เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 นายชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ และนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี (Retno Lestari Priansari Marsudi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารและร่วมประกาศการเริ่มมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคี สิงคโปร์ – อินโดนีเซีย (Bilateral Investment Treaty – BIT) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กล่าวภายหลังการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยให้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนสิงคโปร์ไปลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างระบบกฎหมายและกติกาเพื่อคุ้มครองนักลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยสนธิสัญญามีเนื้อหาครอบคลุมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนด้วยกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า สนธิสัญญา BIT จะช่วยเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างอินโดนีเซีย – สิงคโปร์ ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ 18 % และ 22 % ตามลำดับ โดยตั้งเป้าหมายการขยายการลงทุนระหว่างกัน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ภายในปี 2573 โดย BIT จะนำไปสู่ความสมประโยชน์ (win-win situation) เนื่องจากระบุมาตรการทางกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองนักลงทุน และสร้างสมดุลระหว่างสิทธิกับพันธกรณีที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อรัฐเป้าหมายการลงทุน นอกจากนี้ BIT ยังสะท้อนว่าอินโดนีเซียและสิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเป็นธรรมระหว่างกัน ในช่วงหลังโควิด-19

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กล่าวถึงพื้นที่การลงทุนในอินโดนีเซียที่สำคัญ 3 พื้นที่ ได้แก่

  1. เขตอุตสาหกรรม Kendal (Kendal Industrial Park – KIP) ในจังหวัด Central Java ซึ่งสิงคโปร์ ได้เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดการสร้างงานแล้ว 9,000 อัตรา โดยเน้นอุตสาหกรรมแฟชั่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่อง การก่อสร้าง วัตถุดิบ โลจิสติกส์ คลังสินค้า เครื่องเรือน และการบรรจุหีบห่อ ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ประกาศให้ KIP เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม Kendal ให้ดึงดูดและเอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติในระยะยาว
  2. นิคมดิจิทัล Nongsa (Nongsa Digital Park) ในจังหวัด Kepulauan Riau (KEPRI) เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลระหว่างภาคเอกชน (tech firm) สิงคโปร์ – อินโดนีเซีย โดยบริษัทของสิงคโปร์จำนวนไม่มากได้เริ่มเข้าไปลงทุนในนิคมฯ ตั้งแต่ปี 2561 และได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีบริษัทและธุรกิจ Startup สิงคโปร์มากกว่า 150 รายลงทุนในนิคมฯ มีการจ้างงานนักพัฒนาเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ 900 อัตรา ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 อินโดนีเซียยังได้จัดตั้งเมืองดิจิทัล Nongsa (Nongsa Digital Town) ซึ่งเป็นโครงการย่อยของนิคมฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยี สิงคโปร์ด้วย
  3. เกาะ Batam Bintan และ Karimun (BBK) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ย้ำว่า เกาะ BBK ทั้ง 3 แห่งจะยังคงเป็นพื้นที่การลงทุนสำคัญของภาคเอกชนสิงคโปร์ซึ่ง BBK เป็นเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ด้วย โดยเฉพาะเกาะ Batum ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรี ทั้งนี้ สิงคโปร์มีความพร้อมที่จะส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเขต BBK ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเมื่อปี 2563 มูคค่าการลงทุนของสิงคโปร์ในเขต Batam ปรับลดลงจาก 123.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2562 เป็น 81.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563

นอกจากสนธิสัญญาการลงุทนแล้ว สิงคโปร์และอินโดนีเซียยังได้จัดทำความตกลงป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Avoidance of Double Taxation Agreement – DTA) ซึ่งได้มีการลงนามในช่วงการเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ (State Visit) ของประธานาธิบดีของสิงคโปร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อลดภาระด้านภาษีแก่นักลงทุน
ของ 2 ประเทศ

สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 1 ของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6.5% ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2563 สิงคโปร์ลงทุนในอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสองฝ่ายยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน (อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของสิงคโปร์) โดยมีมูลค่าการค้า ประมาณ 48,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง