ธนาคารกลางสิงคโปร์จัดทำพันธบัตร Singapore Sovereign Green Bond

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้ประกาศการออกพันธบัตรสีเขียว (sovereign green bond) โดยใช้ชื่อว่า “Green Singapore Government Securities (Infrastructure)” [Green SGS (Infra)] เป็นครั้งแรกของสิงคโปร์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

Green SGS (Infra)

พันธบัตรสีเขียวที่ประกาศขายครั้งแรกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพันธบัตรรัฐบาล ที่มีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะทยอยจำหน่ายพันธบัตรตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2573 โดยรายได้จาก Green SGS (Infra) ในช่วงแรกจะนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการเพื่อความยั่งยืนตาม แผน Singapore Green Plan 2030 (SGP 2030) ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าสิงคโปร์ สาย Jurong Region Line และ Cross Island Line ที่สนับสนุนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนตามแผน SGP 2030 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟใต้ดินและรถประจำทาง ให้ได้ร้อยละ 75 ของการสัญจรทางบกในสิงคโปร์ทั้งหมด โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลสิงคโปร์บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งทางบกให้ได้ร้อยละ 80 ภายในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 21 (หรือประมาณปี 2593) จากจุดสูงสุดที่มีการปล่อยมลพิษในปี 2559

รถไฟฟ้าสิงคโปร์สาย Jurong Region Line
แหล่งที่มา: LTA (https://www.lta.gov.sg/content/ltagov/en/upcoming_projects/rail_expansion/jurong_region_line.html)
เส้นทางเชื่อมต่อข้ามเกาะของรถไฟฟ้าสิงคโปร์สาย Cross Island Line
แหล่งที่มา: LTA (https://www.lta.gov.sg/content/ltagov/en/upcoming_projects/rail_expansion/cross_island_line.html)

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 MAS ได้ประกาศการออกขายพันธบัตรสีเขียวเป็นครั้งแรก มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.04 ต่อปี โดยพันธบัตรนี้มีอายุ 50 ปี (the“Aug-72 bond”) แบ่งการจำหน่ายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง จำนวน 2,350 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และส่วนที่เหลืออีก 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จะจำหน่ายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งสามารถยื่นขอซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 5 – 10 สิงหาคม 2565

นักลงทุนที่สนใจสามารถทำธุรกรรมได้ที่ธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ ได้แก่ ธนาคาร DBS ธนาคาร Deutsche Bank AG สาขาสิงคโปร์ (DB) ธนาคาร HSBC สาขาสิงคโปร์ ธนาคาร OCBC และธนาคาร Standard Chartered ทั้งนี้ การแต่งตั้งกลุ่มธนาคารที่เรียกว่า bookrunners หรือผู้จัดการการจัดจำหน่าย ที่ร่วมกันทำการตลาดและจำหน่ายพันธบัตรนี้ เป็นวิธีใหม่ในการออกพันธบัตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลในการออกพันธบัตรในตลาดที่มีความหลากหลาย

กรอบโครงสร้างพันธบัตรสีเขียวของสิงคโปร์ (Singapore Green Bond Framework)

พันธบัตร Green SGS (Infra) จัดทำขึ้นภายใต้ Singapore Green Bond Framework ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) วัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการใช้พันธบัตรสีเขียว (2) การกำกับดูแลเพื่อเลือกโครงการที่มีสิทธิ์ (3) วิธีดำเนินการเพื่อบริหารเงินจากพันธบัตรสีเขียว และ (4) การรายงานการจัดสรรประจำปีและผลกระทบ

เงินทุนที่ได้รับจากการออกพันธบัตรสีเขียวนี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงคโปร์ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN ทั้งนี้ ประเภทของโครงการสีเขียวที่รัฐบาลสิงคโปร์ น่าจะลงทุน ได้แก่ 1) พลังงานหมุนเวียน 2) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) อาคารสีเขียว 4) การขนส่งสีเขียว 5) การจัดการน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียอย่างยั่งยืน 6) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และเศรษฐกิจหมุนเวียน 7) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นาย Leong Sing Chiong รองผู้ว่าการ MAS (ฝ่ายการตลาดและการพัฒนา) มองว่า ความสำเร็จในการเริ่มโครงการพันธบัตรสีเขียวครั้งแรกของสิงคโปร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางสู่ความยั่งยืน เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นในแผนของ รัฐบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนทางการเงินและด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การขยายผลตอบแทนเป็น 50 ปีจะช่วยพัฒนาตลาดพันธบัตร ดอลลาร์สิงคโปร์ และสนับสนุนการออกหุ้นกู้ที่มีอายุยืนยาวขึ้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมพิธีลั่นระฆังออนไลน์ (Virtual Bell Ringing Ceremony) ในโอกาสที่พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก Luxembourg Green Exchange (LGX) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับตราสารเพื่อความอย่างยั่งยืน (Sustainable Securities) ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนพันธบัตรสีเขียวที่มีการออกในโลกมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นทะเบียนอยู่ การจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX เป็นการนำตราสารไปขึ้นทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสาร โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs ของ UN และการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก และโครงการที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยได้เริ่มออกหุ้นกู้สีเขียว เช่น (1) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) ได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 4 ชุด เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มูลค่า 10,200 ล้านบาท โดยนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานสะอาด และลดการใช้รถยนต์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีผู้ลงทุนให้ความสนใจมากกว่ามูลค่าที่เสนอขายถึง 2 เท่า และ (2) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ได้ออกหุ้นกู้สีเขียว จำนวน 3 ชุด เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มูลค่า 5,000 ล้านบาท เงินที่ได้นำไปใช้ในโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste-to-Energy) ซึ่งมีผู้ลงทุนให้ความสนใจมากกว่ามูลค่าที่เสนอขายถึง 6 เท่า


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง