พัฒนาการของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเนื้อสัตว์สังเคราะห์และโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์

พัฒนาการล่าสุดของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเนื้อสัตว์สังเคราะห์ (cell-grown/ lab-grown/ cultivated/cultured meat) ในสิงคโปร์ พร้อมข้อมูลด้านโอกาสและความท้าทายของธุรกิจดังกล่าว ดังนี้

พัฒนาการล่าสุดของธุรกิจสตาร์ทอัพผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์

ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นแหล่งการลงทุนด้านการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลสังเคราะห์ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีธุรกิจของสิงคโปร์เองและบริษัทจากสหรัฐฯ จีน และประเทศอื่น ๆ ที่มาลงทุนในสิงคโปร์ จำนวน
7 บริษัทที่เติบโตได้ดีเมื่อปี 2564 และมีแผนขยายกิจการในปี 2565 ดังนี้

1) Eat Just เป็นบริษัทจากสหรัฐฯ ที่ได้การสนับสนุนเงินทุนจากเครือ Temasek ของสิงคโปร์ก่อตั้งเมื่อปี 2554 และเป็นบริษัทเนื้อสังเคราะห์รายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ โดยบริษัทวิจัย CB Insight ประเมินมูลค่าบริษัทของ Eat Just เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ว่ามีมูลค่าประมาณ 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะระดมทุนเพิ่มอีก 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และสำนักข่าว Forbes ประเมินว่า East Just ต้องการเพิ่มมูลค่าของกิจการเป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แบบ Initial Public Offering (IPO) ในปี นี้ ทั้งนี้ Eat Just พยายามปรับลดต้นทุนและเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 30,000 – 40,000 ลิตร เพื่อให้บริการภัตตาคารได้จำนวน 50 – 100 ร้าน

อาหารที่ปรุงเรียบร้อยจากวัตถุดิบเนื้อสัตว์สังเคราะห์ของ Eat Just ในร้าน Madame Fan สิงคโปร์
แหล่งที่มา: Madame Fan Facebook page
(https://www.facebook.com/MadameFan/photos/4043612052399225?_rdr)

2) Shiok Meats เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์แห่งแรกที่เป็นของสิงคโปร์เอง ก่อตั้งเมื่อปี 2561 ซึ่งล่าสุดได้เปิดการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อกรกฎาคม 2564 ระดมเงินทุนได้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และครั้งที่ 2 เมื่อกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ระหว่างการระดมทุนเพิ่มเติมในรอบ Series B โดยมีบริษัทเงินทุนที่ให้การสนับสนุน อาทิ บริษัท Big Idea Ventures บริษัท Seeds Capital และนักลงทุนอื่น ๆ จาก เกาหลีใต้ เวียดนาม และ ญี่ปุ่น บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มขายเนื้อกุ้งสังเคราะห์ในราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมภายในปี 2566 นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 Shiok Meats ได้ติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor) ความจุ 200 ลิตรในโรงงานขนาดย่อม และจะเพิ่มความจุอีก 500 ลิตรในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ บริษัทจะเพิ่มเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพความจุ 1,000 ลิตรอีกหลายเครื่องในโรงงานผลิตเนื้อสังเคราะห์ที่คาดว่าจะเปิดเพิ่มเติมในปี 2566 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 บริษัท Shiok Meats ได้เข้าซื้อกิจการ Gaia Foods ด้วยแล้ว

3) Umami Meats สตาร์ทอัพผู้ผลิตเนื้อสัตว์น้ำสังเคราะห์ของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2563 โดยเมื่อปี 2564 Umami Meats ระดมทุนได้ในรอบ Pre-seed จากบริษัท Better Bite Ventures และ บริษัท Genedant มูลค่า 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทมุ่งลดต้นทุนและขยายการผลิตโดยพัฒนาอาหารเลี้ยงเชื้อจากกากอาหารจากพืช ซึ่งมีต้นทุนต่ำเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร และมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตรต่อไป Umami Meats เห็นว่า เนื้อสัตว์สังเคราะห์ไม่ใช่เพียงการคัดลอกพันธุกรรมเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมเสมอไป แต่อาจจะเป็นการผสมผสานเนื้อสัตว์และวัตถุดิบจากพืชได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเนื้อไก่ถึง ร้อยละ 75 และส่วนที่เหลือเป็นวัตถุดิบที่ได้จากพืช เช่น โปรตีนจากถั่วเขียว เป็นต้น

4) Ants Innovate สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2563 โดยแยกตัวจาก A*STAR (หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อธุรกิจของกระทรวงการค้าและอุตสากรรมสิงคโปร์) ได้สร้างสรรค์เนื้อสังเคราะห์แบบชิ้นและโปรตีนจากพืช (Plant-based Meat) เพื่อพัฒนา “cell essence” โดยเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงในปริมาณที่น้อยมากเมื่อจับคู่กับโปรตีนไก่และหมูที่ผลิตจากพืช ทั้งยังเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติของเนื้อสัตว์ด้วย อย่างไรก็ตาม Ants Innovate เชื่อว่า รสชาติหวานของเนื้อสัตว์ไม่สามารถแทนที่ด้วยโปรตีนจากพืชได้

5) Avant Meats สตาร์ทอัพของฮ่องกง ก่อตั้งเมื่อปี 2561 ต่อมาเมื่อปี 2563 บริษัทระดมทุนได้ 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งรวมถึง (1) China Venture Capital (2) ParticleX (3) AngelHub และ (4) Lever VC เป็นต้น Avant Meats เป็นบริษัทแรกที่ผลิตเนื้อปลาสังเคราะห์ในจีนและเอเชีย เช่น ปลิงทะเลและกระเพาะปลา ปี 2564 บริษัทฯ ประกาศความสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิตปลาสังเคราะห์ได้ร้อยละ 90 โดยร่วมมือกับ บริษัท ชีวเภสัชภัณฑ์ Quacell ของจีนเพื่อลดต้นทุนดังกล่าวลงอีกร้อยละ 751

6) Fisheroo เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2564 ถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ผลิตเนื้อปลาสังเคราะห์โดยเฉพาะแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลิตภัณฑ์หลักคือปูอัดสังเคราะห์ บริษัทฯ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก บริษัท Big Idea Ventures และคาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนแบบจำลองผลิตภัณฑ์ (Prototype) ได้ภายในช่วงต้นปี 2566 ในขั้นต่อไป เป้าหมายของ Fisheroo คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และจำหน่ายในรูปแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B)2

7) TurtleTree Labs บริษัทผู้ผลิตนมสังเคราะห์ ทั้งนมวัว นมแกะ นมแพะ และนมอูฐ ก่อตั้งเมื่อปี 2562 มีสำนักงานใหญ่ทั้งในสิงคโปร์และนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ระดมทุนได้รวม 42.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีมูลค่ารวมกว่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ TurtleTree Labs  ได้ร่วมมือกับ บริษัท Dyadic จากสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในโปรตีนสำหรับนมสังเคราะห์3

ความท้าทายของธุรกิจเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์

แม้ว่าธุรกิจเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์จะเติบโตได้ดีและมีแผนขยายสู่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ธุรกิจนี้ยังคงเผชิญความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากต้นทุนเซลล์ที่ใช้ในการเติบโตของเนื้อเยื่อสังเคราะห์ (2) ความยากของการขยายกำลังการผลิต และ (3) การหาเงินทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น

สิงคโปร์มีกฎระเบียบและระบบนิเวศเอื้อต่อการทำธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ แต่ยังมีความล่าช้าด้านการลงทุนและการระดมทุนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์สังเคราะห์เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพในวงการเดียวกันของประเทศอื่น ๆ โดยสถิติจาก Good Food Institute (GFI) รายงานว่า แม้ว่าสตาร์ทอัพธุรกิจเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2562 เพิ่มเป็น 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2563 และ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2564 แต่เงินทุนที่ธุรกิจเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์ได้รับเมื่อปี 2564 คิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของเงินทุนรวมที่สตาร์ทอัพด้านเนื้อสัตว์สังเคราะห์ทั่วโลกได้รับจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งที่มา: Business Times Digital
(https://www.businesstimes.com.sg/brunch/from-lab-to-table)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

ในภาพรวมยุทธศาสตร์ด้านอาหารของสิงคโปร์ การผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ถือเป็นส่วนสำคัญของแผน 30 by 30 คือ เป้าหมายการผลิตอาหารในสิงคโปร์ให้ได้ร้อยละ 30 ของการบริโภคทั่วประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันสิงคโปร์สามารถผลิตอาหารได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของการบริโภคในประเทศ จึงมีความอ่อนไหวต่อห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารและสินค้าเกษตรโลกอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อปี 2563 สิงคโปร์
เป็นประเทศแรก และยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่อนุญาตให้จำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์ได้

ด้วยความพร้อมด้านระบบนิเวศทางธุรกิจ กฎหมายภายใน และความยอมรับของประชาชนผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศจึงมองว่าสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพในธุรกิจด้านเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในภูมิภาค แม้ว่าสิงคโปร์จะมีตลาดขนาดเล็ก โดยมีประชากรประมาณ 5 ล้านคนเท่านั้น โดย Enterprise Singapore (หน่วยงานภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนสิงคโปร์ในการขยายตลาดในต่างประเทศ) ร่วมกับบริษัท Big Idea Ventures สนับสนับเงินทุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์ นอกจากนี้ สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) และ A*STAR ได้จัดตั้งกองทุนในวงเงิน 144 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วย

ธุรกิจเนื้อสัตว์สังเคราะห์มีการเติบโตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อมีนาคม 2565 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้ประกอบการไทยชั้นนำด้านอาหารร่วมมือกับสตาร์ทอัพผู้ผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ Future Meat จากอิสราเอล เพื่อขยายตลาดเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม CPF ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติในกระบวนการผลิต แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านช่องทางการกระจายสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย4

การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อยอมรับว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์เป็นสินค้าอุปโภคที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงประเด็นด้านข้อกฎหมายภายในไทยยังคงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย ดังนั้น การศึกษาโมเดลการพัฒนาตลาดเนื้อสัตว์สังเคราะห์ของสิงคโปร์ รวมถึงการร่วมทุนกับภาคเอกชนในสิงคโปร์ เพื่อขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ยังคงเป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจธุรกิจนี้


1 https://thespoon.tech/avant-meats-announces-new-rd-and-pilot-manufacturing-facilities-in-singapore/
2 https://bigideaventures.com/portfolio/fisheroo/
3 https://www.businesstimes.com.sg/garage/turtletree-labs-raises-us329m-at-a-valuation-of-over-us390m  
4 https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/2285190/charoen-pokphand-foods-and-future-meat-technologies-to-develop-cultured-meat-products-for-the-asian-market


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.businesstimes.com.sg/brunch/from-lab-to-table