การค้าและธุรกิจสิงคโปร์กับการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTAs) และเศรษฐกิจดิจิทัล

ความตกลงการค้าเสรี (FTAs) และเครือข่ายเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจ และ SMEs สิงคโปร์ โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านการค้า ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานวันความตกลงการค้าเสรี (FTA Day) 2022 ภายใต้หัวข้อ “Redefining Trade Agreements for a Competitive, Digital and Sustainable Future” ส่งเสริมให้วิสาหกิจ SMEs ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTAs) และเครือข่ายเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้

FTAs กับการเอื้อประโยชน์ต่อกลยุทธ์การค้า ค.ศ. 2030 (Trade 2030 strategy) ของสิงคโปร์

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้กำหนดกลยุทธ์การค้า ค.ศ. 2030 เพื่อเพิ่มปริมาณและขอบเขตการซื้อ-ขายในสิงคโปร์ รวมทั้งขยายเครือข่ายการค้าทั่วโลก โดยในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2030 MTI ตั้งเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการส่งออกจาก 805,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 1,000,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และเพิ่มมูลค่าการค้ากับต่างประเทศเป็น 2,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,710,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)

FTAs ช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงทางการค้าของสิงคโปร์ และสถานะการเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลก รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การค้า ค.ศ. 2030 ของสิงคโปร์ ทั้งการขยายขอบเขตกิจกรรมการค้า การเพิ่มการส่งออกซ้ำ และการขนส่งสินค้า รวมทั้งช่วยให้สิงคโปร์ก้าวสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

กลยุทธ์เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าของสิงคโปร์    

1. การขยายความครอบคลุมทางภูมิศาสตร์การค้า โดยสร้างเครือข่ายการค้าใน 3 ระดับ คือ 1) พหุภาคี (multilateral) 2) ภูมิภาคหรือความตกลงหลายฝ่าย (plurilateral) และ 3) ทวิภาคี (bilateral) จนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ได้จัดทำ FTAs กับต่างประเทศแล้วจำนวน 27 ฉบับ ครอบคลุมร้อยละ 90 ของการค้าทั้งหมด ช่วยให้วิสาหกิจสิงคโปร์สามารถเข้าถึงตลาดที่หลากหลาย และแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ตัวอย่างธุรกิจสิงคโปร์ที่ได้รับประโยชน์ อาทิ บริษัท Prima Food ผู้ผลิตและจำหน่ายส่วนผสมแบบแพ็คกล่องอาหารยอดนิยมของสิงคโปร์ เช่น ลักซา แกงนอนย่า และปูผัดพริก ภายใต้แบรนด์ Prima Taste ซึ่งผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในกว่า 40 ประเทศ สามารถเข้าถึงตลาดพิเศษผ่านความตกลงการค้าเสรี รวมทั้งสามารถลดระยะเวลาการออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาด จากขั้นตอนทางศุลกากร และข้อกำหนดด้านสุขอนามัยที่ลดลง ภายใต้ความตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) อีกด้วย

2. การส่งเสริมความร่วมมือในด้านใหม่ๆ

2.1 ดิจิทัล สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ตระหนักถึงแนวโน้มดิจิทัลที่กำลังเติบโต ปัจจุบันได้จัดทำ (1) ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลทวิภาคี (Digital Economy Agreements – DEA) กับ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ และ (2) ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลพหุภาคี (Digital Economy Partnership Agreement) กับ 2 ประเทศ ได้แก่ ชิลี และนิวซีแลนด์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลงเพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ดิจิทัล รวมถึงภาคการธนาคาร ทั้งธนาคาร DBS Bank ธนาคาร Emirates NBD และธนาคาร Standard Chartered ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จาก DEA โดยร่วมกับสำนักงานสารสนเทศ (IMDA) และธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ในการจัดทำโครงการนำร่องการจัดหาเงินทุนเพื่อการค้าทางดิจิทัลข้ามพรมแดนกับ UAE (หน่วยงานกำกับดูแลบริการทางการเงิน FSRA ของ Abu Dhabi Global Market)

2.2 เศรษฐกิจที่ยั่งยืน (1) สิงคโปร์อยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Agreements -GEAs) กับต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย (2) การเพิ่มพูนโอกาสแก่ภาคธุรกิจ สิงคโปร์ในเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 หน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG ภายใต้ MTI) ได้เปิดตัวโครงการ Enterprise sustainability Program (ESP) มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและปรับรูปแบบธุรกิจตามหลักการความยั่งยืน ช่วยให้บริษัทในสิงคโปร์ เช่น บริษัท Sunseap ผู้ให้บริการพลังงานสะอาดชั้นนำ บริษัท Ghim Li ผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระดับโลก บริษัท KODA ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ นำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนไปปรับใช้ในธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

3. ยกระดับมาตรฐานความตกลงและความร่วมมือให้สูงขึ้นและร่วมมือกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน

การใช้ประโยชน์จากความตกลงโครงการและข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ   

รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนและกระตุ้นให้ภาคธุรกิจในสิงคโปร์ทุกขนาด โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จาก (1) ข้อริเริ่มและโครงการส่งเสริมศักยภาพต่าง ๆ เช่น การประชุมที่จัดโดยสมาพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (SBF) และ ESG เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จาก FTA ของสิงคโปร์  (2) โปรแกรมและเครื่องมืออื่น ๆ เช่น Tariff Finder เครื่องมือออนไลน์ของ ESG ที่ภาคเอกชนใช้หาข้อมูลความตกลงด้าน Tariff โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และบริการ Market Readiness Assistance (MRA) ที่ให้ข้อมูลเฉพาะและบริการให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจสิงคโปร์สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่สร้างโดยเครือข่าย FTA DEA/DEPA และ GEA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

งาน FTA Day 2022 เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดธุรกิจสิงคโปร์ Singapore Apex Business Summit (SABS) ระหว่างวันที่ 22 – 25 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุม Marina Bay Sands ซึ่งสิงคโปร์เคยจัดงาน FTA Day เมื่อปี ค.ศ. 2020 โดยภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้จัดทำ FTAs เพิ่มเติม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) 2) Pacific-Alliance Singapore Free Trade Agreement (PASFTA) (กับกลุ่ม ประเทศ ลาตินอเมริกา) และ 3) UK-Singapore FTA (UKSFTA)

รัฐมนตรีว่าการ S Iswaran แม้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ก็ควบตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการค้าและการเจรจาจัดทำ FTA โดยเฉพาะ (เป็นการแบ่งภารกิจกับรัฐมนตรีว่าการ MTI) จึงมีบทบาทนำในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการ Iswaran เห็นว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทาย เช่น ความตึงเครียดทางการเมือง ความกดดันด้านเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความรู้สึกต่อต้านโลกาภิวัตน์ และล่าสุดวิกฤติการณ์ยูเครน แต่ความไม่แน่นอนก็นำโอกาสมาให้เช่นกัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นการเปลี่ยนผ่านของระบบดิจิทัล โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา SMEs มากกว่า 80,000 ราย ได้ใช้บริการแก้ไขปัญหาดิจิทัลจากโปรแกรม SMEs Go Digital ของ IMD ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างยิ่ง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง