โอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดผลไม้และสินค้าออร์แกนิคในสิงคโปร์

ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโควิด-19 ชาวสิงคโปร์ทุกช่วงวัยยิ่งให้ความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยตระหนักว่าการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ดังนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าออร์แกนิคในสิงคโปร์จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก NTUC FairPrice กลุ่มบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดและมีสาขามากที่สุดในสิงคโปร์ ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิคทั้งสดและแห้งที่ FairPrice นำมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 200 รายการ เป็น 800 รายการในปัจจุบัน และมียอดจำหน่ายสินค้าออร์แกนิคยังคงเติบโตขึ้นทุกปี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดสินค้าออร์แกนิคที่น่าจับตามอง คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวสิงคโปร์ที่ชอบความเป็นระบบ มีระเบียบ การศึกษาสูง ทำให้มีรายได้ค่อนข้างสูงและมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ยสูงกว่าประชาชนของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยจึงยินดีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น กอปรกับคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ Health Promotion Board: HPB ของรัฐบาลสิงคโปร์ (เทียบเท่า สสส. ของไทย) มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการบริโภค โดยเน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการออกกำลังกายมากขึ้น นอกจากนี้ สิงคโปร์มีกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มากกว่า 30% และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดสินค้าและบริการด้านสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

โดยที่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ และไม่มีที่ดินสำหรับการเกษตร ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากกว่า 90% ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามเพิ่มการผลิตอาหารภายในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Urban Farming โดยตั้งเป้าหมายการเพิ่มการผลิตอาหารภายในประเทศให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 (30×30 Policy) อย่างไรก็ตาม อาหารที่สิงคโปร์ผลิตเองได้ยังคงเป็นผัก ไข่ไก่ และปลา และยังคงต้องนำเข้าผลไม้สดจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงยังคงมีโอกาสในการเพิ่มพูนการส่งออกผลไม้คุณภาพดีไปยังสิงคโปร์ได้ โดยผลไม้ที่เป็นที่นิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ สัปปะรด มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย และทุเรียน  

สถานการณ์ตลาดผลไม้ในสิงคโปร์ ณ ปัจจุบัน 

ประเทศที่สิงคโปร์นำเข้าผลไม้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) สหรัฐฯ (14.78%) 2) จีน (12.15%) 3) มาเลเซีย (10.90%) 4) ออสเตรเลีย (9.33%) และ 5) แอฟริกาใต้ (6.46%) โดยนำเข้าผลไม้จากไทยเป็นอันดับที่ 8 มีส่วนแบ่งการตลาด 4.67% ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าผลไม้ในสิงคโปร์อีกมาก

สถิติการส่งออกผลไม้ไทยมายังสิงคโปร์ ประจำปี 2563 ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ ระบุว่า กลุ่มผลไม้ที่สิงคโปร์นำเข้าจากประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) สัปปะรด อะโวคาโด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (41.20%) 2) ทุเรียน ทับทิม มะขาม (25.97%) 3) เมลอน แตงโม มะละกอสด (3.20%) 4) ผลไม้อบแห้ง (2.37%) และ 5) ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาทิ มะนาว ทั้งสดและแห้ง (1.64%)

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งสำคัญของผลไม้ไทยในตลาดสิงคโปร์ ได้แก่ 1) ผลไม้เมืองหนาวจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ แต่ก็มีราคาที่สูงมากเช่นกัน และ 2) ประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลไม้ใกล้เคียงกับไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ได้ไม่ยาก โดยจะต้องรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมหน้าดินด้วยวิธีธรรมชาติและใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดภัย รวมถึงการควบคุมปริมาณสารตกค้าง ซึ่งต้องไม่เกินมาตรฐานที่ทาง Singapore Food Agency (SFA) กำหนด เพื่อการป้องกันไม่ให้สินค้าถูกปฏิเสธการนำเข้าสิงคโปร์

ทำความรู้จักกับกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ในสิงคโปร์

ผู้บริโภคที่สำคัญและเป็นแรงขับเคลื่อนของตลาดมีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1) กลุ่มวัยรุ่น/คนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่มีความตระหนักรู้เรื่องการรักษาสุขภาพมากที่สุด และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนกลุ่มนี้จะตัดใจซื้ออย่างรวดเร็ว และนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยผลไม้ที่เชื่อถือได้ สดใหม่ และราคาย่อมเยาว นอกจากนี้ กลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่สิงคโปร์ยังมีกระแสความนิยมอาหารในรูปแบบ Healthy Bowls หรือการนำพืชพรรณที่ให้สารอาหารบำรุงร่างกายมารวมอยู่ในชามเดียว ซึ่งประกอบด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ทางเลือก โดยแม้ว่า Healthy Bowls จะมีราคาสูงกว่าอาหารจานหลักทั่วไป แต่ก็เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และเติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มความต้องการนำเข้าผักและผลไม้ (ทั้งสดและอบแห้ง) ในสิงคโปร์มากขึ้นด้วย

2) กลุ่มผู้สูงอายุ (Aging-Society) คาดการณ์ว่าในปี 2578 สิงคโปร์จะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีกำลังการใช้จ่าย และมีแนวโน้มที่จ่ายเพิ่มขึ้นหากได้รับสินค้า/บริการที่ดี ดังนั้น ประชากรกลุ่มนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ต้องการหลีกเลี่ยงอาหารที่จะสะสมสารพิษในร่างกาย และหันมารับประทานอาหารสุขภาพมากขึ้น

3) กลุ่มชาวต่างชาติในสิงคโปร์ โดยเฉพาะชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว และมีความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีปนเปื้อนต่าง ๆ ในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเลือกซื้อผลไม้และอาหารเพื่อสุขภาพที่นำเข้ามาจากประเทศของตน

 อนึ่ง การนำเข้าผลไม้ในสิงคโปร์ไม่ใช่เพียงแต่นำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (re-export) ไปยังอินโดนีเซียและบรูไนด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรรักษาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง