ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของสิงคโปร์และแนวโน้มในครึ่งหลังของปี 2565

ในสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบทศวรรษ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในสิงคโปร์สูงขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะราคาอาหาร พลังงาน และเชื้อเพลิง เนื่องจากสิงคโปร์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ค่าครองชีพของสิงคโปร์สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มบรรเทาลงบ้างแล้ว แต่ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์จากการแข่งขันที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ และการขาดแคลนแรงงานในหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม ทำให้การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงในสิงคโปร์มีความท้าทายอย่างยิ่ง ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (MAS) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2565 นี้ และน่าจะลดลงเรื่อย ๆ หลังจากการขึ้นภาษี GST (เทียบเท่า VAT ของไทย) ในปี 2566 – 2567

ดัชนีราคาผู้บริโภคของสิงคโปร์ (Consumer Price Index: CPI)

สิงคโปร์ใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)1 เป็นตัววัดค่าครองชีพและคำนวณเงินเฟ้อ จากสถิติของ MAS เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 เงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI-all items) สูงถึง 7% (โดยสูงขึ้นจาก 6.7% เมื่อเดือนมิถุนายน และ 5.6% ในเดือนพฤษภาคม หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปีนับจากเดือนมิถุนายน 2551) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของสิงคโปร์ ก็สูงถึง 4.8% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี และสร้างความกังวลแก่ประชาชนในสิงคโปร์เนื่องจากค่าเฉลี่ยของ CPI ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2564) มีอัตราเพียง 1.05%

หากพิจารณาภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 CPI ของสิงคโปร์สูงขึ้นประมาณ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อัตรา CPI ของสิงคโปร์ คือ 3.1% หากแบ่งตามเกณฑ์รายได้ของครัวเรือน MAS แบ่งเกณฑ์ผู้มีรายได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย (20% ของประชากรทั้งหมด) ผู้มีรายได้ปานกลาง (60% ของประชากรทั้งหมด) และผู้มีรายได้สูง (20% ของประชากรทั้งหมด) โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 CPI ของกลุ่มรายได้น้อยสูงขึ้น 4.2% CPI ของกลุ่มรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้น 4.9% และ CPI ของผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (Year-on-Year: YoY) ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากนี้ มีปัจจัยหลักมาจากราคาของสินค้ากลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม) ยานพาหนะ และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรที่สิงคโปร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19

หากพิจารณาเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคแยกเป็นรายการต่าง ๆ จะพบว่า ณ เดือนกรกฎาคม 2565 เงินเฟ้อจากค่าไฟและก๊าซหุงตุ้มเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รองลงมาคือ การเดินทางส่วนบุคคลสูงขึ้น 22.2% ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมัน ส่วนเงินเฟ้อในกลุ่มอาหาร ค่าเช่าที่พัก การค้าปลีก และภาคบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 3 – 6%

เงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (Year-on-Year: YoY)
แหล่งที่มา: Singapore Department of Statistics (https://www.singstat.gov.sg/-/media/files/news/cpi-jan-jun2022.ashx)

การเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนสิงคโปร์กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ข้อมูลจากกรมสถิติของสิงคโปร์ (Singapore Department of Statistics) ค่ามัธยฐานรายได้รวมต่อเดือน (median gross monthly income) ก่อนหักลบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (CPF) และภาษีเงินได้ของคนชาติสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักถาวร (Permanent Resident) ของสิงคโปร์ที่ทำงานเต็มเวลาของปี 2564 อยู่ที่ 4,680 ดอลลาร์ รายได้รวมต่อเดือนของประชาชนที่อยู่ในระดับ 20 เปอร์เซ็นไทล์ อยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เท่ากันที่ 3.7% ดังนั้นหากเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จะเห็นว่า ก่อนปี 2564 อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสิงคโปร์ (เฉลี่ย 1.05%) ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในปี 2564 ดัชนี CPI ของสิงคโปร์เริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 2.3% และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 จนมีอัตรา 7% ในเดือนกรกฎาคม 2565 ดังนั้น คนในสิงคโปร์จึงมีความกังวลยิ่งขึ้นเกี่ยวกับค่าครองชีพว่าหากไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม รายได้ในครัวเรือนจะเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าการทะยานขึ้นของ CPI

สิงคโปร์ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของแรงงาน แต่มีองค์กร Workfare และกลุ่มไตรภาคีที่ทำการสนับสนุนและช่วยเหลือ กลุ่มแรงงานรายได้น้อย (ผู้มีช่วงรายได้ต่ำกว่าระดับ 20 เปอร์เซ็นไทล์) โดยล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติข้อเสนอตามโครงการ Progress Wage Model (PWM) เพื่อเพิ่มค่าจ้างต่อเดือนให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีก (ค่ามัธยฐานของรายได้ของกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 1,850 ดอลลาร์สิงคโปร์) โดยจะปรับเพิ่ม 8.4 – 8.5% ทุกปี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ศกนี้ นอกจากนี้ องค์กร Workfare ยังมีแผนจะช่วยเหลือเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างให้กลุ่มพนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และคนสวน (landscape workers) อีกด้วย ซึ่งน่าจะสามารถชดเชยกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

จากการจัดอันดับของ Economist Intelligence Unit (EIU) ระหว่างปี 2557 – 2563 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่สูงที่สุดในโลกในมุมมองของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพักอาศัยในสิงคโปร์ โดยปัจจุบันสิงคโปร์ก็ยังมีอัตราค่าครองชีพสูงเป็นลำดับต้นของโลก ในสถานการณ์ปกติ อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จะสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยรัฐบาลมีนโยบายให้เงินช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และค่ารักษาพยาบาล อยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในยามที่เกิดสถานการณ์พิเศษ อาทิ โรคระบาด

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ค่าครองชีพในสิงคโปร์มีราคาที่สูง ได้แก่ (1) สิงคโปร์มีพื้นที่ขนาดเล็ก ในขณะที่มีจำนวนประชากรมากขึ้น (รวมทั้งคนต่างชาติที่เข้ามาทำงาน) ทำให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลในสิงคโปร์ก็แพงที่สุดในโลกอีกด้วย (เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนการใช้บริการรถสาธารณะเพื่อประหยัดพื้นที่จอดรถส่วนบุคคลและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม) (2) สิงคโปร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบริโภคอุปโภคจากเพื่อนบ้าน (3) สิงคโปร์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารมากกว่า 90% ทำให้มีความอ่อนไหวสูงต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก (4) สิงคโปร์ลงทุนกับเรื่องการศึกษาอย่างมาก ทำให้ค่าเล่าเรียนแพง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยด้านการศึกษาอยู่ที่ 2.87% ต่อปีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งกระทบโดยตรงกับคนต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กไปจนถึงระดับอุดมศึกษา) (5) อัตราราคาสินค้าของกลุ่มดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 2.21% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (สิงคโปร์กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างยิ่ง)

ปัจจุบัน ราคาค่าแรงของภาคเอกชนในสิงคโปร์เริ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ โดยอัตราการว่างงานของสิงคโปร์ต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.1% จากมาตรการส่งเสริมการจ้างงานคนต่างชาติและ PR ของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพโดยรวม รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มพิจารณากลับมาจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรง และเป็นวิธีการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่ง


1ค่าเฉลี่ยของราคาที่เปลี่ยนไปของสินค้าและบริการของเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้จ่ายโดยครัวเรือนทั่วไปต่อหนึ่งระยะเวลา ซึ่งจะไม่รวมรายจ่ายในการซื้อบ้าน การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินและการจ่ายภาษี


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง