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างประสิทธิผลสูงสุด (optimizing) โดย 3 ใน 4 ของบริษัททั้งหมด ยังได้เริ่มนำหลักการการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance – ESG) มาใช้กับการดำเนินงานของบริษัทแล้วอย่างน้อยหนึ่งทาง รวมทั้งด้านความยั่งยืนและการลดความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน

สภาพแวดล้อมที่ดีทำให้การจดทะเบียนบริษัทเพิ่มขึ้น

เมื่อเดือนธันวาคม 2565 จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมและดูแลการจัดตั้งธุรกิจในสิงคโปร์ หรือ Accounting and Corporate Regulatory Authority (ACRA) มีจำนวนทั้งหมด 568,971 ธุรกิจ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 555,090 ธุรกิจ โดยเป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2565 จำนวน 64,304 ธุรกิจและธุรกิจที่ปิดกิจการจำนวน 50,423 ธุรกิจ ซึ่งแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์นี้ค่อนข้างคงที่มาตั้งแต่ปี 2558

ทั้งนี้ ภาคการเงินมีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่มากที่สุดในปี 2565 จำนวน 8,307 กิจการ ในขณะที่กิจการปิดตัวไปจำนวน 3,380 กิจการ ส่วนการจัดตั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology – ICT) เพิ่มขึ้น 70% สูงเป็นอันดับ 2 จำนวน 9,056 บริษัท (ปิดกิจการไปจำนวน 5,272 บริษัท) ประกอบด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud computing) และธุรกิจด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็น

นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร CIMB สิงคโปร์ เห็นว่า จำนวนการจัดตั้งธุรกิจในสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีเยี่ยมและความมีชื่อเสียงของสิงคโปร์ ที่ดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามาลงทุน แม้ว่าจะค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและดำเนินการจะค่อนข้างสูงก็ตาม ส่วนการปิดกิจการนั้น เป็นเรื่องของวัฏจักรของการทำธุรกิจ โดยเห็นได้ชัดจากกรณีของธุรกิจด้านดิจิทัล ที่มีโอกาสและการเติบโตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แต่ก็แลกกับการแข่งขันที่เข้มข้นในปัจจุบัน

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร OCBC เห็นว่า จำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เป็นผลจากการที่คนจำนวนมากหันมาเปิดกิจการขนาดเล็กของตัวเอง โดยคาดว่าจำนวนจะคงที่ขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ ธุรกิจภาคการเงินและ ICT จะยังมีแนวโน้มที่ดีในปี 2566 เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์ดิจิทัลระดับประเทศของสิงคโปร์ ความต้องการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการแก้ไขจัดการระบบคลาวด์ สำหรับภาคการเงิน การขับเคลื่อนหลักมาจากการไหลเข้าของคนมีฐานะและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนกิจการฟินเทคและระบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) รวมทั้งการให้ความสำคัญกับหลักการ ESG ในการทำธุรกิจในปัจจุบัน


1 การสำรวจภาคธุรกิจแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เป็นหนึ่งในโครงการของสหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation’s – SBF) ซึ่งสำรวจบริษัทสิงคโปร์จำนวน 931 บริษัท (บริษัท SMEs 73% และบริษัทขนาดใหญ่ 27%) ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 23 พฤศจิกายน 2565 ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจที่สำคัญของสิงคโปร์

2 Budget 2023 คือแผนงบประมาณประจำปี 2566 ของสิงคโปร์ โดยจะประกาศในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง