เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 กรมวิจัยและสถิติ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (The Manpower Research and Statistics Department – MRSD) ได้เผยแพร่รายงาน Job Vacancies 2020 สรุปผลสำรวจตำแหน่งงานว่างและสถานการณ์ตลาดงานในสิงคโปร์ ประจำปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นบริษัท/ธุรกิจทั้งในระดับผู้ชำนาญการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ (Professionals, Managers, Executives and Technicians – PMETs) และระดับทั่วไป (Non-PMETs) จำนวน 14,480 แห่ง โดยมีพนักงานในตลาดงานมากกว่า 2 ล้านคน สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

การเพิ่มตำแหน่งงานประเภทใหม่ ๆ คิดเป็น 45% ของตำแหน่งงานทั้งหมด โดยไม่ใช่การจ้างงานเพื่อทดแทนตำแหน่งงานประเภทเดิม เนื่องจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรและการปรับหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงาน โดยตำแหน่งงานประเภทใหม่ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ งานในสาขาสารสนเทศและการสื่อสาร และสาขาบริการด้านการเงินและการประกันภัย

มากกว่า 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานว่างเป็นงานที่สามารถทำงานทางไกล (Teleworking) ได้ โดยเฉพาะตำแหน่งงานในระดับ PMETs ซึ่งสามารถทำงานทางไกลได้มากถึง 57% ขณะที่ระดับ Non-PMETs สามารถทำงานทางไกลได้เพียง 6% โดยการทำงานทางไกลเป็นหัวข้อใหม่ที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เริ่มสำรวจข้อมูลปีนี้เป็นปีแรก

ตำแหน่งงานที่ว่างในปัจจุบัน 27% มีสาเหตุจากการไม่สามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาทำงานได้ โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย อีกทั้งยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว นายจ้างต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน รายละเอียด ดังนี้

  • กลุ่ม PMETs ผู้สมัครงานขาดทักษะเฉพาะทางที่จำเป็น (43.6%) ผู้สมัครงานขาดประสบการณ์ทำงาน (32.8%) ผู้สมัครงานเห็นว่าอัตราค่าตอบแทนไม่น่าดึงดูด (22.9%) มีบริษัท/ธุรกิจอื่นในสายงานเดียวกันที่น่าสนใจกว่า (18%) และผู้สมัครงานไม่ประสงค์ทำงานเป็นกะ (16.3%) โดยตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) พยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเทคนิค 2) ผู้ช่วยพยาบาล 3) นักพัฒนาระบบมัลติมีเดีย/ซอฟต์แวร์ 4) นักวิเคราะห์ระบบ และ 5) วิศวกรการผลิต
  • กลุ่ม Non-PMETs อาจไม่เป็นที่นิยมของคนชาติสิงคโปร์เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน/กรรมาชีพ (42.1%) ค่าตอบแทนไม่น่าดึงดูด (38.8%) สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เอื้ออำนวย (36%) ไม่ประสงค์ทำงานในวันหยุด (34.7%) และไม่ประสงค์ทำงานเป็นกะ (29.7%) ทั้งนี้ นายจ้างส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การหาผู้สมัครงานในสายงาน Non-PMETs ยากกว่าสายงาน PMETs โดยตำแหน่งที่นายจ้างต้องการสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) พนักงานทำความสะอาด 2) แรงงานก่อสร้าง 3) พนักงานรักษาความปลอดภัย 4) พนักงานขายประจำร้านค้า และ 5) พนักงานบริการร้านอาหาร

ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัท/ธุรกิจมีความต้องการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความต้องการจ้างงานมากขึ้นใน 2 สาขา ได้แก่ 1) ICT เช่นนักพัฒนาระบบมัลติมีเดีย/ซอฟต์แวร์ และนักวิเคราะห์ระบบ โดยมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน และ 2) Big Data เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ อนึ่ง คาดว่าทั้งตำแหน่งงานทั้ง 2 สาขานี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการตอบรับนโยบายชาติอัจฉิรยะ (Smart Nation) ของรัฐบาลสิงคโปร์

คาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพจะเติบโตอย่างมาก เนื่องจากสิงคโปร์กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการ ได้แก่ 1) พยาบาลวิชาชีพ 2) พยาบาลเทคนิค 3) ผู้ช่วยด้านการดูแลสุขภาพ 4) พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 5) นักพยาธิวิทยาคลินิก

นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ว่า อัตราการว่างงานในสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม Non-PMETs โดยรัฐบาลได้ออกนโยบายหรือโครงการใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างสามารถใช้เวลาสั้นลงในการสรรหาพนักงานที่เหมาะสมกับตำแหน่ง รวมถึงโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพแก่แรงงานชาวสิงคโปร์ อาทิ Job Redesign Reskilling Programme ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะของผู้ปฎิบัติงานเช่น จากเดิมในตำแหน่งผู้ให้บริการ (Operational Workers) เป็นทูตด้านบริการ (Service Ambassadors) หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการครัว (Kitchen Technicians) โครงการเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้ปฎิบัติงานได้รับค่าจ้างมากขึ้น และพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยลดการพึ่งพิงแรงงานต่างชาติในระยะยาวได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท Eurasia F&B ที่ได้ปรับ รูปแบบลดขนาดทีมปฎิบัติงานครัว (Back-of-House Operations) ของร้านอาหารในเครือลง และเพิ่มการลงทุนในส่วนของโรงงานผลิตวัตถุดิบมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้จากการเป็น supplier วัตถุดิบให้กับร้านอาหารอื่น ๆ เนื่องจากอุปสงค์ของลูกค้าในร้านอาหารลดลงจากการซบเซาอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

นาย Ang Boon Heng ตำแหน่ง Director ของ MRSD กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและรูปแบบการทำงาน ดังนั้น ข้อมูล/ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจจึงช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ของตลาดงานสิงคโปร์มากขึ้น และบริษัท/ธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้ปรับปรุงรูปแบบการทำงานในอนาคตได้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง