แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์ Zalora ผลักดันสินค้าสู่ความยั่งยืน

อุตสาหกรรมแฟชั่นก่อให้เกิดขยะสิ่งทอประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ควบคู่ไปกับมลภาวะทางเคมีและการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูง ท่ามกลางความตระหนักของผู้คนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายๆ แบรนด์แฟชั่นต่างรู้สึกกดดันที่จะต้องรักษาความยั่งยืนมากขึ้น เช่น แบรนด์ Zara และ H&M ต่างเปิดตัวสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือผ่านการรีไซเคิลมากขึ้น

นาง Gunjan Soni ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แพลตฟอร์ม Zalora ระบุว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุดในโลก โดย Zalora จะไม่มุ่งเน้นเสื้อผ้าตามกระแส หรือ Fast Fashion1 และเมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทดำเนินการทั้งธุรกิจแฟชั่นและอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่บริษัทที่จะทำแผนการเชิงปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) และมีส่วนในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น

แพลตฟอร์มค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ Zalora ได้ตั้งเป้าที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การขายเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุที่มีแหล่งที่มายั่งยืนมากขึ้น และเพิ่มสินค้ามือสองวางขายในแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2573 ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ฝ้ายที่มาจากแหล่งผลิตยั่งยืนสำหรับสินค้าแบรนด์ Zalora การมีศูนย์ปฏิบัติงานและสำนักงานที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน และการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)2 ในการดำเนินงานและการขนส่งสินค้า ในขณะนี้บริษัทยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่ยังไม่บรรลุถึง 100% เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในการผลิตที่พยายามให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) หรือน้อยที่สุดจนถึงการส่งสินค้า

กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท Zalora ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2563 โดยบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สองกลุ่มที่ใช้ผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผ้า Tencel ผ้าฝ้ายออร์แกนิค และผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล3 ซึ่งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์ Zalora ได้เริ่มใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ในปี 2564 โดยรวมแล้ว ผลิตภัณฑ์ Zalora ประมาณ 4% ได้ใช้วัสดุที่ยั่งยืน นอกจากนี้ Zalora ยังดูแลและส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากแบรนด์อื่นๆ ที่ตรงตามเกณฑ์เรื่องความยั่งยืนด้วยผ่านสินค้าหมวดหมู่ Earth Edit ซึ่งมูลค่าสุทธิในสินค้ากลุ่มนี้โตขึ้นถึง 250% นับจากการเปิดตัวเมื่อสองปีที่แล้ว และเพื่อเป็นการส่งเสริมแฟชั่นหมุนเวียน ในปี 2563 Zalora ได้เปิดตัวหมวดหมู่สินค้ามือสองแบรนด์หรูภายใต้สินค้าหมวดหมู่ “Pre-Loved”  และในปีถัดมา บริษัทได้เป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มออนไลน์สินค้ามือสองแบรนด์หรู Reflaunt

นาง Soni กล่าวว่า การสามารถขายสินค้าในแพลตฟอร์ม Zalora จะสร้างความแตกต่างให้กับผู้ใช้บริการ เพราะจากเดิมพวกเขามาเพื่อซื้อสินค้า แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถนำสินค้ามาขายได้ การทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว เป็นหนึ่งในกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน ในขณะเดียวกันบริษัทได้พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานในคลังสินค้า และสำรวจการใช้แผงพลังงานโซลาร์เซลล์ การลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก และทดลองตัวเลือกการจัดส่งแบบคาร์บอนต่ำในสองตลาด ทั้งนี้ ความพยายามดังกล่าวเริ่มเกิดผลและมีความคืบหน้าที่ดีมาก โดยในปี 2564 บริษัทสามารถนำของเสียในคลังสินค้ามารีไซเคิล 92%  การใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้นในการจัดส่งและบรรจุภัณฑ์หีบห่อ 88% โดยรวมแล้ว บริษัทสามารถลดความเข้มข้นของคาร์บอนลงได้ 10% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่บริษัทสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ 100% ในการดำเนินงานและการส่งมอบด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจที่จะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณะเป็นประจำทุกปี

แพลตฟอร์ม Zalora ครบรอบสิบปีเมื่อต้นปี 2565 โดยบริษัทได้รับความนิยมอย่างมากเช่นเดียวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอื่นๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนต่างหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น ถึงแม้ว่า ในขณะนี้ผู้คนเริ่มกลับมาซื้อของตามหน้าร้าน แต่สิ่งที่ท้าทายของบริษัทในปีนี้กลับเป็นปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตที่ลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทยังมองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกในอนาคต เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เช่น การซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์สำหรับสินค้าแฟชั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากเดิมไม่ถึง 3% เมื่อสิบปีที่แล้ว ประกอบกับบริษัทมีปัจจัยขับเคลื่อนในการเติบโตอื่นๆ เช่น การเพิ่มและพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น เครื่องแต่งกายสำหรับเด็ก และสินค้าฟุ่มเฟือยมือสอง รวมถึงศักยภาพในการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน Zalora มีอยู่ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีสาขาในฮ่องกง และไต้หวัน

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด4 ผ่านนโยบาย Singapore Green Plan 2030 เพื่อกำหนดเป้าหมายสำหรับการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนภายในปี 2573 ในขณะเดียวกันหน่วยงาน Enterprise Singapore เปิดตัวโครงการ Enterprise Sustainability เพื่อสนับสนุนธุรกิจในสิงคโปร์ในโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน การหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อการเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนในสิงคโปร์ในหลายๆ อุตสาหกรรมต่างเริ่มปรับตัวกับแนวความคิดแบบยั่งยืนมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์อย่าง Zalora ที่พยายามผลักดันสู่ความยั่งยืนและการลดปริมาณก๊าซคาร์บอน ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้าน Circular Economy5 มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้เช่นกัน เช่น การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือวัสดุรีไซเคิลต่างๆ เพื่อการเพิ่มมูลค่าในการส่งออก และขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยในเวทีการค้าโลกอีกด้วย


1 Fast Fashion คือ เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นต่างๆที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำ ซึ่งสร้างพฤติกรรมการบริโภคแบบรวดเร็ว เบื่อง่าย เปลี่ยนง่าย ทิ้งเร็ว ทำให้วงจรของแฟชั่นสั้นลง ผู้บริโภครู้สึกว่า ต้องซึ่งเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลา ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

2 การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือการให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา

3 โดยปกติ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีรอยเท้าคาร์บอน 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีรอยเท้าคาร์บอนเพียง 2.1 กิโลกรัม 

4ในปัจจุบัน อัตราภาษีคาร์บอนสิงคโปร์ถูกกำหนดที่ 5 เหรียญสิงคโปร์ต่อตันจนถึงปี 2566 และรัฐบาลฯ มีแผนจะปรับขึ้นภาษีคาร์บอนเป็น 25 เหรียญสิงคโปร์ต่อตันสำหรับปี 2567-2568 และ 45 เหรียญสิงคโปร์ต่อตันสำหรับปี 2569

5 Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด  หรือการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) ด้วยการปรับกระบวนการผลิต เช่น การเปลี่ยนของเสียจากการผลิต


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง