รัฐบาลสิงคโปร์ประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ของสิงคโปร์ปี 2564 ร้อยละ 7.2 และรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 4/2564

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศตัวเลขคาดการณ์ (advance estimates) การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 4/2564 และอัตราการเติบโตตลอดทั้งปี 2564 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ดังนี้ 

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ประจำปี 2564 และไตรมาสที่ 4/2564  

จากตัวเลขคาดการณ์ GDP ของสิงคโปร์ปี 2564 เท่ากับร้อยละ 7.2 (ซึ่งเดิมเคยประเมินไว้ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 7.0) ซึ่งถือว่าเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ GDP สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -5.4 จากผลกระทบของโควิด-19 

GDP ของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 4/2564 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.9 แบบ Year-on-Year (YoY) และขยายตัวร้อยละ 2.6 แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ดังนี้ 

(1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งแบบ YoY ร้อยละ 14.0 และแบบ QoQ ร้อยละ 4.2  การขยายตัวเพิ่มขึ้นในภาพรวม โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมความแม่นยำสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก 

(2) ภาคการก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 2.0 แบบ YoY แต่หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 (ไตรมาสที่ 4/2562) ภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์ ยังคงหดตัวร้อยละ -26 เนื่องจากขาดแคลนแรงงานต่างชาติจากการปิดพรมแดน 

(3) ภาคการค้าส่ง ค้าปลีกและขนส่ง ขยายตัวแบบ YoY ร้อยละ 4.3 จากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ร้อยละ 6.1 และขยายตัวแบบ QoQ ร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะการค้าส่งที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 (ไตรมาสที่ 4/2562) กลุ่มธุรกิจนี้ยังคงหดตัวร้อยละ -2.3  

(4) ภาคสารสนเทศ การสื่อสาร การเงิน และการประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 6.0 แบบ และขยายตัวแบบ QoQ ร้อยละ 3.1 เทียบกับในไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะภาคสารสนเทศและการสื่อสาร เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นต่อไอที โซลูชั่นดิจิทัล เกม และซอฟต์แวร์  

(5) ภาคบริการอื่น ๆ เช่น ที่พักอาศัย อาหาร/เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวแบบ YoY ร้อยละ 3.1 และขยายตัวแบบ QoQ ร้อยละ 4.9 ยกเว้นภาคโรงแรม ที่พัก และบริการอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมาตรการการเข้าเมืองและมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น การจำกัดขนาดกลุ่มสำหรับการรับประทานอาหารในร้าน หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 (ไตรมาสที่ 4/2562) ภาคบริการในสิงคโปร์ยังคงหดตัวร้อยละ -7.1 

ทั้งนี้ MTI จะออกตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP เบื้องต้น ประจำปี 2564 และไตรมาสที่ 4/2564 รวมถึงผลการดำเนินงานแต่ละภาคอุตสาหกรรม อัตราเงินเฟ้อ อัตราการจ้างงานและประสิทธิผล ในการสำรวจเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565  

ท่าทีของสิงคโปร์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สิงคโปร์  

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติของไทย วันที่ 5 ธันวาคม 2564 นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ กล่าวแสดงความยินดีและแสดงเจตนารมณ์ในการเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

1. ขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงความยั่งยืน พลังงานสะอาด  และเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นสาขาที่จะช่วยขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนร่วมกัน 

2. สิงคโปร์และไทยต่างมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและก้าวไกลยิ่งขึ้นภายใต้แผนสิงคโปร์สีเขียว ค.ศ. 2030 (Singapore Green Plan 2030) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันในหลากหลายสาขา รวมถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานของอาหาร/การเกษตร และการค้าพลังงานคาร์บอนต่ำ พลังงานทดแทน ตลอดจนการพัฒนาโครงการนำร่องเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต 

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์แสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้รับตำแหน่งประธานเอเปคในปี 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก “Open, Connect and Balance” สิงคโปร์พร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการเป็นประธานเอเปค 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต 

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2565 ดังนี้ 1) ปี 2565 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของสิงคโปร์ (time of transition) ซึ่งเศรษฐกิจสิงคโปร์กำลังฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่า GDP จะยังคงเติบโตร้อยละ 3.0 – 5.0 ในปี 2565 รัฐบาลจะทยอยยกเลิกมาตรการสนับสนุนฉุกเฉินแก่ภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว และขยายการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย รวมทั้งเปิดรับแรงงานจากต่างชาติมากขึ้น 2) รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพิจารณาการปรับเพิ่มภาษี GST (เทียบเท่า VAT) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาษีเงินได้และภาษีระบบความมั่งคั่งที่ก้าวหน้าและยุติธรรม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ (3) การจัดทำงบประมาณ ปี ค.ศ. 2022 (Budget 2022) ที่จะประกาศในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นการวางพื้นฐานทางการเงินที่มั่นคงและยั่งยืน  

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงรับมือการระบาดโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนใหม่ ๆ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์รายงานข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์ Omicron จำนวน 1,281 ราย โดยเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1,048 ราย และผู้ติดเชื้อในประเทศ 233 ราย อย่างไรก็ดี สิงคโปร์มีความมั่นใจและพร้อมรับความเสี่ยงมากขึ้นในการเปิดประเทศและสังคมเมื่อเทียบกับสองปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันสิงคโปร์มีผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ร้อยละ 87 ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ร้อยละ 43 และผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ร้อยละ 88 ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 65 สิงคโปร์เริ่มให้วัคซีนโควิด-19 แก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แล้ว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง