ตามที่ในช่วงปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งการเติบโตของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจดิจิทัล สิงคโปร์และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ราย ต่างมีความต้องการจ้างงานด้าน FinTech เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กระแสการแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรในด้านนี้จึงรุนแรงขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินกลยุทธ์การปรับตัวในเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว

สถานการณ์ตลาดงานธุรกิจ Fintech ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธุรกิจ Fintech ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่และเติบโตขึ้นอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการขยายตัวของอุปสงค์สำหรับตำแหน่งงานของอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง Fintech รายงานอัตราการว่างงานของภาคบริการทางการเงินและเทคโนโลยี สูงถึงร้อยละ 7.7  โดยอุปสงค์แรงงานด้าน Fintech เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการระดมทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในภาคธุรกิจ FinTech ปี 2564 

จากผลสำรวจของสมาคม Singapore Fintech Association (SFA) พบว่าบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 73 วางแผนจะจ้างพนังงานด้าน Fintech เพิ่มขึ้น ทำให้แต่ละบริษัทมีพนักงานในด้านนี้อย่างน้อย 10 คนขึ้นไป ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ tech wizards (พ่อมดด้านเทคโนโลยี) ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน และ commercial evangelists (ผู้เผยแพร่นวัตกรรมองค์กรเชิงพาณิชย์) มีหน้าที่ด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาดของผลิตภัณฑ์ Fintech          

ข้อมูลจากบริษัทจัดหางาน Michael Page ระบุว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก สตาร์ทอัพ และยูนิคอร์นต่างแข่งขันกันเพื่อดึงตัวบุคลากรด้าน FinTech มาร่วมงาน ซึ่งบุคลากรในสายงานนี้ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามมีความได้เปรียบในการต่อรองกับนายจ้าง และสามารถขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 15- 20 ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยบุคลากรในสายงานนี้จะทำงานในแต่ละองค์กรประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในปัจจุบันพบว่า บุคลากร FinTech ย้ายไปทำงานกับบริษัทใหม่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะลาออกจากที่เดิมภายใน 1 – 2 ปี ในขณะที่ 1 ใน 3 จะย้ายไปบริษัทใหม่หลังจากทำงานได้ 3 – 5 ปี

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการจ้างงานและบุคลากรในอุตสาหกรรม Fintech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้        

การทำงานผ่านระบบทางไกลกลายเป็นวิถีใหม่ของการทำงานในช่วงหลังโควิด-19 และทำให้การทำงานแบบข้ามพรมแดนเป็นที่แพร่หลายอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกลยุทธ์การจ้างงาน และสำหรับอุตสาหกรรม ดิจิทัลและ FinTech ก็อาจก่อให้เกิดภาวะสมองไหลได้ เช่น มาเลเซียประสบปัญหาที่แรงงานฝีมือเดินทางไปทำงานใน สิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราเงินเดือนในสิงคโปร์มากกว่ามาเลเซียถึง 3 เท่า กรณีที่เห็นได้ชัด คือ บริษัท Grab ที่ก่อตั้งในมาเลเซีย แต่ไปตั้งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ โดยมีพนักงาน 3,000 คน แม้จะยังคงรักษาการจ้างพนักงานในมาเลเซียมากกว่า 1,000 คน แต่อัตราเงินเดือนของสำนักงานใหญ่ของ Grab ที่สิงคโปร์สูงกว่าสำนักงานในมาเลเซียมาก

การขยายตัวของการจ้างงานในบริษัท FinTech ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในภูมิภาคโดยรวม โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในแง่วิธีการทำงาน คือ การทำงานผ่านระบบทางไกล โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องพบปะแบบตัวต่อตัว และในด้านสถานที่ คือ ไม่จำเป็นต้องทำงานในสำนักงาน หรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นจากผลสำรวจโดยสมาคม SFA และบริษัท Accenture ของสิงคโปร์พบว่าภาคเอกชนในสิงคโปร์มากกว่าครึ่งหนึ่ง อนุญาตให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากนอกประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเปรียบเสมือนหอควบคุมและดูแลพนักงานที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยต่อตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อลูกค้าโดยตรง เช่น นักเขียนโปรแกรมและฝ่ายธุรกรรมข้อมูล ในหลายกรณีสามารถจ้างงานแบบ outsource ได้ ส่วนตำแหน่งงานที่มีชั้นความลับหรือมีความจำเป็นต้องพบปะผู้บริหารหรือลูกค้าแบบ onsite เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้จัดการธุรกิจ จะยังคงขอให้ทำงานในสิงคโปร์เป็นหลัก

จากรายงานของสมาคม SFA และบริษัท Accenture พบว่าภาคเอกชนในสิงคโปร์ลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานน้อยเกินไป โดยร้อยละ 69 ลงทุนในด้านนี้น้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี/คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยจูงใจให้บุคลากรจะยังทำงานต่อหรือลาออกจากบริษัท ได้แก่ 1) โอกาสในการเติบโต 2) โอกาสในการพัฒนาทักษะ และ 3) ความยืดหยุ่น เช่น การอนุญาตให้ทำงานผ่านระบบทางไกล

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ด้วยนโยบายที่ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภูมิภาค อุปสงค์ต่อแรงงานฝีมือด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์จึงยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปสงค์จากบริษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ดี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สังคมสิงคโปร์ได้เกิดกระแสความห่วงกังวลว่าแรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานคนสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลสิงคโปร์จึงกำหนดนโยบายการส่งเสริมคนสิงคโปร์ที่มีพรสวรรค์ในด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้ภาคเอกชนในสิงคโปร์จ้างงานคนชาติสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น

โดยที่ประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริม Workation: work from everywhere กอปรกับไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19 โดยเฉพาะการจ้างงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานผ่านระบบทางไกล พัฒนาการดังกล่าวจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวของไทยในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาอยู่ประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผู้ประกอบการที่คิดโมเดลธุรกิจด้าน “Workation” โดยเฉพาะมากนัก 

อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพด้าน Fintech ในประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในหลายตำแหน่ง เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ธุรกิจและการลงทุน และผู้มีทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 50,000-60,000 บาท (1,480-1,780 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน คิดเป็น 2 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ยในประเทศ ในปี 2564 ที่ประมาณ 27,800 บาท อีกทั้งการที่ธนาคารแบบดั้งเดิมก้าวสู่การเป็นดิจิทัลและบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเข้าสู่ตลาดไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ฐานเงินเดือนของบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในอนาคต


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง