รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันการปรับขึ้นอัตราภาษี GST (1 มกราคม 2566) แม้ในภาวะค่าครองชีพสูง

นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้แถลงในรัฐสภาสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันจะปรับขึ้นอัตราภาษี GST (เทียบเท่าภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ของไทย) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 และร้อยละ 9 ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นภาษี GST ตามกำหนดการเดิม แม้สิงคโปร์จะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะออกมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐบาลสิงคโปร์เดินหน้าปรับขึ้นภาษี GST ตามแผนเดิมของสิงคโปร์ แม้เผชิญภาวะเงินเฟ้อ

รองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นภาษี GST เพื่อเพิ่มรายได้และงบประมาณให้ภาครัฐนำไปใช้ในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณด้านสาธารณสุขในช่วงเวลาที่สิงคโปร์เข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยระดับสูงสุด กอปรกับเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน และปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องเดินหน้าการปรับขึ้นภาษี GST ตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ โดยคาดว่า จะช่วยนำรายได้เข้าภาครัฐราว 3,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี

รัฐบาลได้จัดทำโครงการ Assurance Package (AP) ด้วยงบประมาณ 6,600 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ เพื่อให้เงินช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยและปานกลางที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี GST โดยคนชาติสิงคโปร์เกือบทุกครัวเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวในระยะยาวอย่างน้อย 5 – 10 ปี และได้รับ GST Voucher เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อาทิ ค่าสาธารณูปโภค รวมถึงได้รับเงินอุดหนุนภาษี GST ในด้านการศึกษาและสาธารณสุข ส่งผลให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสุดในสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของคนชาติ สิงคโปร์ เสมือนไม่ต้องเสียภาษี GST

ผลกระทบของการปรับขึ้นภาษี GST จะตกอยู่กับกลุ่มคนชาติสิงคโปร์ที่มีรายได้สูง รวมทั้งนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์เป็นหลัก ซึ่งมูลค่าภาษี GST จากกลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงกว่าคนชาติสิงคโปร์ด้วย

เหตุผลที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่เลื่อนการขึ้นภาษี GST แม้ในสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง คือ (1) รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ประสงค์ให้มีการใช้เงินทุนสำรอง (Past Reserve) โดยไม่จำเป็น เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คนสิงคโปร์รุ่นหลัง (2) การเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษี GST จะทำให้ผู้มีรายได้สูงยิ่งได้เปรียบและเพิ่มช่องว่างของการกระจายรายได้ และ (3) รายได้ของภาครัฐจากการขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีอสังหาริมทรัพย์ และภาษีบริษัท ตามแผนงบประมาณ ค.ศ. 2022  (Budget 2022) จะยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับขึ้นภาษีประเภทอื่น ๆ อาจกระทบการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี GST เพิ่มเติม

รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงในสิงคโปร์อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์จึงได้แถลงมาตรการเยียวยาประชาชนในโครงการ AP เพิ่มเติมจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้โครงการ AP มีงบประมาณรวม 8,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST เป็นเวลา 5 ปี

รัฐบาลสิงคโปร์จะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือระยะแรกในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ประกอบด้วย (1) การอุดหนุนเงินสด สำหรับคนชาติสิงคโปร์ประมาณ 2.5 ล้านคน เป็นเงินสูงสุด 700 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน (2) คูปองอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค (GSTV U-Save) สำหรับครัวเรือนที่พักอาศัยใน HDB มูลค่าสูงสุด 95 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือน (3) Community Development Council (CDC) Vouchers สำหรับครัวเรือนผู้มีรายได้ปานกลางและน้อย มูลค่า 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือน เพื่อใช้เป็นส่วนลดเมื่อซื้อสินค้ากับร้านค้า ศูนย์อาหาร และร้านสะดวกซื้อ และ (4) คูปอง GSTV-Cash และเงินสมทบบัญชีกองทุนสุขภาพ MediSave สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เป็นเงินสูงสุด 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน และเงินสมทบกองทุนสุขภาพ MediSave อีกจำนวน 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน ทั้งนี้ ประชากรสิงคโปร์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีจะได้รับเงิน MediSave เช่นกัน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 กองข้าราชการพลเรือนสิงคโปร์ (Public Service Division – PDS) ประกาศว่า ข้าราชการพลเรือนสิงคโปร์ทุกคนจะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำปี (year-end bonus) เป็นเงิน 1.1 เท่าของเงินเดือนต่อคน และข้าราขการชั้นผู้น้อยจะได้รับเงินอุดหนุนอีก 700 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST ของข้าราชการกลุ่มนี้

มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน Assurance Package
แหล่งที่มา: MOF (https://www.facebook.com/MOFsg/)

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นาย Chee Hong Tat รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐกระทรวงการคลังสิงคโปร์ให้ข้อมูลว่า จากสถิติปี 2561 – 2562 แหล่งรายได้จากการเก็บภาษี GST ของ รัฐบาลสิงคโปร์ ได้แก่ (1) นักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่อาศัยในสิงคโปร์ร้อยละ 50 และ (2) ครัวเรือนคนชาติ สิงคโปร์ที่มีรายได้สูงร้อยละ 20 รายได้จากภาษี GST จากครัวเรือนและคนชาติสิงคโปร์ที่มีรายได้ปานกลางและน้อย คิดรวมกันเป็นร้อยละ 30 ในส่วนของการคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยว (Tax Refund) นั้น นาย Chee ชี้แจงว่า ในปี 2553 – 2562 การคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 2 ของภาษี GST ทั้งหมด

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอาคาร Housing Development Board (HDB) มือสอง ซึ่งรวมถึงมาตรการห้ามซื้อ HDB มือสองเป็นเวลา 15 เดือนหลังจากการขายบ้านส่วนตัว และปรับลดวงเงินกู้จากหน่วยงาน HDB จากร้อยละ 85 เหลือร้อยละ 80 เพื่อช่วยชะลอความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าที่สูงขึ้นเป็นผลกระทบจากความล่าช้าของการก่อสร้างในช่วงโควิด-19 และการกลับเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ซึ่งเพิ่มความกังวลเรื่องค่าครองชีพให้กับคนสิงคโปร์ รวมถึงคนต่างชาติทีอาศัยในสิงคโปร์ และอาจกระทบถึงการดึงดูดแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานที่สิงคโปร์มากขึ้น

สถานเอกอัครราชทูตฯมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีข้อห่วงกังวลต่องบประมาณรายจ่ายภาคสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อปี 2553 เป็น 10,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2563 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP ของสิงคโปร์ โดยปัจจุบันตัวเลขประมาณการรายจ่ายด้านสาธารณสุขน่าจะเพิ่มเป็นเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 4 เท่าจากปี 2553 ดังนั้น รายจ่ายด้านสาธารณสุขจึงเป็นเหตุผลสำคัญในการปรับขึ้นภาษีประเภทต่าง ๆ ของรัฐบาลสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของ สิงคโปร์ ลดลงจากร้อยละ 5.3 เมื่อเดือนกันยายน 2565 เป็นร้อยละ 5.1 ในเดือนตุลาคม 2565 และดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงเหลือร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงครั้งแรกในรอบปี และเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้นว่ามาตรการทางการเงินของสิงคโปร์เริ่มได้ผลในการชะลอเงินเฟ้อ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง