การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภาคการเกษตรในมาเลเซีย

ผลกระทบต่อการนำเข้าอาหารของสิงคโปร์ และโอกาสของผู้ประกอบการไทย

จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ตามด้วยภัยแล้งในมาเลเซียเมื่อเดือนธันวาคม 2564 จนถึงมกราคม 2565 ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในรัฐยะโฮร์บาห์รู (Johor Bahru) เสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรของมาเลเซียอย่างรุนแรงในรอบหลายปี ทั้งยังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในการนำเข้าอาหารของสิงคโปร์ เนื่องจากมาเลเซียเป็นแหล่งนำเข้าอาหารอันดับ 1 ของสิงคโปร์

สื่อมวลชนท้องถิ่นและประชาชนในสิงคโปร์มีความตื่นตัวว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2565 นี้ สินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรบางประเภทที่นำเข้าจากมาเลเซีย เช่น ผัก ผลไม้ (ทุเรียน) และไข่เป็ด อาจมีปริมาณ ไม่เพียงพอ และอาจส่งผลให้อาหารและพืชผักบางประเภทราคาแพงขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้สิงคโปร์ต้องหาแหล่งนำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรจากประเทศอื่น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และอาจเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่รู้เท่าทันสถานการณ์ในเวลานี้

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตรในมาเลเซีย

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 มาเลเซียประสบภัยพิบัติอันเนื่องมาจาก Climate change โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รัฐยะโฮร์-บาห์รู เป็นพื้นที่เพื่อนบ้านที่สำคัญและเป็นแหล่งนำเข้าอาหารหลักให้สิงคโปร์ โดยในช่วง ปลายเดือนธันวาคม 2564 ถึง มกราคม 2565 กรมชลประทานและการระบายน้ำของรัฐยะโฮร์บาห์รูรายงานว่า ปริมาณฝนระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 (7 วัน) สูงถึง 1,448 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่วัดได้ 30.6 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับข้อมูลพยากรณ์จากเว็บไซต์ weather.com ช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 27 มกราคม 2565 (27 วัน) วัดปริมาณน้ำฝนได้เพียง 515.3 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 31.8 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากภัยน้ำท่วม (อุทกภัย) สู่ภัยแล้ง (ฉาตกภัย) อย่างฉับพลันและรุนแรงเพียงช่วงข้ามเดือน และส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างยิ่ง สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์รายงานว่า อากาศร้อนและความแห้งแล้งที่เกิดหลังช่วงฝนตกหนักนั้น ทำให้ชาวไร่แตงกวารายหนึ่งสูญเสียผลผลิตแตงกวากว่า 10,000 กิโลกรัม (คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 64,600 บาท) นอกจากนี้ ไร่ทุเรียนหลายแห่งก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยเกษตรกรไม่มี ผลทุเรียนที่สมบูรณ์พอจะส่งมาจำหน่ายที่สิงคโปร์ได้ภายหลังน้ำท่วม เกษตรกรหลายรายในมาเลเซียเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอากาศที่ร้อนขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 2 – 3

โอกาสและการต่อยอดของผู้ประกอบการไทยในตลาดสิงคโปร์

แม้สิงคโปร์จะเป็นตลาดเล็กโดยมีพลเมืองประมาณ 5 ล้านคน แต่สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำเข้าอาหารกว่าร้อยละ 90 และต้องกระจายแหล่งนำเข้าอาหาร (Diversifying food sources) ให้มากที่สุด ปัจจุบันสิงคโปร์นำเข้าอาหารจากทั่วโลกมากกว่า 170 ประเทศ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับหนึ่งให้แก่สิงคโปร์ ดังนั้นหากมาเลเซีย ยังไม่สามารถรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรได้ในระยะยาว สิงคโปร์ก็อาจมองหาแหล่งนำเข้าผักและผลไม้อื่น ๆ จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีคุณภาพดี ขนส่งสะดวก และราคาย่อมเยา ซึ่งผลผลิตจากประเทศไทยก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับสิงคโปร์

ตารางแสดงประเทศ ปริมาณ และมูลค่าสินค้าผักนำเข้ามายังสิงคโปร์ ปี 2554 – 2563

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพ ในการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมสูง สินค้าส่งออกสำคัญอาทิ ข้าว น้ำตาล ผัก และผลไม้ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์นำเข้าผักสดจากไทยเพียงร้อยละ 4 แต่นำเข้าจากมาเลเซียมากถึงร้อยละ 64 และจีน ร้อยละ 24 ดังนั้น ไทยจงควรใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งซึ่งห่างจากสิงคโปร์เพียง 730 กิโลเมตรจากสิงคโปร์ (จากอำเภอเบตง จังหวัดยะลาถึงสิงคโปร์) และคุณภาพของผักผลไม้ไทยซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ดังนี้

1) สินค้าประเภทผัก เกษตรกรไทยซึ่งกังวลเรื่องการเปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จะทำให้ไทยนำเข้าผลผลิตจากจีนมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์การเกษตรในประเทศราคาตกต่ำลงนั้น ควรใช้โอกาสนี้ในการระบายอุปทานส่วนเกินของผลผลิตการเกษตรมายังตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้น

2) สินค้าประเภทผลไม้ นอกจากผลไม้ทั่วไปที่ส่งออกมายังสิงคโปร์แล้ว ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดทุเรียนในสิงคโปร์เพิ่มเติม เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยมในสิงคโปร์และสามารถทำกำไรได้ดี แต่ชาวสิงคโปร์ยังนิยมทุเรียนแบบสุกมาก ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ Maosanwang รสชาติขมอมหวานจากมาเลเซีย โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 26 -30 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (640 บาท – 733.50 บาท)1 ต่อกิโลกรัม (ในขณะที่ข้อมูลราคาทุเรียนไทยพันธุ์หมอนทอง (เกรดส่งออก AB) ประจำเดือนเมษายน 2564 โดยการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 90-175 บาทต่อกิโลกรัม) หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาหรือจัดสรรพันธุ์ทุเรียนที่ใกล้เคียงกันมาจำหน่ายในสิงคโปร์ได้ ก็ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของไทยในตลาดทุเรียนสิงคโปร์

3) สินค้าประเภทอื่น ๆ ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปสิงคโปร์อยู่แล้วได้ เช่น เนื้อสัตว์ ปลาทูน่า และไข่ไก่ เป็นต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง