สิงคโปร์และมาเลเซียได้จัดการประชุมรัฐมนตรีร่วม Joint Ministerial Committee for Iskandar Malaysia (JMCIM) ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่สองฝ่ายจัดการประชุมดังกล่าวได้สำเร็จ โดยมีนาย Desmond Lee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ เป็นประธานร่วมกับ Dato’ Sri Mustapa bin Mohamed รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) ของมาเลเซีย โอกาสนี้ นาย S. Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ และ Dato’ Haji Hasni bin Mohammad มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุม JMCIM ครั้งนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างสองฝ่ายผ่านระบบทางไกล หลังจากการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของ Dato’ Sri Ismail Sabri Yaakob นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ ซึ่งเดินทางเยือน สิงคโปร์ และได้พบหารือกับ นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 สรุปความคืบหน้าของความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Iskandar Malaysia ใน 6 สาขา ดังนี้

1. ด้านอุตสาหกรรม สองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการผลิตในเขตเศรษฐกิจ Iskandar โดยกำหนดให้เขตเศรษฐกิจ Iskandar เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19 จากสถิติของสำนักงานการพัฒนาการลงทุนมาเลเซีย (MIDA) บริษัทในสิงคโปร์ได้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจ Iskandar เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับอนุมัติในปี 2562 จำนวน 52 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 371 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2563 จำนวน 52 โครงการ มูลค่า 476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2564 มีจำนวน 20 โครงการ มูลค่า 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท CapitaLand ของสิงคโปร์ ได้ร่วมมือกับ UEM Sunrise Bhd. ของมาเลเซีย ในการดึงดูดการลงทุนไปยังเขตเศรษฐกิจ Iskandar สองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในสาขาใหม่ ๆ เช่น วิศวกรรมวัสดุขั้นสูง (AEM) ไฟฟ้า อาหาร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกันต่อไปในช่วงหลังโควิด-19

2. ด้านการเข้าเมือง ที่ประชุมฯ ยินดีต่อการจัดทำช่องทางพิเศษ [Vaccinated Travel Lane (VTL)] ทางบกระหว่างด่านผ่านแดน Bangunan Sultan Iskandar (BSI) มาเลเซีย กับ Woodlands สิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 และหวังว่า VTL ทางบก จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้าเมืองระหว่างกัน สถิติของระบบ Malaysia Automated Clearance System (MACS) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีผู้สมัครขอผ่านแดนด้วย VTL ทางบก รวม 693,988 ราย ทั้งนี้ ฝ่ายมาเลเซียยังได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนรถจักรยานยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์มายังจุดผ่านแดน และฝ่ายสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบ Multi-Modal Biometrics System เพื่อรองรับการผ่านแดนทางบกด้วยรถจักรยานยนต์ (Biometrics Identification of Motorbikes System) เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยต่อไป

3. ด้านคมนาคม สองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ โดยเฉพาะโครงการรถไฟ Rapid Transit System (RTS) ระหว่างยะโฮร์บาห์รู มาเลเซีย กับสิงคโปร์ ซึ่งการเจรจาในด้านเทคนิคคืบหน้าด้วยดี และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานในช่วงปลายปี 2569 สองฝ่ายจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบการผ่านแดน VTL ด้วยรถบัสให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และศึกษาการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) มาใช้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างตั้งเป้าหมายการยุติและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ

4. ด้านสิ่งแวดล้อม สองฝ่ายจะส่งเสริมการให้ความรู้จากกิจกรรม workshops ด้านการพัฒนาศักยภาพในสาขาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ทั้งการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการขยะและทรัพยากร การศึกษาและการติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดการความต้องการใช้น้ำ นอกจากนี้ สองฝ่ายจะร่วมมือในโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีเพื่อการบังคับใช้กฎหมายและการสอดส่องดูแล ทั้งในด้านการจัดการขยะอาหารและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมใน โรงเรียนด้วย 

5. ด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมฯ ยินดีกับความสำเร็จของโครงการ Passport2Nature ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (STB) กับมาเลเซีย (Tourism Malaysia) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติให้ได้เยี่ยมชมอุทยาน Sungei Buloh Wetland Reserve ของสิงคโปร์ และอุทยานแห่งชาติ Pulau Kukup Johor National Park ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันที่ประสบความสำเร็จในปี 2561 – 2562

6. ด้าน Iconic Project สองฝ่ายยินดีที่โครงการพัฒนาศูนย์สุขภาพ Afiniti Medini และ Avira Medini ในเขตเศรษฐกิจ Iskandar ระยะที่ 1 สำเร็จด้วยดี และจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างกันต่อไป ซึ่งรวมถึงโครงการระหว่างเครือ Temasek ของสิงคโปร์ กับ Khazanah ของมาเลเซียด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เขตเศรษฐกิจพิเศษ Iskandar Malaysia (ชื่อเดิม Iskandar Development Region) พัฒนามาจาก  South Johor Economic Region (SJER) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 9 และ 10 ของมาเลเซีย เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2549 บนพื้นที่ประมาณ 2,217 ตารางกิโลเมตร ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแบบรอบด้านตามแผน Comprehensive Development Plan (CDP) ของมาเลเซีย รวมถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตฯ ประมาณ 1.8 ล้านคน ทั้งนี้ เมืองยะโฮร์ บาห์รู เป็นจุดเชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขต Iskandar Malaysia ด้วย โดยมาเลเซียสามารถดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศผ่านสิงคโปร์มายังเขตเศรษฐกิจ Iskandar ส่วนสิงคโปร์ก็แสวงประโยชน์ในด้านแรงงาน ธุรกิจ และการขยายตลาดจากการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว กอปรกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิด ทำให้สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในรัฐมนตรี ในกรอบ JMCIM โดยมีการประชุมเป็นประจำเกือบทุกปี

อย่างไรก็ตาม การประชุมเมื่อเดือนมกราคม 2562 ต้องถูกเลื่อนออกไปเนื่องจาก Dato Osman Sapian มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ในขณะนั้นได้โดยสารเรือ MV Pedoman ซึ่งไปทอดสมอในเขตพิพาทน่านน้ำระหว่างสิงคโปร์กับ มาเลเซีย ทั้งยังได้เผยแพร่ภาพและข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้ฝ่ายสิงคโปร์ประกาศขอเลื่อนการประชุม JMCIM โดยทันที

ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายสิงคโปร์ให้ความสนใจและประสงค์จะร่วมมือกับมาเลเซียอย่างยิ่งในขณะนี้ คือ ความร่วมมือด้านระบบราง โดยนอกจาก RTS ตามข้อ 1.3 แล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีของสอง ประเทศ ยังได้หยิบยกเรื่องการรื้อฟื้นโครงการรถไฟความเร็วสูง กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์ (High-Speed Rail – HSR)  ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียชุดก่อนหน้านี้ได้ประกาศขอยุติโครงการกับฝ่ายสิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ว่า Dato’ Sri Ismail Sabri Yaakob นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน มีท่าทีเชิงบวกและเสนอแนะให้มีการฟื้นฟูการเจรจาจัดทำโครงการ HSR มาเลเซีย – สิงคโปร์ ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง