การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และการสำรวจโอกาสด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสิงคโปร์

พลังงานแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สิงคโปร์พึ่งพามากที่สุด รัฐบาลสิงคโปร์พัฒนาวิธีการและนวัตกรรม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จำกัดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์
บนชั้นดาดฟ้า พื้นที่โล่งแจ้ง และเหนือพื้นน้ำ ตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ อาทิ “Sembcorp Tengeh Solar Farm” ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในสิงคโปร์ที่อ่างเก็บน้ำ Tengeh เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นของโลก

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สิงคโปร์ได้เปิดฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ที่ท่าเรือ Tuas ในชื่อ “Sembcorp Tuas Solar Farm” บนพื้นที่ 10 เฮกตาร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SolarLand ระยะที่ 3 (ใช้พื้นที่ว่างในเขตอุตสาหกรรมชั่วคราว รวม 70 เฮกตาร์ทั่วสิงคโปร์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์) ถือเป็นโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกของสิงคโปร์ที่มีระบบการเก็บน้ำฝนแบบบูรณาการ คาดว่าจะเก็บน้ำได้ 170,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี (เทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 68 สระ) ซึ่งน้ำจะช่วยทำความเย็นและทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้จะมีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 17.6 เมกะวัตต์เพียงพอสำหรับจ่ายพลังงานให้ที่อยู่อาศัยขนาดสี่ห้อง จำนวน 4,700 ครัวเรือนต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 9,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เกือบ 150,000 ต้น นาง Low Yen Ling Minister of State ประจำกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง SolarLand และ SolarRoof จะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายที่จะสร้างพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุด อย่างน้อย 1.5 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 2 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: ST PHOTO: ALPHONSUS CHERN

ผลกระทบจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอินโดนีเซียต่อสิงคโปร์

อินโดนีเซียมีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก (ประมาณ 237 ล้านคน) และมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่อยู่บนเขตเส้นศูนย์สูตร และมีดินแดนกว้างใหญ่ แต่อินโดนีเซียกลับยังเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่ง (จากข้อมูลของ NEFBloomberg) เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลสนับสนุนและยังคงผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศ

หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อินโดนีเซียน่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เกือบ 20 ล้านเมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าสองเท่าของกำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าทุกแห่งในโลก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ภาคเอกชนในอินโดนีเซียได้จัดทำข้อเสนอโครงการขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว อย่างน้อย 5 โครงการ โดยมุ่งเน้นการส่งออกไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ข้อเสนอโครงการด้านกล่าวในอินโดนีเซีย ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันเนื่องจากแม้ว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการลงทุน สร้างงานใหม่ ๆ และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้กับอินโดนีเซีย แต่หลายภาคส่วนยังเห็นว่า การผลิตพลังงานสะอาดไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่อินโดนีเซียในระยะยาว เนื่องจากอินโดนีเซียยังไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมในขณะนี้ ดังนั้น ข้อเสนอโครงการของภาคเอกชนอินโดนีเซียจึงถูกมองว่าเป็นการผลักดันโดยกลุ่มทุน โดยสิงคโปร์เป็นผู้ได้ประโยชน์ที่สุด เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่และต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก สิงคโปร์จึงต้องการสร้างความยืดหยุ่นในด้านนี้ และตั้งเป้าหมายการนำเข้าพลังงานสะอาดร้อยละ 30 ภายในปี 2578 ดังนั้น อินโดนีเซียจึงเป็นทางเลือก/ทางออกที่สำคัญของสิงคโปร์ หลังจากมาเลเซียสั่งห้ามการส่งออกพลังงานหมุนเวียนเมื่อปี 2564

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แผนการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในอินโดนีเซียต้องหยุดชะงักลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าสะอาดเมื่อปี 2558 จะส่งผลให้ถ่านหินล้นตลาดในอินโดนีเซีย และรัฐบาลต้องรับซื้อถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินอยู่ดี นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาด/พลังงานหมุนเวียนยังสูงกว่าการผลิตพลังงานแบบดั้งเดิมด้วย

การสำรวจโอกาสด้านพลังงานนิวเคลียร์ในสิงคโปร์

พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าคาร์บอนต่ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากพลังงานน้ำและสะอาดที่สุดรองจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีพื้นที่ที่จำกัดและมีตัวเลือกพลังงานหมุนเวียนไม่กี่ประเภท การศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างพลังงานหมุนเวียนนิวเคลียร์จึงเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ให้ความสนใจ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย แต่พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นหนึ่งในพลังงานแห่งอนาคตของสิงคโปร์ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) รายงานว่า ภายในปี 2593 พลังงานนิวเคลียร์จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการพลังงานในสิงคโปร์ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะทำให้เกิดความปลอดภัยและเชื่อถือได้มากขึ้น


จากรายงานของ EMA พลังงานนิวเคลียร์จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการพลังงานในสิงคโปร์
แหล่งที่มา: ST PHOTO: LIM YAOHUI

การเคลื่อนไหวของสิงคโปร์อาจกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มให้ความสนใจในพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในปี 2554 ยังคงทำให้ผู้คนหวาดกลัว ซึ่งจากผลวิจัยในปี 2564 โดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) พบว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไม่เปิดรับการใช้หรือสร้างแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ โดยมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 คนจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ผู้ตอบแบบสอบถามจากสิงคโปร์มีเพียงร้อยละ 20 ที่สนับสนุนเรื่องนี้

กลุ่มผู้สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคเห็นว่า สิงคโปร์จะต้องแสดงบทบาทนำในการสร้างความตระหนักรู้ด้านประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกันของภูมิภาค เพื่อช่วยสร้างความรู้สึกดีต่อพลังงานนิวเคลียร์และช่วยผลักดันความเป็นไปได้ของการผลิตและการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

สิงคโปร์ประสงค์ที่จะสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงาน โดยกระจายแหล่งนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (รับผิดชอบด้านพลังงาน) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการค้าพลังงานไฟฟ้ากับอินโดนีเซีย โดยความร่วมมือครอบคุลมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีไฮโดรเจนและพลังงานคาร์บอนต่ำระหว่างกัน นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของสิงคโปร์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อปี 2560 – 2561 ซึ่งสิงคโปร์ลงทุนด้านการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมกว่า 16,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนจากจีนผ่านสิงคโปร์

การศึกษาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ โดยเมื่อปี 2550 ไทยได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าสำหรับปี 2550 – 2564 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์ ในระหว่างปี 2563 – 2564 หลังจากนั้นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าทุกฉบับตั้งแต่ปี 2550 ยังคงบรรจุแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ถูกตัดออกไปในแผนฯ ปี 2561 ฉบับล่าสุด ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์เห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีคาร์บอนต่ำ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสามารถบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่ความคิดเห็นของประชากรส่วนใหญ่ยังคงไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากต้นทุนที่สูงและความเสี่ยงจากการกำจัดกากกัมมันตรังสี


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง