เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency – NEA) สิงคโปร์ ได้เริ่มใช้ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste Management System) ทั่วสิงคโปร์

ข้อมูลภูมิหลัง

การจัดการ e-waste เป็นภารกิจสำคัญภายใต้แผนแม่บท ‘ขยะเป็นศูนย์’ (Zero Waste Masterplan) ของสิงคโปร์ ซึ่งวางเป้าหมายว่าจะลดปริมาณขยะจำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบ Semakau (เกาะทางตอนใต้ของสิงคโปร์) ภายในปี 2573 ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (regulated e-waste) ของสิงคโปร์ กำกับและควบคุมโดยพระราชบัญญัติความยั่งยืนด้านทรัพยากร (Resource Sustainability Act – RSA) 

เมื่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หมดอายุการใช้งาน บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบการนำไปกำจัด และจะต้องรวบรวมสินค้าที่หมดอายุการใช้งานจากผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และส่งไปรีไซเคิลหรือแยกชิ้นส่วนต่อไป ทั้งนี้ สำนักงาน NEA ได้กำหนดรายการ regulated e-waste โดยพิจารณาจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากสินค้าหมดอายุประเภทต่าง ๆ  และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสาธารณะ หากไม่ได้ถูกกำจัด/รีไซเคิลอย่างถูกวิธี ได้แก่ 1) แผงโซลาร์เซลล์ 2) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และโทรทัศน์ 3) อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และ เราเตอร์ (router) 4) หลอดไฟ และ 5) แบตเตอรี่

สำนักงาน NEA ได้แต่งตั้งให้บริษัท Alba E-Waste Smart Recycling (ในเครือ Alba Group บริษัทจัดการขยะระหว่างประเทศของเยอรมนี) เป็นผู้ดำเนินการแผน Producer Responsibility Scheme (PRS) ซึ่งให้บริการรวบรวม e-waste ในสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 5 ปี (1 กรกฎาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2569) โดยตั้งเป้าหมายที่จะรวบรวม e-waste ให้ได้ประมาณ 20,000 ตัน จากปริมาณ e-waste ทั้งหมดในสิงคโปร์ 60,000 ตัน/ปี (หรือเทียบเท่ากับการทิ้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 70 เครื่อง/คน)

การดำเนินการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์        

แหล่งที่มา: https://mothership.sg/

สำนักงาน NEA และ บริษัท Alba ได้ผลักดันการรีไซเคิล e-waste หลายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น ถังขยะรีไซเคิล e-waste บริการกำจัด e-waste โดยเทศบาลเขต (town councils) บริการรถรับ e-waste ตามเขตที่อยู่อาศัย (รายไตรมาส) บริการรับคืนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเก่าเมื่อจัดส่งสินค้าใหม่ประเภทเดียวกัน (Free one-for-one takeback) รวมถึงบริการรวบรวม e-waste จากบ้านพักอาศัยแบบมีค่าบริการ

นาย Fons Krist ผู้จัดการทั่วไปของ บริษัท Alba E-Waste ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ เน้นการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้ชาวสิงคโปร์สามารถรีไซเคิล e-waste ได้สะดวก โดยจะวางถังขยะรีไซเคิล e-waste มากกว่า 300 ถัง ในสถานที่ที่เข้าถึงง่าย เช่น ห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ ผู้บริโภคผู้จะได้รับคะแนน เมื่อรีไซเคิล e-waste ผ่านแอปพลิเคชัน Step Up ของ บริษัท Alba โดยสแกนรหัสคิวอาร์ (QR Code) และถ่ายภาพ e-waste ที่จะรีไซเคิลตามจุดรวบรวม

e-waste และสามารถแลกคะแนนเป็นบัตรกำนัลจาก Grab หรือบริการต่าง ๆ เช่น บริการรถโดยสาร จัดส่งอาหาร แบ่งปันจักรยาน และผลิตภัณฑ์ด้านความงามและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการรวบรวม e-waste เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2564 บริษัท Alba ได้รวบรวมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ประมาณ 200 ตัน โดยร้อยละ 80 เป็นเครื่องปรับอากาศ (160 ตัน) และได้รวบรวมคอมพิวเตอร์พกพาประมาณ 15 ตัน โดยบริษัทฯ จะเคลื่อนย้าย e-waste ที่ถูกคัดแยกประเภทแล้วไปยังผู้ประกอบการรีไซเคิล ซึ่งมีหน้าที่คัดแยกส่วนประกอบและกู้คืนชิ้นส่วนวัตถุดิบ (raw materials) อย่างน้อยร้อยละ 50 ต่อปี ของ e-waste ที่ได้รับ ทั้งนี้ อัตราการกู้คืนชิ้นส่วนวัตถุดิบขั้นต่ำขึ้นอยู่กับประเภทของ e-waste ได้แก่ 1) แบตเตอรี่ร้อยละ 50 ของน้ำหนักรวมแบตเตอรี่ 2) อุปกรณ์ ICT และแผงโซลาร์เซลล์ ร้อยละ 70 3) เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่และโคมไฟ ร้อยละ 80

บริษัท Virogreen ผู้ให้บริการรีไซเคิลในเขต Tuas สิงคโปร์ ซึ่งจัดการกับ e-waste ประมาณ 100 ตันต่อเดือน พบว่า อัตรา e-waste ที่ผู้ใช้ไม่สามารถซ่อมแซมได้ แต่บริษัทสามารถฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้อยู่ที่ร้อยละ 80 – 100 นอกจากการส่ง e-waste ที่รีไซเคิลได้ให้ผู้ผลิตแล้ว บริษัทยังได้แยกและซ่อมแซม e-waste ที่ยังมีสภาพดี และนำไปบริจาคเพื่อเพิ่มอัตราการกู้คืนชิ้นส่วนวัตถุดิบด้วย ทั้งนี้ วัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น โฟมและฟองน้ำ

อนึ่ง ความท้าทายในกระบวนการรีไซเคิลที่สำคัญ คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการควบคุม (unregulated e-waste) เช่น เครื่องปั๊มน้ำนม (breast pump) ของเล่นเด็ก และเครื่องนวดไฟฟ้าพกพา เป็นต้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ e-waste ที่ถูกทิ้งในถังขยะรีไซเคิล ส่งผลให้ บริษัท Alba ต้องใช้ทรัพยากรและกำลังคนเพิ่มเติมในการคัดเลือก unregulated e-waste นอกจากนี้ การกำจัด e-waste พร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์ส่งผลให้ถังขยะเต็มเร็วขึ้น และศูนย์คัดแยกต้องแยก e-waste ออกจากบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งหาวิธีกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี e-waste ที่ไม่ได้รับการควบคุมสามารถกำจัดได้ผ่านโครงการที่ดำเนินการโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือผู้รวบรวมขยะสาธารณะ (Public Waste Collectors – PWCs แต่งตั้งโดย NEA) อาทิ โครงการ Cash-for-Trash ที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยตามเขตต่าง ๆ ในสิงคโปร์ สามารถนำขยะรีไซเคิลมาขายเป็นเงินได้

ข้อมูลเพิ่มเติม  

ปัจจุบัน PWCs 3 ราย ในสิงคโปร์ ดำเนินการตามเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ 1) บริษัท ALBA W&H Smart City: เขตด้านตะวันตก Jurong 2) บริษัท SembWaste: เขต Punggol, Woodlands-Yishun และ Clementi-Bukit Merah และ 3) 800 Super Waste Management: เขต Ang Mo Kio-Toa Payoh และฝั่งตะวันออก Pasir Ris-Bedok

แหล่งที่มา: https://www.nea.gov.sg/

‘SS 587’ เป็นมาตรฐานระบบการจัดการอุปกรณ์ ICT ที่หมดอายุการใช้งานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการรับรองและมีกรอบการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากลอื่น ๆ (เช่น ISO 14001 การจัดการสิ่งแวดล้อม) โดยธุรกิจ SMEs ใน สิงคโปร์ ที่ต้องการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานฯ สามารถสมัครขอเงินทุนสนับสนุนโครงการ Enterprise Development Grant (EDG) [สังกัดหน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG)] สูงสุดถึงร้อยละ 70 ของต้นทุนที่เข้าเงื่อนไข


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์