ศาสตร์และศิลปะในการอนุรักษ์สัตว์ หรือที่เรียกกันว่า “การสตัฟฟ์สัตว์” (Taxidermy)1 เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีการเติบโตทางธุรกิจในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 สำนักข่าว The Business Times รายงานถึงธุรกิจและภารกิจสตัฟฟ์สัตว์ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต นก และแมลงในสิงคโปร์ ดังนี้

ธุรกิจ Taxidermy ในสิงคโปร์ 

แม้ว่าธุรกิจ Taxidermy ในประเทศตะวันตกค่อนข้างแพร่หลายมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับสิงคโปร์ บริษัท Black Crow Taxidermy & Art เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ขายผลิตภัณฑ์สัตว์สตัฟฟ์และให้บริการอนุรักษ์ซากสัตว์ โดยจัดงานสัมมนา workshops ในเชิงพาณิชย์แก่สาธารณชน Ms. Vivian Tham นักอนุรักษ์ซากสัตว์ (Taxidermist) และผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ได้เริ่มต้นธุรกิจของเธอในตลาดออนไลน์ Carousell เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ด้วยความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จัดตั้งเป็นสตูดิโอได้ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักสะสมเนื่องจากเป็นรายแรกของสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจดังกล่าว และการนำเข้าซากสัตว์ที่มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบค่อนข้างมากและความอ่อนไหวในเชิงสังคมค่อนข้างมาก

Ms. Vivian Tham กับผลงานของบริษัท Black Crow Taxidermy & Art 
แหล่งที่มา: BT PHOTO: YEN MENG JIIN

ตามกฎหมายของสิงคโปร์ บุคคลต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าซากสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (National Parks Board – NParks) ตามสายพันธุ์ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) จากสถิติปี 2559 ถึง 2563 สิงคโปร์ออกใบอนุญาตตาม CITES สำหรับการนำเข้าซากสัตว์ทั้งหมด 34 ครั้ง ทั้งนี้ กฎหมายของสิงคโปร์ว่าด้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์(ทั้งการนำเข้าและส่งออก) มีบทลงโทษสำหรับการนำเข้า ส่งออก หรือส่งออกซ้ำโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอย่างเคร่งครัดทั้งค่าปรับและบทลงโทษ

โอกาสและอุปสรรคของธุรกิจสตัฟฟ์สัตว์ในสิงคโปร์

กลุ่มคนที่สนใจงานสตัฟฟ์สัตว์ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อสะสม หรือเป็นงานอดิเรก แต่ปัจจุบัน บริษัทฯมีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัย ได้แก่ 1) เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องการสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตเพื่อเป็นการระลึกถึงและฟื้นฟูสภาพจิตใจ บริษัทฯ ให้บริการสตัฟฟ์สำหรับสุนัขและแมวในราคา 1,250 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับ 5 กิโลกรัมแรกและ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับกิโลกรัมถัดมา นกและแฮมสเตอร์ ราคาเริ่มต้นที่ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ และกระต่าย ตัวละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ นอกจากการรักษาลักษณะของสัตว์ทั้งตัวแล้ว เจ้าของบางรายต้องการเก็บเฉพาะส่วนของร่างกาย บ้างเลือกที่จะเผาศพแต่เก็บขนหรือขี้เถ้าในเครื่องประดับเล็ก ๆ เป็นที่ระลึก 2) คนในสังคมเมืองอย่างสิงคโปร์ ต้องการเรียนรู้กายวิภาคของสัตว์อย่างใกล้ชิด เพราะสัตว์บางชนิดไม่สามารถแม้แต่จะเข้าใกล้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ทางบริษัทจึงจัดสัมมนาให้ความรู้ประมาณ 20 ครั้งต่อเดือน เพื่อดึงดูดกลุ่มครอบครัวที่พาเด็กและเยาวชนมาเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการสัมผัสสัตว์สตัฟฟ์ เช่น กระต่าย และปีกผีเสื้อ ทำให้ได้เห็นของจริงที่ดีกว่ารูปภาพและคำบรรยายในแบบเรียน รวมถึงกลุ่มลูกค้าองค์กรในการทำกิจกรรมของบริษัทที่มีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง 100 คนต่อกลุ่ม

แหล่งที่มา: BT PHOTO: YEN MENG JIIN

Ms. Tham กล่าวว่าบริษัทฯ เริ่มมองหาโอกาสอื่นในการขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึง 1) การศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และการศึกษาพืชและสัตว์กับองค์กรต่าง ๆ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและโรงเรียนนานาชาติ 2) การนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และเทคนิคการถนอมอื่น ๆ เช่น การย้อมสีกระดูก 3) การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แตกต่าง เช่น chimera การประกอบชิ้นส่วนจากสัตว์ต่างสายพันธุ์ เพื่อสร้างเป็นสัตว์สายพันธุ์ผสม 4) การพัฒนาหลักสูตรอบรม Taxidermy แบบ 1 วัน สำหรับผู้เริ่มต้นในการเรียนรู้กายวิภาคของสัตว์ฝึกการผ่าตัด และนำชิ้นส่วนสัตว์กลับบ้าน และในอนาคต เธอวางแผนที่จะเปิดสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการสตัฟฟ์สัตว์ และเสนอหลักสูตรเชิงลึกที่ได้รับการรับรองด้านการอนุรักษ์สัตว์ด้วยการสตัฟฟ์ ซึ่งหากบรรลุผล อาจเป็นหลักสูตรแรกของโลก

ในด้านอุปสรรค ธุรกิจนี้ยังมีปัญหาด้านอุปทาน เช่น ความล่าช้าในการจัดส่ง เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ ต้นทุนสูงจากการขาด การประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ในการซื้อบรรจุภัณฑ์สำหรับสัตว์สตัฟฟ์ เช่น แก้วครอบ หรือกรอบรูป ซึ่งในสิงคโปร์ราคาสูงกว่าต่างประเทศมาก ในขณะที่การสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ไม่สะดวกเพราะต้องสั่งในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น และไม่มีพื้นที่จัดเก็บ

แหล่งที่มา: BT PHOTO: YEN MENG JIIN

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

นอกจากคุณภาพและความเสมือนจริงแล้ว ผู้บริโภคมองว่าจริยธรรมของ Taxidermist เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อหรือใช้บริการ ลูกค้าต้องการทราบแหล่งที่มาของสัตว์เหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต สัตว์เร่ร่อนที่ตายตามท้องถนน ไม่ได้ถูกฆ่าเพื่อนำมาสตัฟฟ์ และไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือสัตว์คุ้มครอง 

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ คือ ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ ภายใต้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีผลงานที่หลากหลาย เช่น นก ปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กว่า 4,000 ผลงาน และเพิ่มขึ้นทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย และเก็บเป็นสมบัติของประเทศชาติ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสู่เส้นทางสายอาชีพของการเป็นนัก Taxidermist ในอนาคตต่อไป 

จากข้อมูลของทีมงาน www.รับสต๊าฟสัตว์.com พบว่าธุรกิจสตัฟฟ์สัตว์เชิงพาณิชย์ในไทยยังไม่แพร่หลายทั่วประเทศมีร้านที่รับทำสตัฟฟ์สัตว์อย่างจริงจังไม่เกิน 5 ราย  ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจโดยเจาะกลุ่มลูกค้าเจ้าของสัตว์เลี้ยง เด็กและครอบครัว หรือองค์กร โดยศึกษาโมเดลทางธุรกิจและความหุ้นส่วนความร่วมมือในสิงคโปร์ ในการทำการตลาด หาลูกค้า ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ เทคนิคการอนุรักษ์ และการส่งออก รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการได้


 1การใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสานกับศิลปะการเตรียมการ การยัด การเก็บรักษาผิวหนังสัตว์อย่างถาวร หรือเทคนิคการทำให้ซากสัตว์คงสภาพเหมือนมีชีวิต


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง