แนะนำกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดย “ภาคการผลิต” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เผชิญกับความท้าทายมากที่สุด โดยเฉพาะปัญหาการหยุดชะงักของวงจรการผลิต และการขาดช่วงของห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบแบบเฉียบพลัน (supply shock) แม้ว่าภาคการผลิตทั่วเอเชีย-แปซิฟิกจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์

ดังนั้น ผู้ประกอบการจะสามารถพลิกวิกฤตในช่วงนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร จึงเป็นคำถามสำคัญ ซึ่งนาย Amitabh Sarkar รองประธานและหัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท Tata Communications สำนักงานสิงคโปร์ ได้แบ่งปันแง่คิดและมุมมองเชิงกลยุทธ์ว่า ผู้ประกอบการควร “การปรับตัว เปลี่ยนแปลง และการประเมินสถานการณ์” อยู่เสมอ รวมทั้งการปฏิรูปกลยุทธ์ดิจิทัลเพื่อให้ธุรกิจคล่องตัวยิ่งขึ้น รายละเอียดดังนี้ 

การจัดลำดับความสำคัญในการผลิตและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น  

  1. การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ยังคงมีความสำคัญลำดับต้น สำหรับผู้ผลิต โดยจะต้องมองการณ์ไกลไปถึงช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตต้องกระจายความหลากหลายของกระบวนการผลิต (operations) และซัพพลายเออร์ (supplier portfolio) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ(ecosystem) ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจทำให้การจัดการและการปฏิบัติงานยากขึ้น 
  1. การเสริมสร้างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระจายอำนาจการตัดสินใจ หากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานได้แล้ว ก็จะช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายขึ้น ทั้งยังสามารถกระจายอำนาจในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนทำงานเฉพาะทางบางอย่าง เช่น วิศวกรออกแบบอาจเผชิญกับความท้าทายจากการต้องสื่อสารและประสานงานทางไกลกับทีมงานที่ประจำอยู่คนละพื้นที่  
  1. การเสริมสร้างระบบการรักษาความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยทางกายภาพและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังอย่างมาก เนื่องจากอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อการผลิต เช่น การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบไซเบอร์ และการโจมตีทางไซเบอร์และแรนซัมแวร์1 เมื่อภาคการผลิตเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ซึ่งขยายตัวขึ้นเช่นกัน  

การทบทวนและปฏิรูปกลยุทธ์ดิจิทัล  

ผู้ผลิตสามารถพิจารณาเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศดิจิทัล (digital ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เพียบพร้อมสำหรับอนาคตตาม “กลยุทธ์ดิจิทัล 4 ประการ” ดังนี้ 

  1. การสร้างรากฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ผู้ผลิตควรปรับปรุงระบบห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ทั้งหมด ให้เป็นดิจิทัลเพื่อความสะดวกและคล่องตัว ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงโรงงาน การจัดหาลูกค้า และการบริการลูกค้า ผู้ผลิตต้องวางแผนก่อนว่าจะวางรากฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับเทคโนโลยีในปัจจุบันและความคิดริเริ่มด้านดิจิทัลในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการสร้างสถาปัตยกรรมไฮบริดเพื่อเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ IoT และการผสมผสานระบบดิจิทัลใหม่เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม 
  1. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ภาคการผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากระบบอัจฉริยะ ในการแปลงข้อมูลเชิงลึกให้เป็นข้อมูลที่ปฏิบัติได้ เพื่อปรับปรุงทุกแง่มุมของธุรกิจ เช่น 1) ระบบการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากแบบทันทีในกระบวนการผลิต โดยใช้ IoT ผสมผสานกับคลาวด์ 2) ระบบการแยกแยะปัญหาในสายพานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว 3) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพเครื่องจักรอย่างทันท่วงทีเพื่อวางแผนการบำรุงรักษาตามกำหนดการผลิต และป้องกันการหยุดชะงักโดยไม่คาดคิด 
  1. การใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารและการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ การทำงานผ่านระบบทางไกล จะยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาวในช่วงหลังโควิด-19 ผู้ผลิตจึงควรมีแพลตฟอร์มศูนย์กลางการทำงานผ่านระบบทางไกลร่วมกัน ที่มีฟังก์ชันหลากหลาย ทั้งการส่งข้อความ ข้อความเสียง และวีดิทัศน์ เพื่อให้พนักงานและคู่ค้าทำงานได้อย่างราบรื่นในทุกขั้นตอน เวลา และสถานที่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการกระจายผลิตภัณฑ์สู่ตลาด อีกทั้งผู้ผลิตสามารถปรับแต่งเครื่องมือสื่อสารตามความต้องการเฉพาะของธุรกิจ โดยการสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อการให้บริการ (Communications Paltform as a Serivce – PaaS) ลงในแอปพลิเคชันการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning – ERP) หรือการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management – CRP)  
  1. การสร้างระบบการรักษาความปลอดภัยในทุกสถานที่ เป็นแนวคิดด้านความมั่นคงปลอดภัยรูปแบบใหม่ เพื่อให้พนักงานเข้าถึงแอปพลิเคชันและข้อมูลของบริษัทได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ อุปกรณ์ หรือ การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ ผู้ผลิตควรจะมีระบบปฏิบัติการเชิงรุกในการติดตามและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัย (SOC)  ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่ผิดปกติในระบบได้อย่างต่อเนื่องทั่วถึง และลดเวลาในการตอบสนองเมื่อเกิดการโจมตีระบบ 

จัดตั้งหน่วยงานการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล  

ภาคการผลิตในเอเชีย-แปซิฟิกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทักษะ วัฒนธรรม และจัดการกับภัยคุกคาม ที่เพิ่มขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์ บริษัทที่มุ่งเน้นการเติบโตควรมองว่าการพัฒนาระบบดิจิทัลเป็นการลงทุนมากกว่า เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป อีกทั้งควรพิจารณาทุกองค์ประกอบของธุรกิจในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลของพนักงาน ทั้งนี้ การดำเนินการด้านระบบดิจิทัลมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการจึงควรจับมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญและเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุดในการพัฒนาธุรกิจ 

ข้อคิดเห็น 

ผู้ประกอบการภาคการผลิตในประเทศไทยสามารถปรับใช้แนวคิดและกลยุทธ์ดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และประสิทธิภาพการทำงานในบริษัทตามความเหมาะสมของเงื่อนไขและขนาดของบริษัท การดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0  และเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) ต่อไป 


 1แรมซัมแวร์ (Ransomware) เป็นมัลแวร์ (Malware) ประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้งาน แต่จะทำการเข้ารหัสหรือล็อกไฟล์ เช่น ไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเปิดไฟล์ใด ๆ ได้เลยหากไฟล์เหล่านั้นถูกเข้ารหัส ผู้เสียหายจะต้องใช้คีย์ในการปลดล็อคเพื่อกู้ข้อมูล โดยอาจต้องทำการจ่ายเงินตามข้อความ “เรียกค่าไถ่” ที่ปรากฏ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง