ความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) ในภาคสาธารณสุขของสิงคโปร์

นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) และรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Vibrant Partnerships Enabling Robotics In How We Live, Work & Play” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ประชาสัมพันธ์โครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ตะวันออกของสิงคโปร์ Changi General Hospital (CGH) กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์เพื่อพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์ และทดสอบการผสมผสานการใช้งานของหุ่นยนต์ในอาคารและในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุข คุณภาพชีวิตและช่วยสนับสนุนนโยบายชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) ของสิงคโปร์

วิทยาการหุ่นยนต์ในสิงคโปร์ และความร่วมมือรัฐ-เอกชนสิงคโปร์ ด้านหุ่นยนต์ในภาคสาธารณสุข

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบอัตโนมัติมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากเกาหลีใต้ โดยมีหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 600 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน (60 ตัวต่อ 1,000 คน) ถึงแม้ในปี 2564 จำนวนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอาจยังมีไม่มากนัก คือเพียง 3 ล้านตัวต่อจำนวนคนงาน 3,000 ล้านคนทั่วโลก (1 ตัวต่อ 1,000 คน) แต่หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในภาคสาธารณสุข โรงพยาบาลในสิงคโปร์ อาทิ Changi General Hospital (CGH) ได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาการ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการปรับปรุงคุณภาพการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม เช่น 1) หุ่นยนต์ทำความสะอาด 2) โดรนตรวจสอบด้านหน้าอาคาร 3) ยานพาหนะอัตโนมัติส่งมอบอาหาร ผ้าต่าง ๆ และเครื่องอุปโภคบริโภคหลายพันรายการทุกวันให้กับผู้ป่วยทั่วทั้งโรงพยาบาล 4) หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับนักบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมอง 4) หุ่นยนต์ช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี

เมื่อโรงพยาบาลเริ่มใช้หุ่นยนต์จำนวนมากขึ้นเพื่อขยายขอบเขตงาน ความซับซ้อนของการประสานงานและการปรับใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก หุ่นยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่ต้องหลีกเลี่ยงการชนระหว่างกัน หลีกเลี่ยงผู้คนจำนวนมาก รถเข็นของ หรือรถเข็นสำหรับผู้ป่วย ดังนั้น โรงพยาบาลจึงเริ่มดำเนินการโครงการต่าง ๆ ดังนี้

1) หน่วยงาน Center for Healthcare Assistive and Robotics Technologies (CHART) ของโรงพยาบาล CGH ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (MOH) บริษัทวิศวกรรม HOPE Technik และพันธมิตรอื่น ๆ ได้พัฒนา Robotic Middleware for Healthcare (RoMi-H) เครื่องแรกของโลก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่หุ่นยนต์สามารถนำทางได้ด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมที่มีมนุษย์จำนวนมาก หรือเส้นทางแคบ ๆ  รวมถึงพัฒนาระบบการชาร์จแบบสากล โดย RoMi-H ประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้งานในโรงพยาบาลของรัฐและสถานบำบัดรักษาโควิด-19

2) โครงการ National Robotics Programme (ภายใต้หน่วยงาน Enterprise Singapore – ESG) ร่วมมือกับโรงพยาบาล CGH และ บริษัท HOPE Technik เพื่อพัฒนามาตรฐานใหม่ Technical Reference 93 (TR93) สำหรับสถาปัตยกรรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กลมกลืนกันระหว่างหุ่นยนต์ ลิฟต์ และทางเข้าประตูอัตโนมัติ มาตรฐานนี้ช่วยให้นำหุ่นยนต์ไปใช้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และบูรณาการภายในอาคาร รวมทั้งเป็นแนวทางให้กับผู้ผลิตหุ่นยนต์และเจ้าของอาคารในการปรับใช้หุ่นยนต์หลายตัวในอาคารอัจฉริยะ

โครงการปรับปรุงคุณภาพชีวิต Vibrant @ East Coast ใน สิงคโปร์ 

โรงพยาบาล CGH และบริษัท CapitaLand Investment Limited (CLI) ได้ร่วมก่อตั้งโครงการ Vibrant @ East Coast ในปี 2564 ซึ่งเป็นการรวบรวมสถาบัน บริษัท และชุมชนเพื่อปรับปรุงคุณภาพและประสบการณ์การใช้ชีวิตของผู้พักอาศัยในชายฝั่งตะวันออกของสิงคโปร์ โดยโรงพยาบาล CGH ได้พัฒนานวัตกรรม CHART และห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ส่วนบริษัท CLI ได้ก่อตั้ง Smart Urban Co-Innovation Lab ซึ่งในมุมมองของสิงคโปร์ ถือเป็นห้องทดลองด้านอุตสาหกรรมการพัฒนาการแก้ปัญหาและตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2565 พันธมิตรทั้ง 2 รายได้ขยายความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตลิฟต์ KONE เพื่อทดสอบการใช้งานหุ่นยนต์ฟังก์ชันหลากหลายพร้อมกับการใช้ลิฟต์โดยใช้มาตรฐาน TR93 ซึ่งถือเป็นการปรับใช้หุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการเคลื่อนไหวทางราบและการขึ้นลงอาคารสูง และได้ทำการทดสอบที่ 1) ชุมชน Heartbeat @ Bedok 2) อาคารสำนักงาน The Galen ที่ Science Park 2 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี บริษัทมากกว่า 25 แห่ง รวมถึงผู้ผลิตหุ่นยนต์ ผู้ผลิตลิฟต์/ประตู และฝ่ายจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แสดงความสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

โรงพยาบาลในประเทศไทยได้ใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ในหลายด้าน เช่น หุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหัวใจและมะเร็งต่อมลูกหมากของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณและโรงพยาบาลกรุงเทพ รวมถึงหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผ่านระบบกล้อง Laparoscope ที่โรงพยาบาลปิยะเวท ถือเป็นหนึ่งเส้นทางที่ตอกย้ำถึงความพร้อมในการผลักดันให้เมืองไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการแพทย์ในเอเชีย (Medical Hub) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยโรงพยาบาลศิริราชได้เริ่มนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดตัวแรกมาใช้เมื่อ 5 ปีก่อน โดยได้ช่วยผ่าตัดคนไข้ไปแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาคเอกชน เช่น บริษัท AIS ได้สร้าง AIS ROBOTIC LAB เมื่อปี 2563 เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ 5G ช่วยทีมแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และได้ส่งมอบหุ่นยนต์จำนวน 23 ตัว ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ กว่า 22 แห่ง โดยหุ่นยนต์สามารถตรวจอุณหภูมิร่างกาย ค่าออกซิเจนในเลือดและจัดส่งยาให้ผู้ป่วย รวมทั้งมีระบบปรึกษาทางไกลระหว่างคนไข้และแพทย์ ช่วยให้การตรวจติดตามอาการผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยด้านวิทยาการหุ่นยนต์สามารถศึกษาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มเติมรูปแบบการใช้งานของหุ่นยนต์ทั้งด้านการแพทย์ การนำมาใช้ในชุมชนและอาคารสถานที่เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสังคมจากสิงคโปร์ได้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง