สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) ระดมเงินทุนเพิ่มเติมมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผ่านการทำธุรกรรมจำหน่ายอากาศยานและเช่าอากาศยานกลับ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 SIA ได้ระดมเงินทุนเพิ่มเติมมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ผ่านการทำธุรกรรมจำหน่ายและเช่าเครื่องบินกลับ (sale-and-leaseback deals) เครื่องบิน SIA จำนวน 11 ลำ ได้แก่ 1) แอร์บัส 350-900 จำนวน 7 ลำ และ 2) โบอิ้ง 787-10 จำนวน 4 ลำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SIA โดยบริษัทเงินทุนและจัดการสินทรัพย์ที่ร่วมทำธุรกรรมฯ กับ SIA รวม 4 ราย ได้แก่ 1) Aergo Capital 2) Altavair 3) EastMerchant/Crianza Aviation และ 4) Muzinich and Co. ทั้งนี้ นาย Goh Choon Phong ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร SIA แถลงว่าการเพิ่มสภาพคล่องจากการทำธุรกรรม sale-and-leaseback สะท้อนถึงความสามารถของ SIA ในการรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 โดย SIA จะเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้และเติบโตจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ปัจจุบัน SIA ได้ระดมเงินทุนรวมมูลค่า 15.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเมื่อเดือนเมษายน 2563 SIA ได้ระดมเงินทุนมูลค่า 13.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประกอบด้วย 1) การเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสิทธิ์ (rights issue) มูลค่า 8.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 2) หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible bonds) มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 3) การจัดหาเงินทุนโดยมีเครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 4) การกู้ยืมระยะสั้นโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (short-term unsecured loan) มูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ดี SIA ยังคงมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้ (committed credit lines) มากกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมถึงสิทธิ์ในการเพิ่มทุน 6.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จาก convertible bonds เพิ่มเติม ก่อนถึงการประชุมสามัญประจำปีของ SIA ในเดือนกรกฎาคม 2564

ล่าสุด SIA ให้ข้อมูลว่า ในเดือนมีนาคม 2564 SIA มีผู้โดยสาร จำนวน 100,000 คน โดยลดลงถึง 90.9 % เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 1 ล้านคน อนึ่ง อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger load factor – PLF) ของเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่เพียง 12.8 % ลดลงเกือบ 75 % เมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2562 (ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19) ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารจำนวน 3.5 ล้านคน

เนื่องด้วยมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศและสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19      ที่ยังคงรุนแรงในหลายประเทศส่งผลให้ SIA มีปริมาณผู้โดยสารและการจำหน่ายบัตรโดยสารที่ต่ำมากในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 SIA จึงยังความสำคัญกับภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (cargo) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งวัคซีนผ่านสิงคโปร์ไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งอัตราส่วนการขนส่งสินค้า (cargo load factor – CLF) ของเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 92.3 % เพิ่มขึ้น 24.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2563

ข้อมูลเพิ่มเติม      

SIA ช่วยส่งเสริมบทบาทของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการแจกจ่ายวัคซีนวัคซีนโควิด -19 ในภูมิภาค โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SIA ร่วมกับบริษัทโลจิสติกส์ DHL Global Forwarding ได้ขนส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อ Pfizer-BioNTech ครั้งแรกจากกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ไปยังออสเตรเลีย (142,000 โดส) และนิวซีแลนด์ (60,000 โดส) ในเดือนเดียวกัน นอกจากนี้ SIA ได้ขนส่งวัคซีนฯ ยี่ห้อ Sinovac จากกรุงปักกิ่ง ไปยังอินโดนีเซีย โดยการเคลื่อนย้ายวัคซีนฯ โดยแวะพัก (transit) ที่ท่าอากาศยานชางงี ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong ของสิงคโปร์เคยกล่าวว่าความสามารถในการจัดสรรและกระจายวัคซีนปริมาณมากจะช่วยผลักดัน “การฟื้นตัวในหลาย ๆ ทาง” ของสิงคโปร์

เมื่อปี 2563 สายการบินขนาดใหญ่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และได้ดำเนินการเพิ่ม    สภาพคล่องด้วยวิธีการคล้ายคลึงกับ SIA อาทิ 1) สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคของฮ่องกงได้ทำธุรกรรม sale-and-leaseback กับบริษัท BOC Aviation Ltd (BOCA) สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ ที่มูลค่า 703.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) สายการบินแควนตัสของออสเตรเลียได้จัดหาเงินทุนโดยมีเครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 647 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง