สายการบิน Singapore Airlines เริ่มขายเครดิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF)

สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) ร่วมกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) และบริษัท Temasek ประกาศเริ่มการขายเครดิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อเร่งกระตุ้นการนำเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อความยั่งยืนในภาคการบิน สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงนี้ที่เพิ่งเริ่มต้น และตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ ในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี 2593

การขายเครดิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF Credits)

การขาย SAF Credits เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่สำนักงาน CAAS ร่วมกับสายการบิน SIA และบริษัท Temasek ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อพัฒนาการใช้ SAF Credits ในสิงคโปร์ โดยจะเริ่มจำหน่าย SAF Credits จำนวน 1,000 เครดิต โดยคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ประมาณ 2,500 ตัน (กล่าวคือ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน 1 เครดิตจะช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ 2.5 ตัน)

การเปิดตัว SAF Credits ช่วยเปิดโอกาสให้ลูกค้า นักเดินทางทั้งแบบองค์กรและบุคคล รวมถึง ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าช่วยกันทำหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในวงกว้างมากขึ้น SAF Credits จะใช้ระบบลงทะเบียน Book & Claim System ซึ่งองค์กรมาตรฐานด้านความยั่งยืนชั้นนำของโลก คือ Roundtable on Sustainable Biomaterials (RSB) รับรอง ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงมั่นใจได้ว่า ธุรกรรมของ SAF Credits น่าเชื่อถือ โปร่งใส และไม่มีการนับเครดิตซ้ำ

ลูกค้าของสายการบิน SIA และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าสามารถซื้อ SAF Credits จาก SIA ได้โดยตรง และผู้ขนส่งสินค้ายังสามารถขายเครดิตให้กับลูกค้าปลายทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ลูกค้าของสายการบิน SIA ทั้งหมดจะสามารถซื้อ SAF Credits และ carbon offsets รวมกันได้ ตามโครงการ SIA Group Voluntary Carbon Offset Programme ซึ่ง SIA จะร่วมมือกับบริษัทแลกเปลี่ยน carbon credits ระดับโลก Climate Impact X (CIX) เพื่อแนะนำ portfolio แบบผสมระหว่าง SAF Credits และ carbon credits ซึ่งผลิตภัณฑ์จะออกแบบมาตามความต้องการของผู้ใช้งานในราคาที่เหมาะสม

SIA ดำเนินการเที่ยวบินแรกด้วยเชื้อเพลิงผสมที่ยั่งยืน (Blended Sustainable Aviation Fuel)

นอกจากการเริ่มดำเนินการขาย SAF Credits แล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 CAAS SIA และ บริษัท GenZero (แพลตฟอร์มการลงทุนของบริษัท Temasek) ได้เริ่มส่งมอบเชื้อเพลิงการบินแบบผสมที่ยั่งยืนไปยังท่าอากาศยานชางงี ผ่านระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของท่าอากาศยานชางงี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ได้รับการยกระดับนำมาใช้สำหรับเที่ยวบินขาออกของสายการบิน SIA และ Scoot ภายใต้โครงการนำร่องนี้ บริษัทจัดการพลังงานหมุนเวียน Neste จะจัดส่ง SAF 1,000 ตัน เพื่อผสมกับน้ำมันเครื่องบินกลั่นที่โรงงานของ บริษัท ExxonMobil ในสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ 2,500 ตัน

นาย Han Kok Juan อธิบดี CAAS ให้ความเห็นว่า ผู้นำรัฐบาลและอุตสาหกรรมทั่วโลกมีฉันทามติร่วมว่าด้วยการลดการปล่อย CO2 ของภาคการบิน และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดให้สายการบินจะต้องนำเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนมาใช้ในวงกว้าง ดังนั้น การยกระดับเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนแบบผสมผสานในสิงคโปร์ครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางการบินที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ และแสดงให้เห็นว่าท่าอากาศยานชางงีมีความพร้อมที่จะใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นแหล่งการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการนำเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนมาใช้ ซึ่งสำนักงาน CAAS ได้จัดทำโครงการ Sustainable Air Hub Blueprint เพื่อศึกษาเรื่องนี้ และตั้งเป้าจะเผยแพร่ได้ในช่วงต้นปี 2566

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

สำหรับประเทศไทย วิสาหกิจด้านพลังงานหลายแห่งได้เริ่มความเคลื่อนไหวด้านเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) เดือนพฤษภาคม 2565 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนแห่งแรกของประเทศไทย ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัท BBGI (บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในเครือบริษัทบางจาก) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 40 ปีในธุรกิจน้ำมันพืชครบวงจร โดยจะสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันในเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพื่อผลิตเชื้อเพลิงจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพบางชนิดสำหรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ (2) เดือนมิถุนายน 2565 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่กับกลุ่มบริษัทมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลก และผู้ผลิตน้ำตาลและพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยจากผลิตภัณฑ์อ้อย ในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจการบิน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

บริษัท BBGI (ซ้าย) และ บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ (ขวา) ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU
แหล่งที่มา: Bangkok Post (https://www.bangkokpost.com/business/2303358/bangchak-preps-saf-production-facility)
ความร่วมมือระหว่าง บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) และกลุ่มบริษัทมิตรผล
แหล่งที่มา: Bangkok Post (https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/2330013/two-big-names-foster-collaboration-on-net-zero-mission-for-low-carbon-fuels-towards-aviation-fuelling-excellence)

ตั้งแต่ปี 2553 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้โดยสารให้ตระหนักรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมชดเชยการปลดปล่อยก๊าซ CO2 รวมทั้งได้ดำเนินการให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมในโครงการ Voluntary Carbon Offset โดยมีปริมาณการ Offset คาร์บอนผ่านทางเว็บไซต์ ประมาณ 200 ตัน หรือประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง