สิงคโปร์วางแผนเปิดประมูลคลื่นความถี่มุ่งขยายเครือข่าย 5G standalone (SA)

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาและการกับดูแลสื่อสารสนเทศของสิงคโปร์ Infocomm Media Development Authority (IMDA) ประกาศการปรึกษาหารือสาธารณะ (public consultation) เรื่องการใช้งานและการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) สำหรับการให้บริการเครือข่าย 5G ในสิงคโปร์ โดยจะเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับเครือข่าย 5G standalone (SA) ใน สิงคโปร์

ปัจจุบัน คลื่นความถี่ 2.1 GHz ในสิงคโปร์ใช้สำหรับการให้บริการเครือข่าย 3G ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในช่วงสิ้นปี 2564 ดังนั้น หน่วยงาน IMDA ได้เสนอการใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อรองรับการใช้งานเครือข่าย 5G โดยเฉพาะ (5G SA) เป็นครั้งแรกใน สิงคโปร์ โดยจะจัดการประมูลภายในปี 2564 ทั้งนี้ คลื่นความถี่สำหรับเครือข่าย 5G ที่ IMDA จะเปิดประมูลรวม 60 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) แบ่งเป็นหน่วยละ 5 MHz รวม 12 หน่วย โดยตั้งราคา 10 – 15 ล้าน ดอลลาร์สิงคโปร์/หน่วย ซึ่งผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถกำหนดปริมาณคลื่นความถี่ที่ต้องการประมูลได้

ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (mobile network operators – MNOs) ทั้ง 4 รายในสิงคโปร์ ได้แก่ Singtel StarHub M1 และ TPG Telecom (บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย) น่าจะร่วมประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ โดย IMDA กำหนดในรายงานการหารือ (Consultation Paper) ฉบับล่าสุดว่า ผู้ชนะการประมูลจะต้องติดตั้งเครือข่าย 5G SA ให้ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสิงคโปร์ภายในปี 2567 และครอบคลุมทั่วสิงคโปร์ภายในปี 2570

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 บริษัท Singtel และบริษัทร่วมทุนระหว่าง StarHub และ M1 ชนะการประมูลและได้รับสิทธิ์ในการติดตั้งเครือข่าย 5G ในสิงคโปร์ บนคลื่นความถี่ 3.5 GHz โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องติดตั้งเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วสิงคโปร์ภายในปี 2568 ทั้งนี้ แม้ บริษัท TPG Telecom จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตในการติดตั้งเครือข่าย 5G แต่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นวิทยุที่มีช่วงคลื่นสั้นกว่า (Millimeter Wave – mmWave) เพื่อให้บริการเครือข่าย 5G ที่มีขนาดเล็กกว่าและครอบคลุมเฉพาะจุด ทั้งนี้ IMDA ตั้งข้อสังเกตว่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz จะช่วยขยายความครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ 3.5 GHz เช่น ในอาคาร และอุโมงค์ด้วย

แม้จะมีการจัดทำคลื่นความถี่เฉพาะสำหรับ 5G ในเร็ว ๆ นี้ แต่ IMDA จะยังคงจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz บางส่วนสำหรับการให้บริการ 3G อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคในเครือข่าย 3G ยังคงใช้งานได้ต่อไป โดยจากข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2564 ระบุว่ายังมีผู้ใช้งาน 3G ในสิงคโปร์ประมาณ 700,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของสมาชิกเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด และยังมีอุปกรณ์มากกว่า 1.5 ล้านเครื่องในสิงคโปร์ที่ยังคงใช้เครือข่าย 3G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แรงงานต่างชาติ และองค์กรด้านการดูแลสุขภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ หลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร ได้เริ่มใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz สำหรับเครือข่าย 5G โดยเทคโนโลยี 5G เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเร็วกว่าเครือข่าย 4G ถึง 20 เท่า อาทิ การดาวน์โหลดวีดิโอความละเอียดสูงขนาด 3 กิกะไบต์ (GB) ใช้เวลาเพียงประมาณ 40 วินาทีโดยเฉลี่ยผ่านเครือข่าย 5G นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับแอปพลิเคชันได้เสถียรยิ่งขึ้น เช่น ระบบนำทางรถยนต์แบบไร้คนขับ และการผ่าตัดระยะไกล เป็นต้น

เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 หน่วยงาน IMDA และมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) ได้ก่อตั้งกองทุนสนับสนุนจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับ 5G และผลักดันให้สิงคโปร์เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก ทั้งนี้ โครงการที่กองทุนสนับสนุน ได้แก่

  1. Smart mobility บริษัทอสังหาริมทรัพย์ CapitaLand ผู้ให้บริการแผนที่ Navinfo Datatech และบริษัท TPG Telecom ร่วมทดสอบระบบนำทางรถยนต์แบบไร้คนขับผ่านการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G
  2. Cloud gaming บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์เสริมสำหรับเกม Razer และบริษัท Singtel จะทำการทดสอบการออกแบบเครือข่าย 5G ในสภาพแวดล้อมแบบเมืองเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเล่นเกมด้วยรายละเอียดภาพที่สมบูรณ์โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่
  3. Smart port ผู้ดำเนินการท่าเรือ PSA International ร่วมกับบริษัท Singtel และบริษัท M1 ทดลองใช้ยานพาหนะไร้คนขับเพื่อเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ และทดลองใช้รีโมทคอนโทรลกับอุปกรณ์ในท่าเรือ เช่นเครนยกตู้สินค้า ซึ่งจะช่วยปูทางให้กับโครงการท่าเรือ Tuas
  4. Smart factory หน่วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*Star) ได้ลงนาม MOU กับบริษัท Singtel และผู้พัฒนานิคม JTC Corporation เพื่อทดลองเชื่อมต่อ 5G กับโรงงานตัวอย่างในเขต Jurong อาทิ เทคโนโลยีตรวจจับอัจฉริยะสำหรับติดตามตำแหน่งของยานพาหนะไร้คนขับบนพื้นโรงงาน

เมื่อปี 2563 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสิงคโปร์คือ Singtel (ภายใต้เครือ Temasek) และ Starhub ได้เลือกให้ Ericsson และ Nokia ของยุโรปเป็น Network Provider แต่ไม่เลือกบริษัท Huawei ของจีนซึ่งต้องหันไปร่วมมือกับ TPG Telecom ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กกว่าในสิงคโปร์แทน

นอกจากการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศแล้ว สิงคโปร์ยังมุ่งพัฒนาการผลิต semiconductorในประเทศให้มีคุณภาพสูงเช่นเดียวกับไต้หวัน เนื่องจากสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายขยายอุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ 50 ภายในปี 2573 โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 บริษัท GlobalFoundries ผู้ผลิต semiconductor ของสหรัฐฯ ประกาศแผนการลงทุนในสิงคโปร์มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง