การใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในธุรกิจสิงคโปร์

ปัจจุบัน Biometric หรือ “เทคโนโลยีชีวมิติ” ที่ใช้สำหรับพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนนั้นเป็นนวัตกรรมที่ภาคเอกชนมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การปลดล็อกสมาร์ทโฟนด้วยใบหน้าหรือลายนิ้วมือ การอ่านใบหน้าเพื่อใส่รหัสผ่านในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการอ่านใบหน้าและลายนิ้วมือแบบดิจิทัลเพื่อเป็นหลักฐานในการเดินทาง ทั้งนี้ มูลค่าตลาดระดับโลกของ Biometric สูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 39,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ขณะที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ของตลาดระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition System) ของสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 17.6 ระหว่างปี 2563-2569 ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมการนำระบบจดจำหน้าใบหน้ามาใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชนตามนโยบายระบบเอกลักษณ์ดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Identity – NDI) และแนวคิดชาติอัจฉริยะ (smart nation)

เมื่อเทียบกับการพิสูจน์ตัวตนวิธีอื่น เช่น การแตะบัตรหรือการป้อนรหัส PIN (Personal Identification Number) เทคโนโลยี Biometric เป็นวิธีการที่ทันสมัย ​​สะดวก และเชื่อถือได้ โดยเป็นระบบการยืนยันตัวตนที่มีความปลอดภัยสูง นอกจากการจดจำใบหน้าและลายนิ้วมือแล้ว ภาคธนาคารหลายแห่งยังใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยเสียง (Voice Biometrics) สำหรับการตรวจสอบก่อนที่จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางโทรศัพท์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนตัวที่มีผลกระทบกับความปลอดภัย เช่น วันเกิดและจำนวนบัตรเครดิตในครอบครอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีระบบใดที่ไม่มีจุดอ่อน ขบวนการอาชญากรทางไซเบอร์ได้ปลอมแปลงลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกประตูบ้านหรือการสแกนใบหน้าเพื่อขโมยเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้อื่น นักเทคโนโลยีจึงต้องพัฒนา ระบบการป้องกันอาทิ Liveness Detection (ระบบป้องกันการหลอก Face Recognition) เพื่อตรวจสอบว่าใบหน้าหรือนิ้วมือที่สแกนมาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยใช้แสงอินฟราเรดตรวจสอบรูปแบบเส้นเลือดภายในนิ้วหรือเพื่อคำนวณโครงสร้าง 3 มิติของใบหน้า วิธีการดังกล่าวต้องใช้เซ็นเซอร์และอัลกอริทึม1เพิ่มเติม ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูง

โอกาสด้าน Biometric ในสิงคโปร์และการสนับสนุนจากภาครัฐ

สิงคโปร์มีศักยภาพสูงในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านความน่าเชื่อถือสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการรับรองคุณภาพของ Biometric ได้ ในฐานะประเทศที่นำ Biometric มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์มีบทบาทในการพัฒนา ดังนี้ ประการที่ 1) การพัฒนาข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับระบบ Biometric ที่ใช้ในสิงคโปร์ โดยเฉพาะข้อกำหนดในการตรวจสอบบริการทางการเงินหรือบริการภาครัฐ เพื่อให้ได้รับการรับรอง ประการที่ 2) การคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานสากล องค์กรที่ใช้ระบบ Biometric ที่ได้มาตรฐานจะมีทางเลือกมากขึ้นในการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ลดความเสี่ยงหรือใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย ประการที่ 3) การจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญมีส่วนร่วมจำนวนมากขึ้น เช่น สนับสนุนการเดินทางไปประชุม ISO และการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาและทดสอบต้นแบบ ISO เพื่อช่วยในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจ และประการที่ 4) การแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อเชื่อมโยงผู้ขายกับผู้ใช้จากทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัย Biometric อย่างรวดเร็ว และยับยั้งอาชญากรไซเบอร์ที่จะใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้ใช้ได้

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกเกณฑ์การใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) รองรับการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (facial recognition) เพื่อให้ผู้ให้บริการ
ทางการเงินใช้ Biometric ในการให้บริการอย่างเหมาะสม มั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยสถาบันการเงินที่ประสงค์จะใช้ Biometric ต้องเข้าทดสอบใน Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน และต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลชีวมิติของบุคคลกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง) ทั้งนี้ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติควบคู่ไปด้วย

สำหรับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้เริ่มนำระบบนี้ไปใช้เพิ่มความปลอดภัยให้กับสถานที่ ทรัพย์สินและข้อมูลด้วย บางบริษัทมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยหน้าประตูห้อง Server เช่น การต้องสแกนนิ้วหรือสแกนม่านตาก่อนเข้าใช้งานในห้อง ซึ่งถือว่าเทคโนโลยี Biometric นี้เริ่มแพร่หลายและจะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะจับลักษณะทางกายภาพแล้ว ยังเริ่มพัฒนาการตรวจจับลักษณะทางพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคลมาใช้ในการยืนยันตัวตนด้วย เช่น เสียงพูด การเคลื่อนไหวมือ การเดิน การเคาะแป้นพิมพ์ ซึ่งน่าจะสามารถนำมาใช้กันอย่างจริงจังและแพร่หลายมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทย สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี หรือ ด้านความปลอดภัย Cybersecurity จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจโดยเร่งการค้นคว้า พัฒนาขีดความสามารถในเทคโนโลยีนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์ (ICA) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความร่วมมือด้านหนังสือเดินทางดิจิทัล ซึ่งรวมถึงระบบการจัดเก็บข้อมูลชีวมิติของบุคคลให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนและนักธุรกิจไทยกับสิงคโปร์ หลังจากที่เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของสิงคโปร์  ระบุว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นักเดินทางต่างชาติที่ลงทะเบียน Biometric ใบหน้าและม่านตาในการเยือนสิงคโปร์ครั้งแรกจะสามารถใช้ระบบการตรวจคนเข้าเมืองโดยอัตโนมัติ (Automated Gate) ในการเดินทางครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งรวมถึงผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศไทย


1 ขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผลในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งซึ่งจะช่วยให้ผู้พัฒนาโปรแกรมเห็นขั้นตอนการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายขึ้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง