ธนาคารกลางสิงคโปร์เตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการของธนาคารดิจิทัลในช่วงต้นปี 2565 และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เงินดิจิทัล (CBDC)

เดือนมิถุนายน 2562 MAS ได้ประกาศอนุญาตการจัดตั้งธนาคารดิจิทัล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่มีความพร้อมและรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้มแข็ง สามารถนำเสนอบริการธนาคารดิจิทัล โดยจะแบ่งการให้บริการเป็น 2 ประเภทคือ 1) ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Digital Full Bank – DFB) ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายและบริการเงินฝากสำหรับลูกค้ารายย่อย โดยต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และเพิ่มทุนต่อเนื่องเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 2) ธนาคารค้าส่งดิจิทัล (Digital Wholesale Bank – DWB) เน้นให้บริการ SMEs และกลุ่มผู้ค้าส่ง โดยต้องมีเงินทุน (paid-up capital) 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ในช่วงเริ่มต้น MAS จะอนุมัติใบอนุญาตแก่ผู้สมัครเพื่อจัดตั้งธนาคารดิจิทัลในกลุ่ม DFB จำนวน 2 ราย และกลุ่ม DWB จำนวนไม่เกิน 3 ราย จากผู้สมัครทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยผู้ได้รับอนุมัติจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ในการประเมิน คือ 1) การออกแบบธุรกิจที่สร้างคุณค่าแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองควาต้องการของลูกค้าและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ 2) ความสามารถในการจัดการธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่รอบคอบและยั่งยืน 3) แนวโน้มการเติบโตและการสนับสนุนอื่น ๆ ต่อสถาบันการเงินในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 MAS ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการบริหารจัดการธนาคารดิจิทัลสิงคโปร์ ได้แก่ กลุ่ม DFB จำนวน 2 ราย คือ 1) กิจการค้าร่วม (consortium) ระหว่างบริษัท Grab Holding Inc. และบริษัท Singapore Telecommunications Ltd. 2) บริษัท Sea Ltd. และ DWB จำนวน 2 ราย คือ 1) กิจการค้าร่วม (consortium) ระหว่างบริษัท Greenland Financial Holdings Group Co. Ltd, บริษัท Linklogis Hong Kong Ltd และบริษัท Beijing Co-operative Equity Investment Fund Management Co. Ltd. 2) บริษัท Ant Group Co. Ltd. ทั้งนี้ MAS คาดว่าธนาคารดิจิทัลทั้ง 4 ราย จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี 2565

การเตรียมพร้อมของธนาคารดิจิทัลสิงคโปร์สู่การเปิดดำเนินการ

กิจการค้าร่วม Grab-Singtel นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านการธนาคาร Grab-Singtel ยังเน้นการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้วได้ประกาศเปิดรับพนักงานกว่า 200 ตำแหน่ง โดยคัดเลือกไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่ง และยังคงสรรหาทีมงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเทคโนโลยี fintech และด้านการธนาคาร ในตำแหน่งงานปฏิบัติการ (operation) การเงิน การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance)

บริษัท Sea Ltd. อยู่ระหว่างการสรรหาบุคลากรในหลายๆ แขนงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยง เทคโนโลยี การจัดการผลิตภัณฑ์ การจัดการธุรกิจและหุ้นส่วน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและการฉ้อโกง การบริหารเงินฝากและการชำระเงิน และงานบริการลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทกล่าวว่าธนาคารดิจิทัลจะเน้นให้บริการลูกค้าวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มของตนอยู่แล้ว เช่น ตลาดอีคอมเมิร์ซ Shopee และผู้พัฒนาเกม Garena

บริษัท Ant Group Co. Ltd. บริษัท ในเครือ Alibaba ผู้นำรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาธนาคารค้าส่งดิจิทัลและการสรรหาทีมงาน ซึ่งจะเน้นให้บริการแก่ SMEs ขนาดเล็ก เนื่องจากอีคอมเมิร์ซและการค้าข้ามพรมแดนยังคงได้รับแรงผลักดันอย่างต่อเนื่อง

บริษัท Greenland Financial Holdings Group Co. Ltd, บริษัท Linklogis Hong Kong Ltd และ บริษัท Beijing Co-operative Equity Investment Fund Management Co. Ltd. Greenland Financial เป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีน ในขณะที่ Linklogis Hong Kong เป็นผู้จัดหาเงินทุนในห่วงโซ่อุปทาน กิจการค้าร่วมนี้จะเน้นการใช้เทคโนโลยีทางการเงินของจีนเพื่อให้บริการธนาคารค้าส่งดิจิทัลสำหรับ SMEs สิงคโปร์

การพัฒนาเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสิงคโปร์

ในยุคดิจิทัล พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ และวิธีการทำธุรกิจของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป โดยมีผลกระทบจากโควิด-19 เป็นตัวเร่งกระบวนการดิจิทัลภิวัตน์ นอกจากธนาคารดิจิทัลแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนร้อยละ 86 ให้ความสนใจวิจัยและพัฒนาเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies-CBDC) โดยสามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ ซึ่งจีนเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นของภูมิภาคในด้านนี้ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เริ่มใช้เงินหยวนดิจิทัลจีน (e-CNY) อย่างค่อนข้างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2563

สำหรับสิงคโปร์ MAS กำลังศึกษาการจัดทำ CBDC ขั้นสูงเช่นกัน ผ่านโครงการ Ubin ซึ่งเริ่มต้นในปี 2559 โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการสำรวจการใช้ Blockchain และเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) สำหรับการหักบัญชี การชำระเงินและลงทุนหลักทรัพย์ ซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2562 ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา MAS และ BIS Innovation Hub ได้เผยแพร่ภาพตัวอย่างของโครงการ Dunbar ซึ่งใช้ในการพัฒนาโมเดล CBDC ใหม่หลายรุ่นของสิงคโปร์ เพื่อปรับปรุงการทำงานทั้งในด้านการบูรณาการ การเชื่อมต่อ ความเร็ว ต้นทุน และความโปร่งใสของการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน

ข้อมูลเพิ่มเติม

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงส่งเสริมบทบาทการเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย” ในด้านการธนาคารของสิงคโปร์ โดย นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจได้กล่าวในงาน Singapore FinTech Festival เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ว่า สิงคโปร์จะเน้นการเป็นทั้งศูนย์กลางการเงินระดับโลกและศูนย์กลางนวัตกรรมแบบ Silicon Valley ในเอเชีย และจะเป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเงินของภูมิภาคและโลก ประเทศแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้ธนาคารดิจิทัล (full-digital/virtual banks)

ธนาคารดิจิทัลจะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสาขาธนาคารพาณิชย์และตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่และการดำเนินธุรกิจที่เน้นการค้าออนไลน์ของ SMEs ซึ่งตลาดธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนคืออินโดนีเซีย เนื่องจากยังคงมีประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารพาณิชย์จำนวน 92 ล้านคน และเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียสามารถเติบโตจนมีมูลค่า 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียยังคงอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงและจัดทำกฎระเบียบเพื่อรองรับการจัดตั้งธนาคารดิจิทัล ซึ่งน่าจะทำได้สำเร็จในช่วงกลางปี 2564 นี้ ในขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้เริ่มให้ใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารดิจิทัลเพื่อเริ่มเปิดดำเนินการต่อไปแล้ว ก่อนหน้านี้มีประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เปิดให้บริการธนาคารดิจิทัลแล้ว ได้แก่ เช่น (1) ฮ่องกง ธนาคาร Neat เริ่มปี 2558 (2) จีน Alibaba’s MYbank และ Tencent’s WeBank เริ่มปี 2558 (3) ญี่ปุ่น SBI Sumishin Net Bank เริ่มปี 2559 (4) เกาหลีใต้ Kakao Bank เริ่มปี 2560 และ (5) เวียดนาม ธนาคาร Timo เริ่มปี 2558

จากผลสำรวจของบริษัท Google, Temasek และ Bain&Company พบว่า บริการด้านการเงินดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีพื้นที่ในการขยายตลาดอีกมาก โดยเฉพาะการปล่อยกู้ (lending) ซึ่งจะเติบโตกว่า 4 เท่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าการกู้เงินออนไลน์ เพิ่มจาก 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และการลงทุนในสินทรัพย์ออนไลน์ เพิ่มขึ้นจาก 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 อนึ่ง ผู้ใช้งานจำนวนมากยังคงสับสนความหมายของ “digital banks” หรือธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ (digital-only ไม่มีสาขาหรือตู้ ATM เหมือน ธนาคารพาณิชย์) กับ “digital banking” ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มธุรกรรมออนไลน์ (online banking) ซึ่ง ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปให้บริการดังกล่าวอยู่แล้ว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง