ในสิงคโปร์นักลงทุนสามารถซื้อ cryptocurrencies1 ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่ตู้ ATM ที่จัดทำสำหรับ cryptocurrencies เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สิงคโปร์กับสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยเมื่อปี 2557 บริษัท Bitcoin Exchange2 ได้ติดตั้ง Bitcoin ATM เครื่องแรกของสิงคโปร์ที่ Citylink Mall ปัจจุบันสิงคโปร์มีตู้ ATM ประมาณ 10 ตู้ ซึ่ง 6 ตู้เป็นของ Daenerys & Co. บริษัทเทคโนโลยี blockchain ซึ่งข้อมูลของบริษัทฯ แสดงให้เห็นว่าในปี 2563 ตู้ ATM มีรายการธุรกรรมจำนวน 3,709 รายการ ลดลงจากปี 2562 เล็กน้อย (จาก 3,862 รายการ) ในขณะที่ช่วงหกเดือนแรกของปี 2564 มีธุรกรรมจำนวน 1,997 รายการ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73) มีอายุมากกว่า 31 ปี และร้อยละ 26.62 มีอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี

เมื่อปี 2562 ศูนย์อาหาร Kopitiam ที่ Funan Mall เริ่มให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระค่าอาหารได้ เนื่องจากต้องการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่สนใจด้านเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตและจะขยายไปยังสาขาอื่นหากผลตอบรับดี แต่ในปี 2563 ได้หยุดรับ Cryptocurrencies ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ Ben Charoenwong ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) วิเคราะห์ว่า การนำสกุลเงินดิจิทัลให้นำมาใช้ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการมีความท้าทายมาก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อถือการอ้างอิงมูลค่าของ cryptocurrencies ซึ่งมีความผันผวนสูง และยังไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายของสิงคโปร์

เมื่อเดือนกันยายน 2563 Singapore Exchange ได้ร่วมมือกับบริษัท CryptoCompare จากสหราชอาณาจักรที่ให้บริการข้อมูลตลาดเงินดิจิทัล เปิดตัวดัชนี crypto ภายใต้ชุดดัชนี SGX iEdge ได้แก่ ดัชนี iEdge Bitcoin และดัชนี iEdge Ethereum

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ธนาคาร DBS สิงคโปร์เปิดตัวการให้บริการสินเชื่อสำหรับสกุลเงินดิจิทัลเป็นแห่งแรกในเอเชียจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุน ดูแล และจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย มั่นคง และมีรูปแบบที่ชัดเจน บนแพลทฟอร์ม DBS Digital Exchange ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้นักลงทุนสามารถเชื่อมโยงระบบโทเคน ซื้อขาย และดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบครบวงจร บริการนี้ใช้กับสกุลเงินดิจิทัล 4 สกุล คือ 1) Bitcoin 2) Ether 3) Bitcoin Cash และ 4) XRP จากข้อมูลไตรมาสที่ 1/2564 DBS Digital Exchange ดูแลทรัพย์สินเป็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีลูกค้าจำนวน 120 ราย

ปัจจุบันสิงคโปร์ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงจำนวนธุรกิจที่ยอมรับการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล แต่ Ms. Zann Kwan สมาชิกคณะกรรมการ Association of Cryptocurrency Enterprises and Start-ups (Access) สิงคโปร์ คาดว่าธุรกิจเหล่านี้รวมถึงบริษัทให้บริการ เช่น บริษัทบัญชี บริษัทสถาปัตยกรรม แม้แต่บริษัทออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก Cryptocurrencies สามารถโอนได้โดยไม่ระบุชื่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สามารถชำระเงินได้โดยตรง การทำธุรกรรมจึงรวดเร็วขึ้นและลดต้นทุนจากการตัดพ่อค้าคนกลางที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงิน

บทบาทของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ต่อ Cryptocurrencies               

เนื่องจากการเปิดเสรี Cryptocurrencies ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีกฎระเบียบของธนาคารกลางมาควบคุม อาจส่งผลต่อเสถียรภาพและความผันผวนของระบบการเงินในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 สิงคโปร์จึงได้เริ่มใช้พระราชบัญญัติบริการชำระเงิน (The Payment Services Act – PSA) เพื่อควบคุมดูแลหน่วยงานที่จัดการหรืออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน Cryptocurrencies หรือ Digital Payment Tokens (DPT) โดยผู้ซื้อขาย แลกเปลี่ยน และผู้ให้บริการในด้านนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก MAS

PSA มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงที่สกุลเงินดิจิทัลจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การฟอกเงินหรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฯ ระบุว่าหน่วยงานที่เริ่มดำเนินการ DPT ก่อนพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ สามารถดำเนินการต่อโดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติใบอนุญาต แต่จะต้องยื่นใบสมัครขอใบอนุญาตภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีผู้ให้บริการ DPT ในสิงคโปร์ประมาณ 96 รายที่ได้รับประโยชน์ให้ดำเนินการต่อไปได้ระหว่างยื่นขอใบอนุญาต

ตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติ PSA จนถึงปัจจุบัน MAS ได้รับคำร้องขอมีใบอนุญาตซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยนมากกว่า 480 ราย โดยเป็นผู้สมัครเพื่อเป็นผู้ให้บริการ (DPT Services Provider) 170 ราย (ร้อยละ 35) อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำร้องประมาณ 30 ราย (ร้อยละ 18) ถอนใบสมัครหลังจากที่ได้หารือกับ MAS เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ และผู้ยื่นคำร้อง 2 รายถูกปฏิเสธ จนถึงปัจจุบัน MAS ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการ DPT แต่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจสอบใบสมัคร

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 MAS ได้แจ้งผู้สมัครหลายรายว่า MAS อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตบริการชำระเงิน DPT ภายใต้ PSA ทั้งนี้ บริษัท Independent Reserve ผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนของออสเตรเลียได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้ในหลักการ อย่างไรก็ตาม MAS ยังไม่ได้ระบุจำนวนและรายชื่อผู้สมัครที่ MAS ได้ติดต่อไปในครั้งนี้ ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต DPT    

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต     

ผลวิจัยล่าสุดโดยบริษัท Crypto Head ที่ศึกษาสกุลเงินดิจิทัล ได้จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพร้อมด้าน Cryptocurrencies (Crypto-Ready) เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยอันดับ (1) สหรัฐฯ (2) ไซปรัส โดยพิจารณาจากจำนวนและการเข้าถึงได้ของตู้เอทีเอ็มคริปโตในประเทศ ความถูกต้องตามกฎหมายของคริปโตสำหรับการที่ธนาคารจะได้รับอนุญาตให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือไม่ และจำนวนการค้นหาออนไลน์เกี่ยวกับคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโต 

สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย อาจพัฒนาบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าหลักทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาค เนื่องจากสิงคโปร์มีนวัตกรรมและ eco-system ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยส่งเสริมความริเริ่มทางด้านหลักทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจขยายผลไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ไทยและญี่ปุ่น โดยสิงคโปร์ได้จัดทำกฎหมายและนโยบายเพื่อควบคุมการอนุญาตเรื่องการซื้อ-ขายและแลกเปลี่ยน Cryptocurrencies แม้จะมีแนวโน้มสูงว่า MAS จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะไม่ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการ DPT แบบระยะยาวและถาวรในเร็ว ๆ นี้

สำหรับประเทศไทย สินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมายไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแจ้งเตือนถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในลักษณะแลกเปลี่ยน (Barter Trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ให้และผู้รับตกลงยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยผู้ใช้หรือผู้รับสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยังไม่สามารถสนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าจะจัดตั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและช่องทางรายได้แก่ผู้ประกอบการตลาดทุน และเสนอทางเลือกใหม่ ๆ แก่นักลงทุน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศใช้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถใช้ชำระเงินอย่างเป็นทางการในประเทศได้ ทั้งนี้ GDP ของเอลซัลวาดอร์กว่าร้อยละ 20 มาจากเงินของประชาชนที่ไปทำงานในต่างประเทศ และส่งกลับมายังเอลซัลวาดอร์ โดยประชากรกว่าร้อยละ 70 ไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง เมื่อทำการส่งเงินกลับมายังประเทศ ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามแดนกว่าร้อยละ 10 (ต่างจากสิงคโปร์ที่ประชากรมากกว่าร้อยละ 90 มีบัญชีธนาคาร) และด้วยการที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร จึงต้องเดินทางไปรับเงินสดที่ธนาคาร และบางครั้งกระบวนการการโอนเงินก็ใช้เวลาหลายวัน ดังนั้น รัฐบาลเอลซัลวาดอร์จึงมองว่า Bitcoin สามารถเข้ามาแก้ไขเรื่องการโอนข้ามพรมแดนได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่ประกาศกฎหมายรับรอง Bitcoin ดังกล่าว  


1 Cryptocurrencies เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้ออกโดยรัฐบาล ไม่มีการรับรองจากผู้ออกหรือใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน แต่มีการรักษาความปลอดภัยผ่านการเข้ารหัส (Cryptography) จึงไม่สามารถปลอมแปลงได้ และใช้เทคโนโลยี blockchain เชื่อมต่อเครือข่าย ซึ่งทุกคนในเครือข่ายสามารถเป็น “นักขุด” (miner) และคำนวณแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อตรวจสอบธุรกรรมสกุลเงินดิจิทัลได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางในการตรวจสอบธุรกรรม นักขุดจะได้รับผลตอบแทนเป็น Digital Tokens

2 Bitcoin (BTC) เป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกของวงการ Cryptocurrencies จัดทำขึ้นเมื่อปี 2551 โดย Satoshi Nakamoto และเริ่มใช้สกุลเงินในปี 2552  Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เป็นระยะเวลายาวที่สุดและมีมูลค่าหลักทรัพย์ที่สูงที่สุด (ประมาณ 887,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564) Bitcoin จำกัดการกำหนดอุปทานไว้ 21 ล้านหน่วย โดยคาดว่าจะรองรับได้จนถึงปี ค.ศ. 2140 (พ.ศ. 2683) นอกจากนี้ ยังมี Cryptocurrencies อื่นๆ ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทั่วโลก เช่น Ethereum (ETH) Ripple (XRP) และ Binance Coin (BNB) เป็นต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง