ในการแถลงงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลสิงคโปร์ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2564 จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles – EVs) เพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามแผน Singapore Green Plan 2030 (SGP 30) โดยได้ออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มเติมสำหรับ EVs (Additional Registration Fee – ARF) จากเดิมที่เคยเก็บค่าธรรมเนียม 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/คัน และการพิจารณาลดภาษียานยนต์ 40% สำหรับ EVs (2) การจัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการใช้ EVs ในระยะเวลา 5 – 10 ปีข้างหน้า เช่น การติดตั้งจุดบริการเติมไฟฟ้า EVs จำนวน 60,000 จุด ภายในปี 2573 และ (3) การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์เพื่อจูงใจการอุปโภค EVs ในสิงคโปร์ให้มากขึ้น  

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency – NEA) และกรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ (Land Transport Authority – LTA) ประกาศมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมสำหรับ EVs 2 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการ Electric Vehicle Early Adoption Incentive (EEAI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2566 ผู้ซื้อ EVs จะได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียม ARF 45% หรือในวงเงินไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ (2) มาตรการ Enhanced Vehicular Emissions Scheme (VES) ตามประเภทและปริมาณการปล่อยมลพิษ/กิโลเมตร ของ EVs ทั้งนี้ เมื่อรวมกับมาตรการใหม่ในช่วงการแถลงงบประมาณประจำปี 2564 ผู้ใช้งาน EVs สามารถได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนค่าธรรมเนียม EEAI-ARF และ VES รวมกันสูงสุด 45,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 1 ล้านบาท)

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ ได้แถลต่อ Committee of Supply ของรัฐสภาฯ ว่า ปัจจุบันรถยนต์ในสิงคโปร์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จำนวน 6.4 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ในระยะยาว รัฐบาลสิงคโปร์จึงมีแผนที่จะส่งเสริมการใช้ EVs อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการยกเลิกการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2568 ซึ่งรวมถึงรถแท็กซี่ (ซึ่งปัจจุบัน 60% ของรถแท็กซี่ในสิงคโปร์ได้ปรับมาใช้ระบบแบบผสมหรือ hybrid แล้ว) เนื่องจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซลจากรถยนต์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในสิงคโปร์ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะออกข้อบังคับให้การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในสิงคโปร์ทุกคันจะต้องใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นภายในปี 2573 นอกจากนี้ นายแพทย์ Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการการค้าและอุตสาหกรรมคนที่ 2 ของสิงคโปร์กล่าวแถลงนโยบายต่อ Committee of Supply ของรัฐสภาฯ ในหัวข้อ “Energy Reset” ว่า กระทรวงฯ ได้มอบเงินทุนแก่บริษัท Eigen Energy ซึ่งเป็นธุรกิจ SMEs ในการจัดตั้งสถานีให้บริการพลังงานสะอาดนำร่อง ในเขต Tampines เขต Pasir Ris และ Lakeview ซึ่งจะผสมผสานระบบการจัดเก็บพลังงาน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้า และให้บริการเติมไฟฟ้า EVsที่เร็วที่สุด ซึ่งจะพร้อมเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 

สถิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสิงคโปร์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต: LTA เผยแพร่สถิติเกี่ยวกับ EVs ประจำเดือนมกราคม 2564 ระบุว่าในปัจจุบันว่าสิงคโปร์มีการจดทะเบียน EVs เพียง 1,274 คัน จากรถยนต์ทุกประเภท ที่มีอยู่จำนวน 636,483 คัน ซึ่งบริษัทผู้จำหน่าย EVs ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสิงคโปร์ 3 อันดับแรก ได้แก่ MG ของสหราชอาณาจักร BYD ของจีน และ Tesla ของสหรัฐฯ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้เริ่มนโยบายส่งเสริมการใช้ EVs (EEAI และ Enhanced VES) ส่งผลให้การจำหน่าย EVs ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนมกราคม 2564 เพียงเดือนเดียวมีการจดทะเบียนซื้อ EVs จำนวน 60 คัน ในขณะที่ปี 2563 จำนวนการลงทะเบียนซื้อและนำเข้า EVs ตลอดทั้งปีมีจำนวนเพียง 100 คัน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 หนังสือพิมพ์ The Straits Times รายงานว่าบริษัท Tesla ได้จัดกิจกรรมจำหน่าย EVs ในสิงคโปร์อย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยรถยนต์ Tesla รุ่น model 3 Standard Range จำหน่ายที่ราคา 113,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/คัน หรือประมาณ 2.57 ล้านบาท/คัน [ไม่รวมค่าธรรมเนียมยื่นขอสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ (COE)]

The loan will be available from March 1, and applies to the purchase of new and used electric and hybrid vehicles.
แหล่งที่มา: Tesla

อีกทั้งภาคธนาคารในสิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสิงคโปร์โดยร่วมกับบริษัทต่าง ๆ จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้แก่ผู้ซื้อ EVs ได้แก่ (1) ธนาคาร DBS ร่วมกับบริษัท Tesla โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อรถ EVs ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์เชื้อเพลิง และจะเริ่มให้บริการเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 64 และ (2) ธนาคาร OCBC ได้ลงนาม MoU กับบริษัท Charge+ เพื่อสนับสนุนให้ผู้พัฒนาและเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ติดตั้งสถานีเติมไฟฟ้ารถ EVs จำนวน 10,000 สถานีภายในปี 2573 

อย่างไรก็ตาม นาย Walter Theseira นักเศรษฐศาสตร์คมนาคม มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ของสิงคโปร์ (SUSS) ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมการใช้ EVs จะยังคงมีอุปสรรคเนื่องจากค่าไฟฟ้า ณ จุดบริการเติมไฟฟ้า EVs มีอัตราสูงกว่าค่าไฟที่เป็นสาธารณูปโภคครัวเรือนประมาณ 2 – 2.5 เท่า ดังนั้น EVs จึงอาจไม่ได้รับความนิยมในฐานะรถยนต์ทางเลือกเท่ากับที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ การเพิ่มจุดบริการเติมไฟฟ้า EVs จาก 2,000 แห่ง เป็น 60,000 แห่งในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ก็ยังคงมีข้อจำกัดด้านสถานที่และความคุ้มทุน 

การส่งเสริมการใช้ EVs จะเป็นประโยชน์ต่อนโยบายการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ ดังนี้ (1) การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สิงคโปร์ยังคงเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันอยู่เป็นระยะ ทั้งฝุ่นจากไฟป่าที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะ และปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 จากยานพาหนะ การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ EVs ซึ่งใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นประโยชน์ต่อแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างประเทศสีเขียวของสิงคโปร์ (2) การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีรถยนต์ทางเลือกในภูมิภาค แม้ว่าสิงคโปร์จะมีตลาดภายในประเทศขนาดเล็ก แต่ก็มีข้อได้เปรียบด้านบุคลากรและศูนย์รวมวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สิงคโปร์จึงสามารถดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน EVs ชั้นนำของทั่วโลกได้ โดยเน้นการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งในด้านสถานที่ตั้ง สำนักงาน และการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี EVs และ (3) การพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาประเทศที่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้ EVs นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะแล้ว สิงคโปร์น่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่พัฒนา EVs ไปสู่การใช้ระบบรถยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง