ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงในสิงคโปร์ โดยในปี 2560 สิงคโปร์นำเข้าทุเรียนมากกว่า 43,000 ตัน (หรือประมาณ 10 ล้านลูก) นอกจากการบริโภคทุเรียนสดแล้ว ในสิงคโปร์ยังมีการผสมผสานทุเรียนกับอาหารหลายประเภท เช่น พิซซ่า หม้อไฟ (steamboat) ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือแม้แต่ข้าวผัด ทั้งยังสามารถจับคู่ทุเรียนกับไวน์ขาวเพื่อรสชาติที่ลงตัว โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 บริษัท Durian Edition ผู้นําเข้าทุเรียน และผู้ผลิตขนมที่มีส่วนผสมของทุเรียนในสิงคโปร์ ร่วมมือกับ 1925 Brewing Co. โรงเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) ผลิตคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ทุเรียน Musang King Ale ออกวางตลาดเป็นเจ้าแรกในสิงคโปร์ โดยนำเนื้อทุเรียนพันธุ์ Musang King มาใช้ในการหมักเบียร์ควบคู่ไปกับฮอปส์1 ผลไม้ ข้าวบาร์เลย์ ยีสต์ และน้ำ ทั้งนี้ Musang King Ale มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5% มีกลิ่นทุเรียนบาง ๆ กับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ดื่มง่ายและสดชื่น ซึ่งนับเป็นความแปลกใหม่และที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยสำหรับผู้หลงใหลในทุเรียน

แม้เนื้อทุเรียนจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่โดยที่เปลือกทุเรียนรับประทานไม่ได้ จึงมักถูกเผาทิ้งจนกลายเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปลือกทุเรียนมีสัดส่วนประมาณ 60% ของทุเรียนหนึ่งลูก โดยศาสตราจารย์ William Chen ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University – NTU) ให้ข้อมูลว่า เปลือกทุเรียนสามารถแปรรูปให้เป็นทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณค่าได้ จากกระบวนการการหั่นเปลือกทุเรียนเป็นแว่นแล้วทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze-dried) เพื่อสกัดผงเซลลูโลส2 (cellulose powder) ออกจากเปลือกทุเรียน จากนั้นนำไปผสมกับกลีเซอรอล (glycerol)3 เพื่อให้กลายสภาพเป็นไฮโดรเจล (hydrogel) ที่อ่อนนุ่ม และในท้ายที่สุดจะถูกตัดเป็นแผ่นเจลปิดแผล หรือพลาสเตอร์ป้องกันเชื้อแบคทีเรียชนิดเจล

เมื่อเทียบกับพลาสเตอร์ปิดแผลทั่วไป พลาสเตอร์ฯ ชนิดเจลจะช่วยบริเวณแผลเย็นและชุ่มชื้นได้ ซึ่งจะช่วยเร่งการรักษาแผลให้เร็วขึ้น การผลิตพลาสเตอร์ป้องกันแบคทีเรียโดยวัสดุเหลือใช้และยีสต์นั้นช่วยลดต้นทุน เนื่องจากพลาสเตอร์ป้องกันแบคทีเรียทั่วไปใช้สารประกอบโลหะที่มีราคาแพงกว่า เช่น เงิน (silver) หรือ ทองแดง (copper) ทั้งนี้ พลาสเตอร์ที่ทำจากเจลใช้วัสดุอินทรีย์จึงสามารถย่อยสลายได้ง่าย และน่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลาสเตอร์สังเคราะห์ทั่วไปด้วย


ปัจจุบัน นักวิจัยกำลังเจรจากับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อขยายการผลิตพลาสเตอร์จากทุเรียน โดยคาดว่าพลาสเตอร์ชนิดเจลจะเข้าสู่ตลาดได้ภายในเวลาประมาณ 2 ปี และต้นทุนของพลาสเตอร์จะแข่งขันในตลาดได้เมื่อฐานการผลิตขยายใหญ่ขึ้น พลาสเตอร์จากเปลือกทุเรียนนี้ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีทำให้ “ไร้กลิ่น” ดังนั้น สำหรับบางคนที่ไม่โปรดปรานกลิ่นทุเรียนจึงไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

เปลือกมังคุดสารพัดประโยชน์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 อาจารย์จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยผลวิจัย “สารแซนโทน” (Xanthone) จากเปลือกมังคุดมีสรรพคุณทางการแพทย์คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ สมานแผลรักษาเซลล์มะเร็ง และฆ่าเชื้อก่อโรคทางเดินระบบหายใจร้ายแรงได้ เช่น เชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา เชื้อก่อโรคผิวหนังอักเสบและสิว และคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น HIV H5N1 เป็นต้น


การนำเปลือกด้านในของมังคุดมาผ่านกรรมวิธีพิเศษทางเคมีจะสกัดได้สารแซนโทนในปริมาณสูง โดยจะอยู่ในรูปแบบผง ซึ่งเก็บได้นานประมาณ 2 – 3 ปี หลังจากนั้นจะนำสารแซนโทนมาปรับปรุงด้วยกระบวนการทางเคมี เพื่อให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคร้ายแรงที่เพิ่มขึ้น และตรึงโมเลกุลของสารแซนโทนให้ติดบนผิววัสดุการแพทย์หลายชนิด เช่น หน้ากากอนามัย พลาสเตอร์ น้ำยาทาแผล เป็นต้น

แหล่งที่มา: https://nia.or.th

แผ่นผ้าก๊อซปิดแผลสำหรับแผลที่มีขนาดค่อนข้างกว้างและใหญ่ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุด ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้นำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ และมีเชื้อดื้อยาต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3 เดือน ไม่สามารถกลับบ้านได้ ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ภายหลังใช้แผ่นก๊อซสกัดจากเปลือกมังคุด 12 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ แผ่นกรองอากาศเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด

นอกจากสารพัดสรรพคุณทางการแพทย์ที่กล่าวไปแล้วนั้น ผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดยังมีราคาย่อมเยาและไม่เกิดอาการแพ้ เนื่องจากมีการทดลองในผิวหนังของกระต่าย และที่สำคัญที่สุดคือทุกกระบวนการ ทั้งการวิจัย ผลิต และพัฒนา เป็นฝีมือของคนไทย

นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลด “ขยะ” โดยแปรรูป “สิ่งที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร” ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง แต่ยังช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย

ข้อคิดเห็น

เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้ ทั้งทุเรียนและมังคุดซึ่งเป็นราชาและราชินีแห่งผลไม้ ลำดับต้นของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถศึกษาตลาดสินค้าแปรรูประดับสูงที่ผลิตจากทุเรียน มังคุด และผลไม้ต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิงคโปร์ โดยสามารถนำข้อได้เปรียบของคุณภาพของผลไม้ไทยซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาเป็นแต้มต่อในการส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเพิ่มพูนการค้าสินค้าแปรรูปจากผลไม้ กับต่างประเทศ อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือการแปรรูปสินค้าเกษตร/ส่วนเกินจากสินค้าเกษตรเพื่อนำเสนอสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ให้กับสังคม รวมถึงการศึกษาการขยายตลาดสินค้ารูปแบบใหม่ดังกล่าวภายในประเทศไทยด้วย


1 ฮอปส์ (Hops) เป็นหนึ่งในสี่ส่วนผสมสําคัญของเบียร์ควบคู่ไปกับข้าวบาร์เลย์ ยีสต์และน้ํา ซึ่ง Hops เป็นดอกไม้ทรงกรวยขนาดเล็กสีเขียว มีลักษณะคล้ายเถาวัลย์โคนต้นสน

2 เซลลูโลส (cellulose) เป็นโครงสร้างหลักของผนังเซลล์พืช เช่น ผัก ผลไม้ และ เมล็ดธัญพืช จัดเป็นเส้นใยอาหาร (dietary fiber) ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ และไม่สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์

3กลีเซอรอล (glycerol) สารที่เป็นของเหลว ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสหวานเล็กน้อย ละลายในน้ำได้ดี มีสมบัติในการดูดจับน้ำได้ดี มักเป็นกากของเสียจากอุตสาหกรรมไบโอดีเซล (biodiesel) และสบู่


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง