ที่ผ่านมา นโยบายการส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 1/2564 ได้แก่ การจัดทำช่องทางพิเศษ ทั้ง Reciprocal Green Lane (RGL) สำหรับการเดินทางเชิงธุรกิจและราชการที่จำเป็น และมีแผนเริ่มใช้ช่องทางพิเศษ Air Travel Bubble (ATB) ทวิภาคีสำหรับการเดินทางทั่วไป และส่งเสริมความร่วมมือการรับรองเอกสารวัคซีนโควิด-19 (Mutual Recognition of Vaccination Certificate – MRVC) กับหลายประเทศรวมทั้งไทย และส่งเสริมการใช้งานระบบ Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศ รปท. (IATA) สำหรับไตรมาสที่ 2 – 3/2564 นโยบายส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีความคืบหน้า ดังนี้

เนื่องจากสิงคโปร์เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา รัฐบาลสิงคโปร์จึงประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ [Phase 2 Heightened Alert – P2(HA)] ในไตรมาสที่ 2/2564 และเพิ่มความเข้มงวดในการเดินทางเข้าประเทศ โดยในช่วงวันที่ 8 พฤษภาคม – 24 มิถุนายน 2564 ผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง (รวมถึงไทย) ต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 21 วัน รวมถึงการเพิ่มความรัดกุมในการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานชางงี

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ผลักดันเรื่องมาตรการเปิดประเทศ และการส่งเสริมการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2564 เท่าใดนัก โดยได้เลื่อนการมีผลบังคับใช้ของความตกลง ATB สิงคโปร์ – ฮ่องกงออกไปอย่างไม่มีกำหนด ความคืบหน้าที่สำคัญในด้านนี้อยู่ในกรอบอาเซียน คือ ความตกลง ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework (ATCAF) และความตกลง ASEAN – EU Comprehensive Air Transport Agreement (AECATA)  

การเร่งฉีดวัคซีนภายในประเทศ นำไปสู่การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศแบบเป็นขั้นเป็นตอนและระมัดระวัง                    

ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2564 สิงคโปร์มีอัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและต่อเนื่อง โดยกระจายการฉีดวัคซีนแก่ประชากรในสิงคโปร์ ทั้งคนชาติและคนต่างชาติในทุกช่วงอายุ (มากกว่า 12 ปี) ทำให้จนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2564) รัฐบาลสิงคโปร์ให้ข้อมูลว่าประชากรสิงคโปร์มากกว่าร้อยละ 75 ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) ได้ประกาศนโยบายการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างเป็นขั้นตอน ได้แก่ (1) การเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว (Vaccinated Travel Lane – VTL) โดยเป็นความตกลงทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์ – เยอรมนี และสิงคโปร์ – บรูไน ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2564 และน่าจะขยายผลไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำอื่น ๆ และ (2) ยกเว้นการกักตัวแก่ผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ (unilateral lift)

มาตรการเปิดประเทศแบบ Risk-managed Approach ล่าสุดของสิงคโปร์ สะท้อนว่าสิงคโปร์จะระงับการดำเนินความตกลง RGL และ ATB กับประเทศและดินแดนต่างๆ แต่จะเริ่มใช้ความตกลง Vaccinated Travel Lanes (VTL) และมาตรการยกเว้นการกักตัวแก่กลุ่มประเทศและดินแดนที่มีความเสี่ยงต่ำแทน เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนที่สิงคโปร์รับรอง โดยตั้งเป้าหมายว่าการเปิดการเดินทางเข้าประเทศจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ภาคบริการ อาหารและเครื่องดื่ม และการคมนาคมภายในประเทศ ซึ่งยังคงไม่ฟื้นตัวดังเช่นอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ภาคการผลิต ในปีนี้ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจและนักลงทุนสามารถเดินทางมาเจรจาทางธุรกิจในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบรรษัทข้ามชาติจำนวนมาก

ความตกลงช่องทางผู้ได้รับวัคซีนแล้ว (VTL) ระหว่างสิงคโปร์กับเยอรมนี และบรูไน   

ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ผู้เดินทางจากเยอรมนีและบรูไนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วสามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยจะต้องตรวจ PCR Swab Test จำนวน 4 ครั้ง  ได้แก่ (1) ตรวจหาเชื้อภายใน 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทางเข้าสิงคโปร์ (2) ตรวจเมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานชางงี (3 – 4) การตรวจในวันที่ 3 และ 7 ของการพำนักในสิงคโปร์ ในสถานพยาบาลและคลินิกที่รัฐบาลสิงคโปร์กำหนด โดยต้องมีผลตรวจว่าไม่ติดเชื้อฯ

ผู้เดินทางต้องได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer, Moderna หรือวัคซีนที่ WHO กำหนด ครบถ้วนแล้วอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทางเข้าสิงคโปร์ โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ของการเดินทาง และไม่ต้องแจ้งแผนการเดินทางหรือผู้สนับสนุน (ต่างจาก RGL) อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางจะต้องพำนักอยู่ในประเทศต้นทางต่อเนื่องกันอย่างน้อย 21 วันก่อนการเดินทางเข้าสิงคโปร์ และต้องเดินทางในเที่ยวบิน VTL ของสายการบินที่รัฐบาลกำหนดร่วมกัน ซึ่งปัจจุบัน ได้แก่ (1) Singapore Airlines (2) Lufthansa และ (3) Royal Brunei Airlines ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินตรงสำหรับ VTL โดยเฉพาะเท่านั้น

ผู้เดินทางเข้าสิงคโปร์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่ไม่ใช่คนชาติและ PR สิงคโปร์ จะต้องสมัครบัตรเดินทาง Vaccinated Travel Pass (VTP) ประกอบการเดินทางเข้าสิงคโปร์ (เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564)

ผู้เดินทางระยะสั้นจะต้องซื้อประกันภัยการเดินทางความคุ้มครองขั้นต่ำ 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และใช้งานแอปพลิเคชันติดตามตัว TraceTogether ตลอดการพำนักในสิงคโปร์

สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนในสิงคโปร์ สามารถแสดงสถานะการฉีดวัคซีนในแอปพลิเคชัน HealthHub ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนอกสิงคโปร์ สามารถแสดงต้นฉบับของเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนที่เคาทน์เตอร์ของสายการบิน

การเปิดรับนักท่องเที่ยวฮ่องกงและมาเก๊า

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์เผยแพร่ข่าวสารนิเทศ แจ้งว่า นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ (รับตำแหน่ง 15 พฤษภาคม 2564 สืบแทนนาย Ong Ye Kung ซึ่งไปรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์) และนาย Edward Yau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง เห็นพ้องร่วมกันว่าจะยุติการเจรจาความตกลง ATB เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน

แม้ว่าฝ่ายฮ่องกงและมาเก๊าจะยังไม่ยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้เดินทางจากสิงคโปร์ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่สิงคโปร์ประสงค์เปิดรับนักท่องเที่ยวคุณภาพจากฮ่องกงและมาเก๊าเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงประกาศอนุญาตให้ผู้เดินทางระยะสั้นจากฮ่องกงหรือมาเก๊าที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยเป็นมาตรการฝ่ายเดียว (Unilateral Lift)

ทั้งนี้ ผู้เดินทางระยะสั้นจะต้องพำนักอยู่ในฮ่องกงและมาเก๊า 21 วันก่อนเดินทาง และต้องสมัคร Air Travel Pass (ATP) เพื่อขอเดินทางเข้าสิงคโปร์ และเข้ารับการตรวจ PCR Swab Test ที่ท่าอากาศยานชางงี โดยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากที่พักได้เมื่อผลตรวจเป็นลบ และตรวจ PCR อีกครั้งในวันที่ 7 ของการพำนักในสิงคโปร์

ทั้งนี้ฝ่ายสิงคโปร์หวังว่า เขตบริหารพิเศษของจีนทั้ง 2 แห่ง (โดยเฉพาะฮ่องกง) จะพิจารณาปรับมาตรการเข้าเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทางจากสิงคโปร์ โดยไม่ต้องกักตัวต่อไปด้วย

สถานะล่าสุด CAAS ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศว่า ในช่วง 3 วันแรกของการเปิดรับสมัคร ATPs (ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เวลา 23.59 น.) มีผู้ประสงค์เดินทางเข้าสิงคโปร์ จากฮ่องกงและมาเก๊าสมัคร ATPs แล้ว 243 ราย มาจากฮ่องกง 230 ราย และมาเก๊า 13 ราย ทั้งนี้ ไม่รวมคนชาติ และ PRs สิงคโปร์ ซึ่งไม่ต้องขอ ATPs (สิงคโปร์ มีคนชาติในฮ่องกงและมาเก๊าประมาณ 25,000 คน) และจะได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนมาตรการแบบฝ่ายเดียวดังกล่าว           

มาตรการบริหารความเสี่ยงในจัดการเดินทางเข้าประเทศ โดยแบ่งประเทศต้นทาง เป็น 4 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 CAAS ได้ประกาศนโยบายเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นขั้นเป็นตอนและระมัดระวัง โดยแบ่งประเทศต้นทางออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งจะดำเนินมาตรการที่แตกต่างกัน โดยมีผลบังคับใช้ทันที ได้แก่

(1) กลุ่มที่ 1 ได้แก่ นิวซีแลนด์ จีน (ยกเว้นมณฑลเจียงซู) ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน โดยสิงคโปร์อนุญาตให้ผู้เดินทางระยะสั้น (นักท่องเที่ยว) เดินทางเข้าสิงคโปร์ได้ โดยสมัครขอ ATP และต้องตรวจ PCR ที่ท่าอากาศยานชางงีเมื่อเดินทางถึง

(2) กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา เยอรมนี จีน (เฉพาะมณฑลเจียงซู) โดยสิงคโปร์ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสิงคโปร์ แต่ลดการกักตัวของผู้มีบัตรพำนักระยะยาวเหลือเพียง 7 วัน เมื่อเดินทางถึง โดยสามารถเลือกที่พักและโรงแรมที่พักเองได้ และไม่ต้องเข้ารับการตรวจ PCR Swab Test ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

(3) กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเกาหลี โดยยังไม่เปิดรับผู้เดินทางระยะสั้น และผู้มีบัตรพำนักระยะยาวจะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักตัวของรัฐ (SDF คือ โรงแรมที่รัฐบาลสิงคโปร์กำหนด) หรือบ้านพักที่ลงทะเบียนไว้กับ รัฐบาลสิงคโปร์ และตรวจ Antigen Rapid Test (ART) ในวันที่ 3 7 และ 11 ของการกักตัว และตรวจ PCR Swab Test อีกครั้งในวันที่ 14 ของการกักตัว

(4) กลุ่มที่ 4 ได้แก่ ประเทศและดินแดนอื่น ๆ ทั้งหมด (รวมทั้งไทย) มาตรการเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 3 แต่จะต้องเข้ารับการกักตัวใน SDF ทุกกรณี

ผู้เดินทางทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากทุกประเทศและดินแดน(ทุกกลุ่ม)จะต้องเข้ารับการตรวจ PCR Swab Test ที่ท่าอากาศยานชางงีทันทีที่เดินทางถึงสิงคโปร์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้กระชับมาตรการต่อผู้เดินทางจากกลุ่มที่ 2-4 (รวมทั้งไทย) จะต้องแสดงผลการตรวจ PCR ภายใน 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทางเข้าสิงคโปร์ (จากเดิม 72 ชั่วโมง)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต      

ชาวเยอรมันประมาณร้อยละ 60 ได้รับวัคซีน Pfizer  Moderna  Johnson & Johnson หรือ AstraZeneca แล้ว นโยบายของเยอรมนีในเรื่องการยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการฉีดวัคซีน และการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่น (Endemic) นั้นสอดคล้องกับนโยบายของสิงคโปร์ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สิงคโปร์ทำความตกลง VTL กับเยอรมนีเป็นประเทศแรกๆ ส่วนบรูไนฯ ได้รับการบริจาควัคซีน Moderna จำนวน 1 แสนโดสจากสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สิงคโปร์ประกาศการจัดทำ VTL กับบรูไนฯ

หน่วยงานสิงคโปร์มีท่าทีใกล้เคียงกันเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการป้องกันโรคระบาดภายในประเทศ เช่น P2HA และ P3HA และมาตรการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ (มาตรการเข้าเมือง) คือ การกำหนดนโยบายและการปรับปรุงมาตรการจะต้องพิจารณาจาก (1) อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสิงคโปร์ และประเทศต่าง ๆ และ (2) สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน โดยเฉพาะ unlinked cases


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง