เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ทำการเผยแพร่รายงานเศรษฐกิจมหภาค ครั้งที่ 2/ค.ศ. 2021 โดยวิเคราะห์ ทบทวน และประเมินภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค รวมทั้งประกาศนโยบายการเงินของสิงคโปร์ ดังนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ สำหรับปี 2564

เศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 โดย GDP หดตัวร้อยละ 1.4 แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) และขยายตัวร้อยละ 15.2 แบบ Year-on-Year (YoY) และไตรมาสที่ 3/2564 ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.8 แบบ QoQ และขยายตัวร้อยละ 6.5 แบบ YoY มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ขอให้ทุกคนทำงานที่บ้าน (work-from-home as a default) และห้ามรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจในสิงคโปร์ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ (modern services1) ขยายตัวและช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

สภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2564 โดยรวมกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่ระดับการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมยังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า GDP สิงคโปร์ ปี 2564 จะเติบร้อยละ 6.0 ถึง 7.0 และในปี 2565 อัตราการเติบโตจะช้าลง แต่ยังคงสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ย

ถึงแม้ทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะห่วงโซ่อุปทานถูกกระทบจากการระบาดโควิด-19 แต่การค้าของสิงคโปร์อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตตั้งแต่ปี 2563 ภาคการผลิตของสิงคโปร์ที่อยู่ต้นน้ำ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ (แม้สิงคโปร์จะไม่ใช่ผู้ผลิตและตลาดรายใหญ่ของโลก) ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งสิงคโปร์นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากแหล่งที่มาที่หลากหลายและห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศมีความยืดหยุ่น

การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 และ 2565 ของ MAS

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวทั้งในไตรมาสที่ 2/2564 และไตรมาสที่ 3/2564 จากการแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ เศรษฐกิจในเอเชียชะลอตัวลงอย่างมาก (ยกเว้นญี่ปุ่น)  เพราะอัตราการฉีดวัคซีนยังไม่บรรลุตามเป้าหมายและมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยรวมอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเริ่มมีการเปลี่ยนโครงสร้างที่เน้นภาคสินค้ามากกว่าภาคบริการ แต่ราคาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนที่จำเป็นในการผลิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน โลหะ และเซมิคอนดักเตอร์                         

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 น่าจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.8 จากที่เติบโตร้อยละ 5.6 ในปี 2564 และโดยที่เศรษฐกิจกลุ่ม G7 ฟื้นตัวได้ดีแล้วในปี 2565 การสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันอาจลดลง สำหรับอาเซียนคาดว่าภาคเศรษฐกิจและธุรกิจจะเติบโตดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/2564 ปัญหาคอขวดของอุปทานคาดว่าจะบรรเทาลงในช่วงต้นปี 2565 เนื่องจากอัตราการติดเชื้อฯ ที่ลดลงและอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพรวมตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์

การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสิงคโปร์เป็นไปในทิศทางที่ดี แม้ว่ามาตรการควบคุมโรคระบาด/มาตรการเข้าเมืองที่รัดกุมจะส่งผลให้การจ้างงานหดตัวลง 19,900 ราย ในไตรมาสที่ 2/2564 แต่การจ้างงานชาวสิงคโปร์ยังคงขยายตัว (ในขณะที่การจ้างงานชาวต่างชาติลดลงอย่างรวดเร็ว) อุปสงค์แรงงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวลดลง แต่ภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์ ยังคงต้องการแรงงานอย่างยิ่ง รวมถึงภาคการผลิต modern services และสาธารณสุข ส่งผลให้ค่าจ้างและค่าแรงสูงขึ้น สำหรับไตรมาสที่ 4/2564 การจ้างงานชาวสิงคโปร์ จะยังคงขยายตัวควบคู่ไปกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และในปี 2565 อุปสงค์แรงงานและตลาดงานจะขยายตัวขึ้นอีก โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสิงคโปร์ ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าประมาณการ

อัตราการว่างงานสิงคโปร์ ในเดือนสิงหาคม 64 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงจากร้อยละ 3.7 ในเดือนกรกฎาคม 64     

อัตราเงินเฟ้อหลักสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 3/2564 ร้อยละ 1.1 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2564 ที่ร้อยละ 0.7 สาเหตุหนึ่งมาจากค่าไฟฟ้าและก๊าซที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาน้ำมันและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค สำหรับปี 2564 อัตราเงินเฟ้อหลักตลอดทั้งปีคาดว่าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2

ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับเศรษฐกิจสิงคโปร์คาดว่าจะดีขึ้น จากแหล่งเงินเฟ้อในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น เช่น การปรับราคาบริหารบางรายการ ต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว แรงกดดันด้านราคาสินค้านำเข้าโดยรวมยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 เนื่องจากปัญหาคอขวดของอุปทานทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลาในการผ่อนคลายโดยรวมแล้ว MAS ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับปี 2565 ร้อยละ 1 – 2 และอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ 1.5 – 2.5

MAS ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปี 2564 ร้อยละ 2.6 และในปี 2565 ร้อยละ 2.4 เทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในช่วงปี 2553 – 2562

นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของสิงคโปร์     

ในเดือนตุลาคม 2564 MAS ได้ปรับเพิ่มความชัน (Slope) ของดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์ สิงคโปร์ (Singapore dollar nominal effective exchange rate – S$NEER) เพื่อให้ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น และรองรับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้านำเข้าน่าจะสูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง ในขณะที่ต้นทุนทางธุรกิจใน สิงคโปร์น่าจะคงที่ เนื่องจากในปี 2565 ช่องว่างการผลิตที่ติดลบ (negative output gap) จะสมดุลขึ้นหรือเป็นศูนย์

นโยบายการคลังยังคงให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก จากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาล จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่รวดเร็วและตรงเป้าหมายแก่ธุรกิจและบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด นโยบายการคลังและการเงินยังคงทำงานควบคู่กันเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่และการรักษาเสถียรภาพด้านราคา                  

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักงานวิจัยเศรษฐศาสตร์มหภาคของภูมิภาคอาเซียน (AMRO) วิเคราะห์เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโตอย่างเข้มแข็งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 โดยคาดว่า GDP ของ สิงคโปร์ จะเติบโตร้อยละ 6.5 ในปี 2564 และร้อยละ 4 ในปี 2565 การเปิดประเทศมากขึ้น และการจัดทำ VTL จะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ และธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การบิน และการค้าปลีก

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 สื่อท้องถิ่นสิงคโปร์ รายงานว่าสถาบัน Insead และสถาบัน Portulans ได้จัดลำดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันศักยภาพบุคลากรทั่วโลกประจำปี 2564 (Global Talent Competitiveness Index 2021) ซึ่งครอบคลุม 134 ประเทศ โดยพิจารณาความสามารถในการดึงดูด พัฒนา สนับสนุน และรักษาบุคลากร/แรงงานที่มีทักษะ ซึ่งสิงคโปร์เป็นอันดับ 2 (สวิตเซอร์แลนด์ 1 / สหรัฐฯ 3 / เดนมาร์ก 4 / สวีเดน 5 / ไทย 68 ) สิงคโปร์ได้รับการชื่นชมว่ามีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งยังสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เทคโนโลยีชีวภาพระดับนาโน


1 การให้บริการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะแรงงานขั้นสูง เช่น บริการด้านการเงินการธนาคาร ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และการให้บริการด้าน IT ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคบริการค่อนข้างสูง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง