สิงคโปร์จับกระแส “ChatGPT” ทดลองใช้ในงานราชการและในภาคการศึกษา

เป็นที่ฮือฮาไปทั่ววงการ AI ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เมื่อแชทบอทตัวใหม่ล่าสุด “ChatGPT” แสดงความเก่งกาจในการประมวลข้อมูลที่ซับซ้อนเป็นชุดคำตอบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เช่น การขอให้เขียนบทความทั้งชิ้นหรือการสรุปข้อมูลยาก ๆ โดยสามารถคิดเสร็จได้ในเวลาสั้น ๆ ที่สำคัญ ChatGPT สื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนนั่งคุยอยู่กับมนุษย์จริง ๆ เลยทีเดียว กระแส ChatGPT จึงกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก แม้แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็สนใจและกำลังวางแผนนำมาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและภาคการศึกษา

พนักงานภาครัฐของสิงคโปร์กว่า 90,000 คน จะเริ่มใช้ ChatGPT เร็ว ๆ นี้

อีกไม่เกิน 2 เดือน เจ้าหน้าที่ภาครัฐของสิงคโปร์มากถึง 90,000 คน จะได้ใช้ประโยชน์จาก ChatGPT โดยทีมงาน “Pair” ภายใต้ Open Government Products (OGP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เป็นสินค้าและบริการสาธารณะ ได้นำ ChatGPT มาพัฒนาร่วมกับโปรแกรม Microsoft Word เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะเริ่มใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มจากสำนักงานชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัล (Smart Nation and Digital Government Office – SNDGO) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นที่แรก

บริการของ Pair จะเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าและสรุปสาระสำคัญของข้อมูลจำนวนมาก ๆ อีกทั้งยังสามารถร่างรายงานหัวข้อเชิงนโยบาย รวมทั้งสร้างตัวอย่างและช่วยเขียนอีเมลและยกร่างสุนทรพจน์ได้อย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งจะช่วยให้พนักงานของรัฐมีเวลามากขึ้นในการไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า นอกจากนี้ Pair ยังถูกพัฒนาให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อป้องกันข้อมูลสำคัญรั่วไหล โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงนามข้อตกลงการป้องกันข้อมูลของรัฐรั่วไหลกับ Microsoft อีกด้วย

ระบบ Pair ที่เป็นการนำ ChatGPT มาพัฒนาร่วมกับโปรแกรม Microsoft Word
แหล่งที่มา: Open Government Products (https://govinsider.asia/intl-en/article/Highlights-from-Open-Government-Products-Hack-for-public-good-2023)

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ “ไม่แบน” การใช้ ChatGPT

ความสามารถของ ChatGPT สร้างความกังวลต่อแวดวงการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาการคัดลอกผลงาน (plagiarism) และการใช้เพื่อโกงข้อสอบ ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลกเริ่มแบนการใช้ ChatGPT แล้ว เช่น มหาวิทยาลัย Sciences Po ที่มีชื่อเสียงด้านรัฐศาสตร์ของฝรั่งเศส และโรงเรียนในสังกัดของออสเตรเลีย ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์เห็นว่า ChatGPT นั้น สามารถเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับภาคการศึกษาขั้นสูง และโปรแกรมแบบ ChatGPT ยังมีแนวโน้มที่จะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิงคโปร์จึงจะไม่ปิดกั้นการใช้งานในภาคการศึกษา แต่จะต้องให้แนวทางการใช้งานที่ถูกต้องแก่ครูและอาจารย์ รวมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างถูกวิธี ควบคู่กันไปกับการใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ผลลัพธ์จากเครื่องมือ AI ต่าง ๆ โดยหลักสูตรของสิงคโปร์จะสอนให้นักเรียนมีทักษะการใช้ AI อย่างรับผิดชอบเป็นสำคัญ

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังเห็นว่า AI จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้เข้าใจและฝึกฝนทักษะต่าง ๆ จนชำนาญเสียก่อน การศึกษายังต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ การสังเกต และการนำเสนอ อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ทักษะการเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่สามารถใช้ AI สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นมาได้โดยง่าย  ทั้งนี้ สิงคโปร์จะมุ่งพัฒนากลวิธีและเทคโนโลยีในการตรวจสอบการโกงและผลงานที่คัดลอกข้อมูลจาก AI ที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

ChatGPT ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ OpenAI ด้วยเงินสนันสนุนจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัท Microsoft ที่หลังเปิดตัวเพียง 5 วัน ก็มีผู้ใช้งานมากถึง 1 ล้านคน และคาดว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ จนหลายภาคส่วนคาดการณ์ว่า ChatGPT อาจจะเข้ามาแทนที่ search engine ระดับโลกอย่าง Google ก็เป็นได้ ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่น ๆ ต่างเร่งพัฒนาแชทบอทอัจฉริยะคล้าย ChatGPT อย่างแข็งขัน เช่น Google เองก็กำลังพัฒนาแชทบอท Bard และบริษัท SnapChat ก็เปิดตัวแชทบอท MY AI ขณะที่บริษัท Baidu ของจีนอยู่ระหว่างการพัฒนาแชทบอท Ernie Bot

ความกังวลของสังคมที่ ChatGPT จะเข้ามาแทนที่สาขาอาชีพบางสายงานนั้น ก็คงไม่เกินจริงนัก เช่น งานแปล การเขียนบทความ การสร้างคอนเทนต์การตลาด และงานบริการลูกค้าอย่างง่าย ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการให้คำแนะนำด้านกฎหมายเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นถึงกลาง งานเหล่านี้ก็ยังต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะขั้นสูงในการทำงานอยู่ ผลกระทบจึงน่าจะเป็นเรื่องวิธีการทำงานที่จะต้องปรับตัวกันต่อไป

ข้อเสนอแนะ

การทดแทนแรงงานคนด้วยเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่เน้นการใช้ระบบดิจิทัล การใช้หุ่นยนต์ และผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตามแผนวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (RIE) และยุทธศาสตร์ชาติอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัลของสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เร่งเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลสิงคโปร์จะเปิดรับ ChatGPT ในช่วงที่ ChatGPT ยังไม่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์และอาชญากรรมออนไลน์เช่นนี้

เมื่อแชทบอทเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้เก่งมากขึ้นเท่าใด ภาคธุรกิจก็จะหันมาเริ่มใช้ ChatGPT เพื่อช่วยเขียนสื่อโฆษณาประชาสมพันธ์ ค้นคว้าข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและการตลาด ผู้ประกอบการที่สนใจจึงอาจเริ่มพิจารณาศึกษาผลงานที่ ChatGPT สามารถทำได้ดีก่อน และค่อย ๆ นำมาปรับใช้ ซึ่งน่าจะสามารถช่วยลดต้นทุน อาทิ ค่าที่ปรึกษา หรือการขาดแคลนแรงงานที่เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี ChatGPT ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การพัฒนาสแกม การล้วงข้อมูลส่วนตัวและความลับขององค์กร หรือการใช้งานอย่างขาดความรับผิดชอบจะก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ดังนั้น การวางกฎเกณฑ์การใช้งานเพื่อความเหมาะสมในแต่ละสาขาอาชีพ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการใช้งานที่ผิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชนและบุคลากรของชาติให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างสูงสุด ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มคุณค่าให้กับงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถทำได้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง