บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาธุรกิจ DinarStandard และสื่อออนไลน์ SalaamGateway.com คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลก (State of the Global Islamic Economy – SGIE) จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 SGIE มีมูลค่ารวม 2.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 3.2 แบบ YOY ส่วนปี 2563 หดตัวร้อยละ 8 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีมูลค่าประมาณ 1.86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า SGIE จะฟื้นตัวในปีนี้ และจะขยายตัวจนมีมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567

สิงคโปร์เป็นตลาดที่มีศักยภาพและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 15 ของดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก จากที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อน1 ถือเป็นความสำเร็จสำหรับประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมเพียงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด โดยภาคอุตสาหกรรมอิสลามที่สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ใน 10 คือ 1) กลุ่มอาหารฮาลาล (เป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย) 2) กลุ่มยา/เครื่องสำอาง (เป็นลำดับที่ 3 รองจากมาเลเซีย และ UAE)  3) กลุ่มสื่อบริการ (เป็นลำดับที่ 3 รองจาก UAE  และมาเลเซีย) และ 4) การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม เป็นลำดับที่ 9 (อันดับ 1 – 4 ได้แก่ มาเลเซีย UAE ตุรกี และไทย)

ปัจจุบัน ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเจาะตลาดฮาลาลและมุสลิมของสิงคโปร์        

ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสลามในสิงคโปร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มการเงิน) และเติบโตเร็วที่สุด ภาครัฐและเอกชนต่างสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมให้เติบโต ดังนี้

(1) ภาครัฐ สภาศาสนาอิสลามแห่งสิงคโปร์ (Islamic Religious Council of Singapore – MUIS) กล่าวในที่ประชุมเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า MUIS มุ่งเน้นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยในปี 2562 สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล จำนวน 4,385 แห่ง (เป็นผู้ผลิตร้อยละ 19)

(2) ภาคเอกชน มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ได้รับมาตรฐานสินค้าฮาลาลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก เช่น ซาอุฯ UAE อียิปต์ ตุรกี ปากีสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ องค์กรในสิงคโปร์หลายแห่งยังได้พัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การผลิตอาหารที่พร้อมรับประทานหรืออาหารแช่แข็ง สำหรับผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดด้านเวลาในชีวิตประจำวัน หรือการผลิตโปรตีนทางเลือก เช่น เนื้อสัตว์ทางเลือก สาหร่าย โปรตีนจากพืช/เห็ด และนม ถือเป็นกระแสใหม่ในวงการอาหารฮาลาลที่ได้รับผลตอบรับที่ดี

กลุ่มยา/เครื่องสำอางฮาลาล เติบโตร้อยละ 2.9 ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2567 จะมีมูลค่าถึง 76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดสิงคโปร์ กลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจและมีศักยภาพคือผู้บริโภควัยทำงานและวัยรุ่น โดยบริษัทหลายแห่งเน้นการตลาดดิจิทัลซึ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ         

กลุ่มสื่อบริการฮาลาล ถึงแม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา แต่สิงคโปร์ยังเป็นตลาดที่เติบโตและมีศักยภาพสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ Startup ที่พัฒนาสื่อบริการและกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานในหลาย ๆ กลุ่ม เช่นบริษัท Bits Media ของสิงคโปร์ก่อตั้งเมื่อปี 2552 ผู้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน “Muslim Pro” ที่มีชื่อเสียงในตลาดอิสลามทั่วโลก โดยสามารถบอกเวลาละหมาดในท้องถิ่นและทิศทางของนครเมกกะ รวมถึงเพลย์ลิสต์ของข้อพระคัมภีร์ และการอ่านอัลกุรอานที่เปิดตัวในช่วงเดือนรอมฎอน หรือบริษัท CollabDeen ธุรกิจดิจิทัล B2B (Business-to-Business) ด้านแพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ที่ถึงแม้จะเป็นการสร้างแบรนด์และแอปพลิเคชันของชาวมุสลิม แต่สามารถประยุกต์กับการผลิตสื่อของศาสนา ชุมชน และองค์กรอื่น ๆ ได้ อาทิ แพลตฟอร์มฉลากสีขาวสำหรับโบสถ์คริสต์

ข้อมูลเพิ่มเติม  

การขยายธุรกิจฮาลาลสู่ต่างประเทศของสิงคโปร์ มิได้จำกัดอยู่แค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการหาผู้ลงทุนต่างประเทศ เช่น Startup มุ่งหานักลงทุนรายย่อยที่มีรายได้สูง (Angel Investor) จาก ต่างประเทศที่มีปริมาณมากกว่า เนื่องจากเป็นการยากในการระดมทุนจากนักลงทุนดังกล่าวในสิงคโปร์

ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะให้ความสำคัญและผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมอิสลามิก แต่พบว่าแรงผลักดันที่สำคัญในการลงทุนนั้นมาจากภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เช่น การเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทเงินลงทุน Elite Partners Capital กับหอการค้าและอุตสาหกรรมมาเลย์-สิงคโปร์ (Singapore Malay Chamber of Commerce and Industry) รวมถึงการระดมทุนสำหรับ Startup อย่าง WhatsHalal ดิจิทัลโซลูชั่นสำหรับการจัดการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล

การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ Traceability เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนและ Startup สิงคโปร์ให้ความสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น OneAgrix Startup แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้าอาหารฮาลาลและอาหารทางการเกษตรแบบ B2B หรือ WhatsHalal ที่ใช้เทคโนโลยีที่มาจัดการข้อมูล (Blockchain) หรือพัฒนา Halal Scanner ในแอปพลิเคชัน โทรศัพท์ เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ตรวจสอบ รวมทั้งหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาล ทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลของอาหารว่าได้รับการรับรองฮาลาลหรือไม่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน แม้ว่าไทยยังไม่ติดอันดับในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก และดัชนีอาหารฮาลาลโลก (ซึ่งมาเลเซีย เป็นอันดับ 1 สิงคโปร์เป็นอันดับ 2 อินโดนีเซียเป็นอันดับ 4 และบรูไนเป็นอันดับ 9) แต่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตการเกษตรมาตรฐานฮาลาล โดยใช้หลักศาสนาและวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน โดยมีแผนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) สถาบันฮาลาล (Halal Academy) และการพัฒนาข้อมูลมหัตฮาลาล (Thailand Halal Big Data) รวมถึงการส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (Hala H Number) ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการเสนอร่างวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและพัฒนาผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้หารือนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา จำนวน 2 โครงการ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยราย ในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ (ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวล) และโครงการอุตสาหกรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งล้วนเป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังขยายการสนับสนุนสู่อุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่านเช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก เป็นต้น เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center – AIC) เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา


1 ประเทศที่ติดอันดับในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลกสูงสุด 15 ประเทศแรก ได้แก่ (1) มาเลเซีย (2) ซาอุดีอาระเบีย (3) UAE (4) อินโดนีเซีย (5) จอร์แดน (6) บาห์เรน (7) คูเวต (8) ปากีสถาน (9) อิหร่าน (10) กาตาร์ (11) โอมาสน (12) ตุรกี (13) ไนจีเรีย (14) ศรีลังกา (15) สิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง