เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐสภาสิงคโปร์เรื่อง มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ในช่วง P2 (HA) และ P3 (HA) (ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน) รวมประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

มุมมองของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก

โควิด-19 เป็น tricky virus เนื่องจากเมื่อรัฐบาลคิดว่าควบคุมได้แล้วก็ยังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อีก ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้นด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทั้ง Alpha จากสหราชอาณาจักร และ Delta จากอินเดีย ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก และแม้แต่จีนและออสเตรเลียที่ควบคุมการเข้า-ออกเมืองอย่างเข้มงวดมาก ก็ยังพบปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่เช่นกัน โดยเชื้อ Delta ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในเอเชียและมีแนวโน้มจะกระจายไปทั่วโลก

ประชาคมโลกไม่น่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้คนได้เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ และการอุบัติของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่รุนแรงกว่าา Delta ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหาทางรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ให้ดีที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวถึงออสเตรเลียที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยประชากรร้อยละ 60 ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 โดสแล้ว ทำให้ออสเตรเลียสามารถผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขและเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง และแม้ว่าออสเตรเลียจะมีการระบาดใหม่จากเชื้อ Delta ในประเทศ แต่ก็ไม่พบว่าอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพของวัคซีน

มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเยียวยาประชาชน 1,200 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์

เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 28,800 ล้านบาท) ครั้งนี้ เป็นผลจากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการควบคุมโรคระบาดที่รัดกุมขึ้นในช่วง P2(HA) และ P3(HA) ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ขอให้ประชาชน Work From Home อย่างเต็มรูปแบบ และให้งดการรับประทานที่ร้านอาหาร (ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน. 2564 อนุญาตให้รับประทานที่ร้านอาหารได้ไม่เกิน 2 คน และวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ได้เพิ่มเป็นไม่เกิน 5 คน) ซึ่งทำให้ธุรกิจร้านอาหาร การค้าปลีก-ส่ง รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล ศูนย์กีฬาและฟิตเนส และการแสดงและวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก (หมายเหตุ: ทั้งนี้ จำนวนเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รวมถึงมาตรการ Job Support Scheme การยกเว้นค่าเช่าสำนักงานในที่ดินของรัฐ และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ขับรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล จำนวน 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ที่รัฐบาลประกาศมาก่อนหน้านี้ด้วย)

รัฐบาลสิงคโปร์จะไม่ใช้เงินทุนสำรอง (Past Reserves) อีก เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นสูงสุด (ดังเช่นเมื่อปี 2563 ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่ทำให้ GDP สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -5.4 ต่ำสุดตั้งแต่ประกาศเอกราชเมื่อปี 2518 ทำให้ต้องนำเงินทุนสำรองออกมาใช้ 53,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1,288,800 ล้านบาท) กอปรกับเศรษฐกิจสิงคโปร์กำลังฟื้นตัวในปีนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งจัดสรรและกระจายวัคซีนแก่คนในสิงคโปร์ทุกคน ควบคู่กับการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในรูปแบบใหม่ ๆ และการพัฒนาระบบติดตามตัวที่มีประสิทธิภาพ (Test, Trace and Vaccinate)

แหล่งเงินทุนของมาตรการสนับสนุนครั้งนี้ สิงคโปร์จะเคลื่อนย้ายทุนจาก 2 แหล่ง แหล่งทุนละ 600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้แก่ (1) การหมุนเงินจากโครงการใหญ่ 2 โครงการ ภายใต้พระราชบัญญัติการกู้เงินภาครัฐจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ (Significant Infrastructure Government Loan Act – SINGA) คือ โครงการ Deep Tunnel Sewerage System และโครงการ North-South Corridor และ (2) งบประมาณรายจ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ ค.ศ. 2021 โดยนำงบประมาณจากโครงการบางส่วนที่ต้องชะลอไปก่อนได้เนื่องจากโรคระบาดมาใช้จ่ายก่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์จะเสนอ Supplementary Supply Bill ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสิงคโปร์เป็นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564

มาตรการเพิ่มเติมครั้งนี้ยังมุ่งเน้นการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทั้งมาตรการทางภาษีแก่ธุรกิจ การช่วยเหลือการจ้างงาน และการสนับสนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการผ่อนผันการชำระเงินกู้ตามโครงการ Temporary Bridging Loan Programme และ The Enhanced Enterprise Financing Scheme ออกไปอีก 6 เดือน (1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) เนื่องจากรัฐบาลตระหนักดีว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทจะยังไม่ฟื้นตัวได้ดีในปี 2564 นี้

สถานการณ์และแนวโน้มพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีและ EU ก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็ง สำหรับสิงคโปร์ยังคงคาดการณ์ว่า GDP สิงคโปร์ปีนี้ จะเติบโตร้อยละ 4 – 6 ตามที่ประกาศไว้เมื่อต้นปีแต่การฟื้นตัวจะไม่สมดุลหรือเท่าเทียมกันในทุกภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม สำหรับปีงบประมาณ ค.ศ. 2021 รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า จะดำเนินงบประมาณแบบขาดดุลร้อยละ 2.2 หรือ 11,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงข้อห่วงกังวลจากภาคธุรกิจและนักลงทุนในสิงคโปร์ว่า สิงคโปร์อาจเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่เปิดประเทศซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ย้ำว่า การเปิดประเทศจะต้องทำอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจัดสรรและการกระจายวัคซีนอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นของรัฐบาลสิงคโปร์ในขณะนี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง