โครงการพัฒนาเมือง Tengah เมืองต้นแบบสีเขียวแห่งแรกของสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ โดยการเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ (Housing and Development Board: HDB) และสำนักงานการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority: URA) ได้ริเริ่มก่อสร้างเมือง“Tengah” ซึ่งออกแบบภายใต้เเนวคิดเมืองต้นแบบสีเขียวและเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนแห่งแรกของสิงคโปร์ โครงการฯ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศมีพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ประกอบด้วยที่พักอาศัยรวมทั้งสิ้นประมาณ 42,000 ยูนิต แบ่งเป็น 5 เขตที่พักอาศัย (Housing Districts) ได้แก่ Plantation, Park, Garden, Brickland และ Forest Hill โดยเเต่ละเขตจะออกเเบบให้สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ในเเต่ละด้านของเมือง เช่น Plantation District (ซึ่งเป็นเขตเเรกที่เริ่มก่อสร้าง รวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ยูนิต) ใช้เเนวคิด Farm-to-Table หรือที่พักอาศัยคู่การเกษตรชุมชน โดยจัดพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเกษตรต่าง ๆ เช่น ตลาดชุมชน และ Park District ที่จะเป็น Hub ของระบบขนส่งสาธารณะสีเขียว ซึ่งรวมถึงการเป็นต้นเเบบ Car-free Town แห่งเเรกของสิงคโปร์ด้วย

นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการเเห่งชาติของสิงคโปร์ ได้แถลงเรื่องโครงการพัฒนาเขตเมืองใหม่ Tengah เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ (Committee of Supply) ต่อรัฐสภาของสิงคโปร์ และได้ประกาศเป็นแผนแม่บทอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 พื้นที่เขตที่พักอาศัย Tengah เคยเป็นพื้นที่ฝึกซ้อมทางการทหารของสิงคโปร์มาตั้งเเต่ ปี 2523 โดยพื้นที่เฟสแรกของโครงการฯ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 และคาดว่าการก่อสร้างทั้งโครงการฯ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นโครงการเมืองที่พักอาศัยที่พัฒนาโดย รัฐบาลสิงคโปร์ (HDB town) ลำดับที่ 24 ของสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์เปิดให้ประชาชนจองที่พักอาศัยใน Tengah เป็นครั้งเเรกเมื่อปี 2561 ก่อนการก่อสร้าง (Build-to-Order Flats: BTO Flats) และได้ทยอยเปิดให้ประชาชนจองที่พักอาศัยเป็นรอบ ๆ ในทุกปี โดยจะพิจารณาให้ประชาชนที่ทำงานหรือดำเนินธุรกิจในเขตนวัตกรรม Jurong Innovation District (ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเช่นกัน) สามารถจองที่พักได้ก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทาง

แผนการดำเนินงานและเป้าหมาย

โครงการพัฒนาเมืองใหม่ Tengah ประกอบด้วยแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย 7 ด้าน ได้แก่

  1. Smart Planning คือ การนำโปรแกรมจำลองคอมพิวเตอร์และนำผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีที่สุด มาใช้ออกแบบผังเมืองและอาคารทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในด้าน
    • การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศเเละลดปริมาณความร้อนเข้าสู่อาคาร
    • การติดตั้งเซลล์สุริยะเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการกำหนดมาตรการการใช้หลอดไฟ Smart LED ในทุกอาคาร
    • การเป็นศูนย์ต้นแบบ Car-free Town และการสร้างอุโมงค์ทางสัญจร/ลานจอดรถใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหา/ข้อจำกัดด้านพื้นที่ใช้สอยบนดินที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อให้มีพื้นที่ บนดินให้เพียงพอสำหรับการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 70% ของโครงการฯ) รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทางเท้า และทางจักรยานในชุมชนให้เพียงพอด้วย
  2. Smart Energy Management การเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ ร่วมกับบริษัทพลังงาน SP Group (หรือชื่อเดิมคือ Singapore Power เป็นหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซขอรัฐบาลสิงคโปร์) พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และ AI สำหรับการอนุรักษ์พลังงานทั่วเมือง และได้ออกแบบแอปพลิเคชันให้ผู้อยู่อาศัยสามารถตรวจสอบการใช้พลังงานในเเต่ละครัวเรือนอย่างแม่นยำ
  3. Smart Lighting การควบคุมระดับแสงสว่างในพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็นของแต่ละช่วงเวลา (เช่น แสงไฟถนนที่จะค่อย ๆ ลดระดับความสว่างลงในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น) เพื่อประหยัดพลังงาน
  4. Automated Waste Collection การติดตั้งระบบท่อส่งขยะโดยตรงจากอาคาร HDB เพื่อไปรวมที่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง โดยใช้ระบบลำเลียงของเสีย “Pneumatic Waste Conveyance System” (PWCS) ซึ่งเป็นระบบรวบรวมขยะอัตโนมัติที่ใช้แรงดูดอากาศความเร็วสูง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์/มูลฝอยตกค้าง และช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวัน
  5. EVs – ready จะมีจุดชาร์จรถยนต์ EVs ในลานจอดรถทุกแห่ง
  6. Smart-enabled Homes ในแต่ละยูนิตของ HDB จะติดตั้งปลั๊กไฟอัจฉริยะ (Smart Switch) และแผงควบคุม (Distribution Board) ควบคุมการทำงานผ่าน Application ซึ่งจะช่วยคำนวณปริมาณการใช้ไฟ ที่เหมาะสมและปรับปรุงแนวทางการใช้พลังงานเพื่อช่วยประหยัดพลังงานได้สูงสุด
  7. Centralised Cooling System การติดตั้งระบบทำความเย็นและระบบหล่อเย็นใต้ดินแบบ รวมศูนย์ในแต่ละอาคาร (ควบคุมอุณหภูมิของทั้งอาคาร ณ ห้องควบคุมเดียว) ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานมากกว่าการใช้เครื่องปรับอากาศแยกกันในแต่ละยูนิต

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบัน ประชาชนของสิงคโปร์มากกว่า 80% พักอาศัยอยู่ในโครงการที่พักอาศัยที่พัฒนาโดยรัฐ (HDB Flats and public housing) ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนา HDB แห่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในด้านตะวันตกซึ่งจะรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ ทั้งการสร้างเขตศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) แห่งที่ 2 ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเขต Jurong (Jurong Innovation District) และท่าเรือ Tuas ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และจะสร้างอุปสงค์ด้านที่พักอาศัยในเขตตะวันตกอย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น โครงการ Tengah จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากประชาชนในสิงคโปร์เนื่องจากจะช่วย 1) ลดความแออัดของที่พักอาศัยในด้านตะวันตกของประเทศ 2) อำนวยความสะดวกประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานหรือทำงานธุรกิจในมาเลเซียทางรถยนต์ (ผ่านทางพิเศษ Second Link Bridge) ทุกวัน และ 3) แสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ สื่อมวลชนต่างประเทศ อาทิ CNN ได้รายงานข่าวโครงการ Tengah ว่าเป็นต้นแบบของ Eco-city ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากโครงการ Tengah แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อสภาพสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษในเขต HDB อื่น ๆ โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนสารพิษเป็นครั้งแรกในเขต Kampong Bugis (ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ และมีพื้นที่โดยรวมประมาณ 20 ไร่) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนพัฒนา Green City อย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของ Kallang Gasworks Site ที่อาจมีการปนเปื้อนสารพิษในดินและน้ำ อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่โดยรอบรัศมี 100 เมตร เป็นที่ตั้งของอาคาร HBD ซึ่งปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยราว 3,550 ราย จึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง