ธุรกิจดาตาเซนเตอร์ในสิงคโปร์ก้าวสู่อันดับ 2 ของโลกเทียบเท่า Silicon Valley

ในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่องค์กรต้องบริหารจัดการข้อมูลมหัต หรือ Big Data รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของกิจกรรมการซื้อขายคริปโต เทคโนโลยีบล็อกเชน เกมออนไลน์ จักรวาลนฤมิต (Metaverse) และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจากในออฟฟิศเป็นทำงานที่บ้านและแบบผสม ส่งผลให้ความต้องการบริการด้านเครือข่ายและด้านไอทีสูงขึ้น อุปสงค์สำหรับการใช้ “ดาตาเซนเตอร์” (data centres) หรือศูนย์จัดเก็บ ประมวลผล และส่งข้อมูลจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์ก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางของดาตาเซนเตอร์ในภูมิภาคและทั่วโลก บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield ได้จัดทำรายงานการจัดอันดับตลาดของดาตาเซนเตอร์ทั่วโลกปี ค.ศ. 2022 ระบุว่า สิงคโปร์ขึ้นเป็นอันดับที่ 2 จาก 55 เมืองทั่วโลก เทียบเท่ากับ Silicon Valley นครชิคาโก และนครแอตแลนตาของสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 1 นอร์ทเธิร์น เวอร์จิเนีย อันดับที่ 6 ฮ่องกง อันดับที่ 8 ซิดนีย์) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์มีข้อได้เปรียบ คือ 1) ขนาดตลาด 2) การเชื่อมต่อไฟเบอร์บรอดแบนด์ที่แข็งแกร่ง 3) ความพร้อมใช้งานของบริการคลาวด์ 4) ที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์ (คือเป็นศูนย์กลางเครือข่ายสายเคเบิลใต้ทะเลที่หนาแน่นและเชื่อมต่อกับดินแดนต่าง ๆ ในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา) และ 5) นโยบายส่งเสริมธุรกิจของรัฐบาล เช่น อัตราภาษีต่ำ

จากข้อมูลของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ในปี 2564 สิงคโปร์มีดาตาเซนเตอร์มากกว่า 70 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตด้านไอทีรวมอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และมูลค่าการลงทุนดาตาเซนเตอร์รวม 397.82 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2563 ทั้งนี้ บรรษัทข้ามชาติรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่มาลงทุนในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) บริษัท Digital Realty ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเปิดดาตาเซนเตอร์ 3 แห่ง 2) บริษัท Google มีดาตาเซนเตอร์ 3 แห่งในสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2554 คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ปี 2564 บริษัทโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล Equinix ได้เปิดดาตาเซนเตอร์แห่งที่ 5 มูลค่า 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4) ปลายปี 2565 บริษัท Meta Platforms (เจ้าของ Facebook) คาดว่าจะเปิดดาตาเซนเตอร์ มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์และถือเป็นแห่งแรกในเอเชีย

ในมุมมองของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ การเติบโตของธุรกิจดาตาเซนเตอร์ส่งผลดีต่อค่าเช่าที่สูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่สำหรับ co-location1 เนื่องจากอุปทานที่จำกัดและต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ดาตาเซนเตอร์ co-location ให้ผลตอบแทนถึง 6.5% เมื่อเทียบกับพื้นที่ค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีก ซึ่งผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 4.5%

การสร้างดาตาเซนเตอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก

ดาตาเซนเตอร์ถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ในเอเชีย-แปซิฟิก ดาตาเซนเตอร์ในจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอินเดียใช้พลังงานมากที่สุด โดยในแต่ละประเทศใช้มากกว่า 500 เมกะวัตต์ต่อปี (โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 500 เมกะวัตต์สามารถผลิตพลังงานสำหรับจ่ายไฟถึง 4,000,000 หลอดตลอดทั้งปี) ดาตาเซนเตอร์ในภูมิภาคนี้ต่างมองหาวิธีลดปริมาณ carbon footprint ซึ่งตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ในสหราชอาณาจักร JLL พบว่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า ผู้ให้บริการดาตาเซนเตอร์ในภูมิภาคจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยภายในปี 2566 ประมาณ 50% ของผู้ให้บริการดาตาเซนเตอร์วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีระบายความร้อนด้วย AI ที่ไม่เพียงช่วยลดการใช้พลังงาน แต่ยังลดของเสียและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น บริษัท Google ใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นที่ควบคุมโดย AI แบบอัตโนมัติทั้งหมดช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 40%

สำหรับสิงคโปร์ จากรายงานเศรษฐกิจสีเขียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2573 ดาตาเซนเตอร์จะใช้พลังงานถึง 12% ของการบริโภคพลังงานในประเทศทั้งหมด ในปี 2566 อุปทานของดาตาเซนเตอร์ในสิงคโปร์จะจำกัดอยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 ของสิงคโปร์ ดังนั้น ผู้ให้บริการดาตาเซนเตอร์ในสิงคโปร์จึงต้องปรับตัวกับมาตรฐานการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และพัฒนากลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน เช่น บริษัท Keppel เจ้าของดาตาเซนเตอร์ 6 แห่งในสิงคโปร์ กำลังทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมดาตาเซนเตอร์และรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อเร่งการใช้พลังงานสีเขียวและการนำไฮโดรเจนมาใช้ในสิงคโปร์ รวมถึงการสำรวจเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาตาเซนเตอร์แบบลอยน้ำ (floating data centres) และนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์พลังงานมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ   

สำหรับประเทศไทย ตลาดดาตาเซนเตอร์ในช่วงปี 2564 – 2570 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 7.7% และคาดว่าในปี 2565 – 2570 จะมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีและพัฒนาดาตาเซนเตอร์กว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ บริษัท Tencent และ Alibaba ของจีนได้เปิดตัวดาตาเซนเตอร์คลาวด์ในประเทศไทยแล้ว และ ในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทั้ง Amazon Web Service (AWS) Microsoft และ Google ก็น่าจะเข้ามาลงทุนด้วย นอกจากนี้ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นเขตการลงทุนด้านดาตาเซนเตอร์ที่สำคัญ รองจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทโทรคมนาคมสิงคโปร์ Singtel ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตพลังงานประเทศไทย Gulf Energy และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Advanced Info Services (AIS) เพื่อจัดตั้งและดำเนินธุรกิจดาตาเซนเตอร์ในประเทศไทย ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจดาตาเซนเตอร์ระดับภูมิภาคกับพันธมิตร และใช้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งนี้ การขยายธุรกิจดาตาเซนเตอร์ของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศสู่ประเทศไทย จะส่งเสริมให้วิสาหกิจและผู้ประกอบการของไทยร่วมมือและสร้างเครือข่ายด้านดาตาเซนเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานไอทีกับต่างประเทศ ตลอดจนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญยิ่งในขณะนี้


1 การให้บริการเช่าพื้นที่และบริหารจัดการระบบ Server/Data Centre แบบครบวงจร มีความปลอดภัยสูง และมีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่สุด เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบควบคุมความชื้น และระบบดับเพลิง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง