ONE Pass บัตรอนุญาตทำงานใหม่ของสิงคโปร์เสริมศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

การแข่งขันกันดึงดูดหัวกะทิหรือผู้มีศักยภาพทั่วโลกยังคงเข้มข้นในปีที่ผ่านมา หลายประเทศจัดทำโครงการวีซ่าสำหรับแรงงานศักยภาพสูงโดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการพำนักระยะยาว สำหรับสิงคโปร์เอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จะเริ่มการออกบัตรอนุญาตทำงานแบบใหม่ หรือ Overseas Networks and Expertise (ONE) Pass สำหรับผู้มีความสามารถระดับสูงในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเสมือนวีซ่าทำงานอายุ 5 ปี โดยผู้ถือบัตรจะสามารถทำงานให้กับบริษัทหลายแห่งในสิงคโปร์ในเวลาเดียวกันได้ด้วย เงื่อนไขคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ผู้สมัครจะต้องมีรายได้อย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน หรือมีความสามารถโดดเด่นในด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ วิชาการ ศิลปะหรือกีฬา เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้สิงคโปร์
ในฐานะศูนย์กลางแรงงานหัวกะทิระดับโลก

นาง Jacqueline Poh ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Nikkei Asia ว่า นับตั้งแต่ที่สิงคโปร์ประกาศโครงการ ONE Pass เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยที่สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน (เป็นชาวต่างชาติกว่า 1.5 ล้านคน) จึงต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โครงการ ONE Pass จะช่วยให้สิงคโปร์พัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) การดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจต่างชาติ บุคลากรที่มีความสามารถและทักษะสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บริษัทต่าง ๆ จะตัดสินใจเลือกมาลงทุนในสิงคโปร์ 2) การเติมเต็มและพัฒนาความสามารถของบุคลากรในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในด้านที่ขาดแคลน เช่น นักวิทยาศาสตร์ AI บุคคลที่มีทักษะสูงด้านวิชาการ เทคโนโลยี รวมทั้งด้านศิลปะและบันเทิง และ 3) การเสริมสร้างระบบนิเวศในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในประเทศ โดยจะเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

แหล่งที่มา: EDB (https://www.edb.gov.sg/)

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศ/ เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาคก็ต้องการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และได้ประกาศโครงการที่คล้ายกัน เช่น 1) ไทย ประกาศตรวจลงตราประเภทใหม่ คือ Long–term Resident Visa (LTR Visa) ที่มีอายุถึง 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ซึ่งดึงดูดหัวกะทิจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และจีน 2) ฮ่องกง ประกาศตรวจลงตราที่มีอายุ 2 ปี สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อปี (ประมาณ 320,000 ดอลลาร์สิงคโปร์) และสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ EDB เห็นว่า ความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันของหลาย ๆ ประเทศ/ เขตเศรษฐกิจ เป็นการตอกย้ำความสำคัญของกลยุทธ์การดึงดูดหัวกะทิสู่สิงคโปร์อย่างทันท่วงที และมองว่าปัจจัยบวกต่าง ๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานและการใช้ชีวิตในสิงคโปร์ ทั้งระบบการศึกษาไปจนถึงความปลอดภัย เป็นข้อได้เปรียบของสิงคโปร์ในการดึงดูดผู้มีความสามารถระดับภูมิภาค

การลงทุนจากต่างประเทศในสิงคโปร์ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566

EDB ได้เผยแพร่ข้อมูลการลงทุนจากต่างปรเทศในสิงคโปร์ว่า ปี 2565 สิงคโปร์สามารถดึงดูดเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investments – FAI) มูลค่า 22,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในภาคอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคิดเป็นสองในสามของ FAI นอกจากนี้ ตัวเลขค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและการสร้างงานอยู่ในเกณฑ์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายระยะกลาง-ยาวไว้ สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า 1) เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่ให้โอกาสในการเติบโต 2) สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่เชื่อถือได้ในด้านเงินทุน บุคลากร การไหลเวียนของสินค้าและข้อมูล และ 3) ความสามารถด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลก

สำหรับปี 2566 EDB มองว่าสิงคโปร์จะมีความท้าทายมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะชะลอตัวลงเหลือ 0.5% – 2.5% อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์จะมุ่งความสำคัญไปที่อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียวในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ฟินเทค เมืองอัจฉริยะ การเงินสีเขียว และเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ถึงแม้ที่ผ่านมาวิสาหกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีต้องเผชิญกับความผันผวน แต่ EDB ยังมองว่าภาคเทคโนโลยีในสิงคโปร์จะยังคงแข็งแกร่งและฟื้นตัวได้ดีพอสมควร       

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

การแข่งขันเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักรได้ประกาศตรวจลงตราประเภทใหม่ช่วงต้นปี 2565 สำหรับบุคคลที่มีศักยภาพสูง (High Potential Individual visa) ซึ่งช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสามารถพำนักอาศัยในประเทศได้ก่อนที่จะเริ่มทำงาน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่า บุคลากรที่มีทักษะสูงจำนวนมากพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทำให้บุคลากรชาวจีนที่มีความสามารถบางส่วนอาจตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศที่มีความพร้อมในเอเชีย อาทิ ไทยและสิงคโปร์ ซึ่งการดึงดูดหัวกะทิจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคเอเชียด้วย

สำหรับประเทศไทย ซึ่งประกาศวีซ่าประเทศคนอยู่ระยะยาว (Long-term Resident Visa – LTR Visa) เพื่อดึงดูดแรงงานฝีมือหรือหัวกะทิจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น สาธารณสุข วิทยาการหุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า และการท่องเที่ยว รวมทั้งกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศที่มั่งคั่ง (Wealthy Pensioners) และกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand Professionals) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีจะมีชาวต่างชาติขอให้สิทธิ LTR Visa ประมาณ 1 ล้านคน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง