สำนักข่าว Bloomberg จัดงานสัมมนา Bloomberg New Economy Forum 2021 (NEF) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรม Capella สิงคโปร์ สรุปผลการจัดงานสัมมนา ดังนี้

สิงคโปร์เคยเป็นสถานที่จัดงาน NEF ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2561 เพื่อเป็นเวทีการพบปะหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศตะวันตกกับตะวันออก สำหรับงาน NEF ครั้งที่ 4 ในปีนี้มีบุคคลสำคัญทั้งระดับผู้นำประเทศและรัฐบาล ผู้บริหารภาครัฐ-เอกชน นวัตกร และนักวิชาการ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนรวม 650 คน (ระดับ CEO 350 คน) จาก 41 ประเทศทั่วโลก

นอกจากการสัมภาษณ์พิเศษของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แล้ว NEF ยังจัดการสัมภาษณ์และอภิปรายของ (1) นายหวัง ฉีซาน (Wang Qishan) รองประธานาธิบดีจีน (เข้าร่วมผ่านระบบทางไกล) ซึ่งกล่าวเน้นแนวคิดพหุภาคีนิยมของจีนกว่า 20 ครั้ง (2) นาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เกี่ยวกับมุมมองทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อพันธมิตรในเอเชีย (3) นาย Sundar Pichai ประธานบริหารบริษัท Google/Alphabet  เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) นาย Bill Gates ประธานมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ในวิสัยทัศน์ต่อสาธารณสุขทั่วโลกกับความพร้อมในการต่อสู้กับโควิด-19 และ (5) บทสนทนาระหว่างนาย Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กับนาง Hillary Rodham Clinton อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และนาย Subrahmanyam Jaishankar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ต่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่

รัฐบาลสิงคโปร์จัดการมาตรการทางสาธารณสุขและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในงาน NEF อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ปรากฏรายงานข่าวการติดเชื้อของผู้เข้าร่วมงานที่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดฯ ในสิงคโปร์ ทั้งนี้ NEF เป็นงานสัมมนาฯ นำร่องภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดการประชุมขนาดใหญ่ (MICE) ของสิงคโปร์ และเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สิงคโปร์เชิญผู้แทนระดับสูงและอดีตผู้นำของภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลกมาร่วมงานที่สิงคโปร์ (หลังจากที่ก่อนหน้านี้สำนักงานเลขาธิการ WEF ประกาศยกเลิกการจัดงาน World Economic Forum ในสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564)                           

ทั้งนี้ สิงคโปร์ผ่อนปรนมาตรการทางสาธารณสุขต่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ เป็นพิเศษ โดยไม่ได้จำกัดเขตพื้นที่ที่เดินทางได้ ทั้งยังอนุญาตให้สามารถรวมตัวเพื่อร่วมกิจกรรมหรือรับประทานอาหารร่วมกันได้มากกว่า 2 คน แต่ผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนครบถ้วนและผ่านการตรวจ PCR ทั้งก่อนการเดินทางเข้าสิงคโปร์ และทันทีที่เดินทางถึงสิงคโปร์ที่ท่าอากาศยานชางงี รวมถึงจะต้องเข้ารับการตรวจ Antigen Rapid Test (ART) สิงคโปร์หวังที่จะให้งาน NEF ช่วยเน้นย้ำบทบาทของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจระดับโลกและเป็นพื้นที่จัดงานของอุตสาหกรรม MICE (การจัดประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ) ที่มีศักยภาพ ในขณะที่ประเทศก้าวเข้าสู่การใช้ชีวิตกับโควิด-19 แบบ endemic

การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Bloomberg เกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและในสิงคโปร์ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการรับมือกับโรคโควิด-19 สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ สิงคโปร์ยินดีที่เห็นท่าทีที่สร้างสรรค์จากการร่วมมือกันของสหรัฐฯ และจีนในการประชุมระหว่างประเทศ อาทิ COP26 และการหารือทวิภาคีผ่านระบบทางไกลของผู้นำสูงสุดของสองฝ่าย อย่างไรก็ดี จีนและสหรัฐฯ มีมุมมองต่อโลกและมุมมองต่อกันและกันที่แตกต่างกันมาก สังคมทั่วไปในสหรัฐฯ มองว่า จีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ภัยคุกคาม” แต่เป็น “ผู้ท้าทาย” และ “ผู้ต่อต้าน”สหรัฐฯ ด้วย ดังนั้นการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนจึงไม่ใช่เพียงการทดสอบความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ แต่ยังมีมิติด้านคุณธรรมและค่านิยมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหรัฐฯ หวังให้ประชาคมโลกคำนึงถึงคุณค่าเหล่านี้ร่วมกัน ในขณะที่จีนมองว่า สหรัฐฯ ต้องการถ่วงหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของจีน ซึ่งสหรัฐฯ อาจรู้สึกพลาดที่เคยช่วยเหลือจีนโดยให้สถานะ MFN ต่อจีนและเชิญจีนเข้าร่วม WTO นอกจากนี้ จีนยังรู้สึกว่าเวลาของจีนได้มาถึงแล้วและจีนควรจะได้รับสถานะที่ชอบธรรมยิ่งขึ้นบนเวทีโลก

ความตกลง CPTPP ทั่วโลกเกิดกระแสที่เชื่อว่าตะวันออกกำลังรุ่งเรือง แต่ตะวันตกกำลังตกต่ำ โดยเฉพาะข้อสังเกตเรื่องการเสื่อมอำนาจของสหรัฐฯ แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้ว ต้องพิจารณาว่า สหรัฐฯ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เดิมที อดีตประธานาธิบดีโอบามาก็พยายามผลักดันให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP แต่สิ่งที่อาจมองข้ามไปคือการเจรจาหรือสร้างความเข้าใจกับรัฐสภาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งจึงปิดฉากการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวของสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบัน (You are now in the position that it is dead.) สหรัฐฯ และจีนน่าจะร่วมมือกันในความตกลงพหุภาคีอย่าง CPTPP ได้ง่ายกว่าการจัดทำ FTA ทวิภาคีระหว่างกัน สำหรับมุมมองคำขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของจีนและไต้หวันนั้น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยืนยันว่า CPTPP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างต่อประเทศ/ดินแดนที่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานที่สูงของ CPTPP ได้ โดยสมาชิก CPTPP จะตัดสินใจร่วมกันด้วยมติเอกฉันท์ในการรับสมาชิกเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องพิจารณาประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงเพิ่มเติมจากประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าด้วย

ข้อเสนอแนะของสิงคโปร์เรื่องความตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะกลับมาร่วม CPTPP ในขณะนี้สิงคโปร์จึงได้นำเสนอแนวคิดเรื่องความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEA) (แบบพหุภาคี) กับสหรัฐฯ และบางประเทศในเอเปค ซึ่งหวังว่าสหรัฐฯ จะตอบตกลง แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐบาลพรรคเดโมแครตที่จะดำเนินการเนื่องจากให้คำสัญญาไว้ว่าจะดูแลชนชั้นกลางภายในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นว่าการเชื่อมโยงเรื่องการระหว่างประเทศกับการเมืองภายในประเทศมากเกินไปอาจทำให้สหรัฐฯ ตกขบวนหรือพลาดโอกาสได้ โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นว่า แม้ว่าจีนจะเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ สหรัฐฯ ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และหากสมมติว่าตนเป็นประธานาธิบดีไบเดนฯ ก็จะดำเนินการ (1) ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2) พัฒนาความสัมพันธ์กับจีน (3) สร้างเพื่อนและพันธมิตรในภูมิภาคมากขึ้น และ (4) สร้างความเชื่อมั่นว่าประธานาธิบดีคนต่อไป (หลังปี 2567) จะมีแนวคิดในแบบเดียวกัน (ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม)

ประเด็นไต้หวัน สิ่งที่น่ากังวลคืออุบัติเหตุหรือการคำนวณที่ผิดพลาด (mishap or miscalculation) ในการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวันเอง เนื่องจากปัจจุบันต่างฝ่ายต่างส่งสัญญาณที่ชัดเจน คือ (1) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้จะแจ้งฝ่ายจีนว่า สหรัฐฯ ยังคงเคารพหลักการจีนเดียวแต่ก็กล่าวถึง Taiwan Relations Act (2) ประธานาธิบดีจีนไม่รีบร้อนในการแก้ไขปัญหาสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน (ซึ่งหมายถึงเป้าหมายการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว) และ (3) ประธานาธิบดีไต้หวัน ต้องการคง status-quo แต่ก็ดำเนินการที่สร้างความไม่พอใจแก่จีนแผ่นดินใหญ่ อาทิ การระบุคำว่า “Taiwan Passport” บนเล่มหนังสือเดินทาง โดยไม่นานนี้ จีนได้ทดสอบศักยภาพของกองทัพอากาศไต้หวัน โดยการส่งอากาศยานหลายลำเข้าไปในเขต ADIZ ของไต้หวัน ดังนั้น อุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิด/การคำนวณที่ผิดพลาดก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาได้

ประเด็นฮ่องกง ปัญหาของฮ่องกงในปัจจุบันทั้งด้านนิติบัญญัติและตุลาการเป็นปัญหาที่ไม่สามารถปล่อยให้ยืดเยื้อไปอีก 50 ปีได้ และเป็นปัญหาที่ค่อนข้างฝังรากลึก ซึ่งส่งผลกระทบต่อนานาประเทศด้วย ฮ่องกงมีความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่จีนก็มีตัวเลือกในการพัฒนาเมืองอีกมากมาย ดังนั้น ชาวฮ่องกงคงต้องดูว่าจะสามารถพัฒนาฮ่องกงไปได้อย่างไรไม่ให้ขัดกับหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ ต่อข้อสอบถามที่ว่า สิงคโปร์ได้ประโยชน์จากการที่ฮ่องกงมีปัญหานั้นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเลือกว่าใครดีกว่าใคร แต่ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงสามารถเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันได้ โดยสิงคโปร์ก็จะทั้งร่วมมือและแข่งขันทางธุรกิจกับฮ่องกงด้วย

สถานการณ์โควิด-19 ในสิงคโปร์ ประเด็นที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามเร่งดำเนินการในขณะนี้คือการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 61,000 ราย ที่ยังไม่ยอมรับวัคซีนส่วนความเห็นต่อนโยบาย Covid-Zero ของจีนนั้น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เคารพการตัดสินใจของจีน แต่สิงคโปร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด-19 ของสิงคโปร์เอง (อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้แถลงในโอกาสการประชุมพรรค PAP หลังจากกระแสข่าวการอุบัติขึ้นไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ว่าสิงคโปร์อาจต้องพิจารณาทบทวนมาตรการบางอย่างและ may be forced to take steps back.) 

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสิงคโปร์ (1) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไม่กังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อย (เพราะเป็นเรื่องปกติหลังเศรษฐกิจฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 โดยสหรัฐฯ เองมีอัตราเงินเฟ้อมากถึงร้อยละ 5 – 6 แต่อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.2)  (2) สิงคโปร์จะพิจารณาเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตัน รัฐบาล พิจารณาปรับขึ้นและจะประกาศใช้ได้ภายหลังปี 2567 (3) สิงคโปร์จัดการความเหลื่อมล้ำของรายได้ผ่านการเก็บภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) เพิ่มเติมจากภาษีที่ดิน โดยเป็นภาษีความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้าหรือรูปแบบอื่น ๆ เช่น ภาษีกำไรจากการลงทุน ภาษีจากการประเมินความร่ำรวย ภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งบริหารจัดการยากกว่า (และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากอาจส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของสิงคโปร์เอง และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ MNCs) ดังนั้น รัฐบาลจะยังคงศึกษาเรื่องนี้เพื่อหาระบบการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้าที่เป็นธรรม รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมกัน (ทางโอกาส) แก่คนรุ่นหลังเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป

การเมืองภายในสิงคโปร์ ต่อข้อสอบถามว่า นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้วางตัวรัฐมนตรีซึ่งเป็นทายาททางการเมือง 2 คน ให้บริหารงานด้านโควิด-19 เพื่อประเมินศักยภาพว่า ใครเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนต่อไปนั้น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ตอบว่า สิ่งที่ตนทำคือการสร้างทีมงาน ซึ่งทีมงานต้องการทักษะที่หลากหลายจากบุคคลที่หลากหลาย โดยทุกคนมีส่วนสำคัญและช่วยสร้างคุณูปการต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาประเทศเพื่อชนรุ่นหลัง ต่อคำถามเรื่องวิสัยทัศน์อีก 10 ปีข้างหน้าว่านายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จะกำลังทำอะไรอยู่ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ตอบว่าหวังว่าจะไม่ต้องทำหน้าที่ในปัจจุบันนี้แล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

  • นาย Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ระดับโลก Tesla ที่ได้ตอบรับเข้าร่วมงานสัมมนาฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 แต่ไม่ปรากฏว่าได้เข้าร่วมสัมภาษณ์หรือร่วมการบรรยายในงานสัมมนาฯ ครั้งนี้แต่อย่างใด
  • รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มฟื้นฟูอุตสาหกรรม MICE ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2564 เห็นได้จากงาน Gamescom Asia และการประชุมสุดยอดผู้นำร่วมของสมาคม MICE (Joint Leadership Summit of the top Mice associations) ในเดือน ตุลาคม 2564 ที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ได้ประกาศกำหนดการของกิจกรรม MICE สำหรับปี 2565 คือ งาน Singapore Airshow ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และการประชุม Global Health Security ในเดือน มิถุนายน 2565
  • สำหรับความคืบหน้าโครงการ MICE ของประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการอนุญาตให้จัดงาน MICE ภายใต้มาตรการผ่อนปรน “โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน” ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรม MICE การเดินทางธุรกิจ และการท่องเที่ยว ผู้จัดงานต้องปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนที่ครอบคลุมทั้งด้านสภาพแวดล้อม บุคลากร และลูกค้าของงาน เช่น จำกัดเวลาและจำนวนผู้เข้าร่วมงาน จัดทำแผนฉุกเฉิน เลือกสถานที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+/TMVS Plus 2HY ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง