รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ปี 2564 และแนวโน้มในปี 2565 และการประเมินผลกระทบของวิกฤตการณ์ยูเครนต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศสรุปอัตราการเติบโตของ GDP ประจำปี 2564 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ในปี 2565 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดทำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของสิงคโปร์ ประจำปี 2564 และแนวโน้มในปี 2565 พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อกรณีรัสเซีย – ยูเครนต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ และข้อสังเกต ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ประจำปี 2564      

GDP ของ สิงคโปร์ ปี 2564 เท่ากับร้อยละ 7.6 (สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เล็กน้อย) ซึ่งถือว่าเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ GDP สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -4.1 จากผลกระทบของโควิด-19

อุตสาหกรรมที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ YoY สูงสุด ได้แก่ (1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (คิดเป็นร้อยละ 25 – 30 ของ GDP สิงคโปร์) ขยายตัวร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับปี 63 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 การขยายตัวเพิ่มขึ้นในภาพรวม โดยเฉพาะวิศวกรรมความแม่นยำสูง เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมการขนส่ง (2) ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -38.4 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน และ สิงคโปร์ เริ่มเปิดรับแรงงานต่างชาติในภาคการก่อสร้างได้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดสรรวัคซีนแก่ประชาชนกว่าร้อยละ 90 ทำให้สามารถควบคุมความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ดี แม้จะมีผู้ติดเชื้อสูงในบางช่วง (3) ภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 5.6 อย่างไรก็ตาม ภาคการบิน การท่องเที่ยว การค้าปลีก-ส่ง และอาหารและเครื่องดื่มยังคงไม่ฟื้นตัวเท่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ        

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เผยแพร่ข้อมูลว่า ในไตรมาสที่ 4/2564 การจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 47,400 ราย เทียบกับไตรมาสที่ 3/2564 ที่การจ้างงานลดลง 2,400 ราย การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งต่อคนชาติ สิงคโปร์ PR และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการจ้างงานชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานตามฤดูกาลสำหรับเทศกาลสิ้นปีของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และการค้าปลีก การจ้างงานในภาคส่วนนี้เติบโตเป็นครั้งแรกหลังจากที่หดตัวติดต่อกันมาหลายไตรมาส กระทรวงแรงงานสิงคโปร์คาดว่าตลาดแรงงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านโควิด-19 ภายในประเทศ และการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แนวโน้มทางเศรษฐกิจสิงคโปร์สำหรับปี 2565

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คาดว่า GDP ของสิงคโปร์ปี 2565 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3 – 5 เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สูง ส่งผลให้การผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าเมืองของสิงคโปร์ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเปิดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางระยะสั้น (อาทิ ในอุตสาหกรรม MICE) จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยคาดว่าสิงคโปร์จะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นจากการขยายการจัดทำช่องทาง Vaccinated Travel Lane (VTL) ทั้งทางอากาศ ทะเล และบก

เศรษฐกิจสิงคโปร์น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 โดยแต่ละอุตสาหกรรมอาจเติบโตได้แตกต่างกัน ดังนี้

(1) อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าส่งยังคงแข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เน้นการผลิตขั้นสูงและอุปสงค์ของเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยสิงคโปร์สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท Global Foundries ในปี 2564 นอกจากนี้ ภาคสารสนเทศ การสื่อสาร การเงินและการประกันภัยจะยังเติบโตได้ดี จากความต้องการด้านไอที บริการแก้ปัญหาด้วยระบบดิจิทัล และบริการด้านเครดิตและการชำระเงิน ซึ่งสิงคโปร์จะส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของภูมิภาคต่อไป

(2) การฟื้นตัวของภาคการบินและการท่องเที่ยว เช่น การขนส่งทางอากาศและที่พัก คาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์จะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว กอปรกับอุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่พักในสิงคโปร์ลดลง เนื่องจากรัฐบาลเช่าห้องพักเพื่อเป็นสถานที่กักตัวลดลง และจำนวน staycation ที่ลดลงจากการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ดังนั้น กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจนี้น่าจะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ไปจนถึงสิ้นปี 2565

(3) ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น การค้าปลีก บริการอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดปี 2565 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวของสภาวะตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม มูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของภาคบริการอาหารและเครื่องดื่ม และการค้าปลีกที่ต้องพึ่งพานักท่องเทียว จะยังคงไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2565 นี้

(4) ภาคการก่อสร้าง วิศวกรรมทางทะเลและชายฝั่งคาดว่าจะฟื้นตัวเนื่องจากการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศของแรงงานจากเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะคลี่คลาย และตอบสนองต่ออุปสงค์จากภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยมูลค่าการขยายตัวโดยรวมของภาคการก่อสร้างอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ตลอดปี 2565

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ – ต่างประเทศ 

จากสถิติการค้ากับต่างประเทศ ปี 2564 มูลค่ารวม 1,1600,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 19.7 จากปีก่อนหน้า คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน 164,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2) มาเลเซีย 128,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3) สหรัฐฯ 105.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (4) EU 102,00 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (5) ไต้หวัน 99,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (6) ฮ่องกง 85,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7) อินโดนีเซีย 59,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (8) สาธารณรัฐเกาหลี 56,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (9) ญี่ปุ่น 53,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ (10) ไทย 34,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สินค้าที่สิงคโปร์นำเข้าและส่งออกจากต่างประเทศมากที่สุด คือ (i) เครื่องจักรและอุปกรณ์การคมนาคม (ii) เคมีและเคมีภัณฑ์ (iii) ชิ้นส่วนเครื่องจักร (iv) สินค้าประดิษฐกรรม และ (v) อาหาร

มาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากการจัดทำช่องทาง VTL ทางอากาศแล้ว สิงคโปร์ยังได้จัดทำ VTL ทางบกกับมาเลเซีย โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการและเข้าร่วมทำพิธีเปิดการปล่อยรถบัส VTL ร่วมกันด้วยตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงความใกล้ชิดของผู้นำ เศรษฐกิจ และประชาชนของสองประเทศ นอกจากนี้ สิงคโปร์และมาเลเซียได้จัดการประชุมรัฐมนตรีร่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษ Iskandar Malaysia ครั้งที่ 14 เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ด้วย สำหรับอินโดนีเซีย สิงคโปร์ได้จัดทำ VTL ทางทะเลกับอินโดนีเซีย โดยเมื่อเดือนมกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พบหารือกับ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย บนเกาะบาตัมของอินโดนีเซีย (ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรกในรอบ 2 ปีหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19) สองประเทศได้จัดทำบันทึกความเข้าใจด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (hydrogen and carbon capture, utilisation and storage – CCUS)

สหรัฐฯ ปี 2564 เป็นโอกาสครบรอบ 55 ปี ความสัมพันธ์สิงคโปร์ – สหรัฐฯ วิสาหกิจของสหรัฐฯ มาลงทุนและจัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ จำนวน 4,500 ราย โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ลงทุนอับดัน 1 ในสิงคโปร์ มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงรวมประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งหมดรวมกัน เมื่อเดือนธันวาคม 2564 สหรัฐฯ ยังได้แต่งตั้งนาย Johnathan Eric Kaplan นักธุรกิจ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯและสิงคโปร์ (หลังจากที่ไม่มีการแต่งตั้งมานาน 4 ปีเต็ม ตั้งแต่มกราคม 2560) สะท้อนถึงความสำคัญเชิงเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ให้กับสิงคโปร์ นอกจากนี้ สองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเยือนสิงคโปร์ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และการเยือนสหรัฐฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทั้งนี้ สิงคโปร์มีท่าทีตอบรับและเปิดกว้างต่อการจัดทำ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ ด้วย

จีน เป็นประเทศที่สิงคโปร์จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ของจีนอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 9 ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน สองฝ่ายจัดการประชุม Joint Council for Bilateral Cooperation (JCBC) สิงคโปร์ – จีน ครั้งที่ 17 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ในทุกด้าน เมื่อเดือนธันวาคม 2564

ไทย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สิงคโปร์ต้องการกระชับความร่วมมือกับไทยมากยิ่งขึ้น และหน่วยงานของสิงคโปร์ รวมถึงกระทรวงต่างประเทศได้หยิบยกหารือกับฝ่ายไทยในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 โดยในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สิงคโปร์ ครั้งที่ 2 (ระดับปลัดกระทรวงต่างประเทศ) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ประเด็นสำคัญที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ประสงค์จะผลักดันล้วนเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจทั้ง อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิต และการส่งเสริมพลังงานสะอาด สองประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดการประชุม STEER ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

ความร่วมมือพหุภาคี สิงคโปร์ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจพหุภาคี ได้แก่ (1) ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสิงคโปร์เอง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เจรจาจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลทวิภาคี หรือ DEA กับเกาหลีใต้และสหราชอาณาจักร จนแล้วเสร็จในปี 2564 และเริ่มการเจรจากับ EU แล้ว (2) ความตกลง RCEP ในกรอบอาเซียน ซึ่งสิงคโปร์ผลักดันการให้สัตยาบันสารของประเทศภาคีอย่างต่อเนื่องและยินดีที่ความตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565 นี้ และ (3) การขยายการเปิดรับสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งสิงคโปร์มีท่าทีเปิดกว้างต่อประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ประสงค์จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มีมาตรฐานสูง และสิงคโปร์จะทำหน้าที่ประธาน CPTPP Commission ระดับรัฐมนตรีตลอดปี 2565 นี้ (4) ความตกลงการค้าเสรีพหุภาคี ซึ่งสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา 4 ประเทศ (Pacific Alliance) และลงนามความตกลงเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

การประเมินผลกระทบของวิกฤตการณ์ยูเครนต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้แถลงต่อรัฐสภาสิงคโปร์ในช่วงการอภิปรายงบประมาณ ประจำปี ค.ศ. 2022 ว่า ถึงแม้ว่ายูเครนจะอยู่ห่างไกลจากสิงคโปร์ แต่ความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนทุกคนของสิงคโปร์ เนื่องจากการร่วมกันคว่ำบาตรรัซเซีย (ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานของโลก) ย่อมทำให้อุปสงค์และราคาพลังงานในตลาดโลกและสินค้าอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ (สิงคโปร์ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดของการบริโภคในประเทศ) 

การที่สิงคโปร์ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียแม้จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์เอง แต่สิงคโปร์เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการและขอให้ประชาชนเข้าใจร่วมกัน โดยในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ ค่าไฟฟ้าทั้งที่ใช้ในครัวเรือนและในภาคธุรกิจในสิงคโปร์อาจปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์จะยังคงสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 2.5 – 3.5

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีจำนวนธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในยูเครนไม่มาก (limited presence)  และสิงคโปร์ไม่ได้นำเข้าสินค้าจำเป็นจากยูเครนเท่าใดนัก ดังนั้น ในชั้นนี้สิงคโปร์จึงยังควบคุมผลกระทบจากวิกฤตในยูเครนได้ โดยสิงคโปร์ได้ใช้ยุทธศาสตร์หลายมิติ (multi-pronged strategy) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นแก่ห่วงโซ่อุปทานและกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต       

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อหลักเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากการอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นสำหรับอาหาร ค่าไฟฟ้าและก๊าซ ในขณะที่ต้นทุนการค้าปลีกและสินค้าอื่น ๆ ลดลงในอัตราที่ช้าลง อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคเท่ากับร้อยละ 4.0 ทั้งนี้ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.0 – 3.0 และประมาณการอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5

สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 สิงคโปร์จะดำเนินนโยบายเพื่อรับมือจากผลกระทบของวิกฤตราคาพลังงานในตลาดโลก (ราคาก๊าซธรรมชาติสูงเป็นประวัติการณ์ และราคาน้ำมัน WTI crude สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี) การแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตเงินเฟ้อ ใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในรายสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ (vibrant, diversified and resilient economy) ในสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนและไม่ปกติ (external shocks) (2) การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบแข็งค่า เพื่อบรรเทาปัญหาการนำเข้าพลังงานและสินค้าราคาสูงที่สิงคโปร์ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ และ (3) การพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี ซึ่งสิงคโปร์อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ตามการแถลงงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2022 (https://www.mof.gov.sg/singaporebudget/budget-2022/budget-statement)

อนึ่ง เมื่อปี 2564 ไทยและสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการเปิดการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องกักตัว ทั้งการจัดทำระบบการรองรับเอกสารการฉีดวัคซีนร่วมกัน (MRVC) เป็นคู่แรกในอาเซียน และการเปิดช่องทาง VTL ทางอากาศเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบินและการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยสองประเทศพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง