รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2566 และแนวโน้มในช่วงต่อไป

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้เผยแพร่เอกสารอัตราคาดการณ์ทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2566 สรุปสาระสำคัญพร้อมบทวิเคราะห์ ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2566

GDP สิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2566 เติบโตเพียงร้อยละ 0.1 (แบบ year-on-year และร้อยละ 0.7 แบบ quarter-on-quarter) อันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อ อุปสงค์สินค้าและบริการที่ลดลงโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอนเนื่องจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ประเด็น รัสเซีย – ยูเครน ทั้งนี้ ภาคการค้าสินค้าและการผลิตหดตัวร้อยละ -4.1 ในขณะที่ภาคบริการยังคงเติบโตร้อยละ 1.7

ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิต หดตัวร้อยละ 6.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าหดตัวเกือบทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มวิศวกรรมการขนส่ง (transport engineering) ทั้งนี้ ภาคการผลิตคิดเป็นร้อยละประมาณ 20 – 25 ของ GDP ทั้งหมดของสิงคโปร์ จึงส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ และ (2) การค้าสินค้า การขนส่ง และคลังเก็บสินค้า หดตัวร้อยละ 1.1 โดยภาคการค้าส่งหดตัวลงอย่างมากเนื่องจากการส่งออกของสิงคโปร์ ซบเซาลง แม้ว่าภาคการค้าปลีก การขนส่ง และคลังเก็บสินค้าจะยังคงเติบโตได้พอสมควร เพราะได้รับผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศ และการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจนเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนและต่างประเทศ

ภาคเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี ได้แก่ (1) การก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 8.5 ซึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงต้องการแรงงานในภาคการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นของโครงการที่พักอาศัยต่าง ๆ ที่จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ จะช่วยบรรเทาความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์ลงได้ (ปัจจุบันอัตราการเติบโตของตลาดค่าเช่าที่พักในสิงคโปร์สูงที่สุดในโลก)  (2) ภาคอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม บริการอาหารและเครื่องดื่ม และบริการสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ยังคงเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 6.7 และ (3) กลุ่ม IT การเงิน ประกันภัย และบริการมืออาชีพ เติบโตร้อยละ 1.9 แบบ YoY แต่หดตัวร้อยละ 1 แบบ QoQ โดยมีข้อสังเกตว่า การชะลอทางธุรกิจของ tech firms และ digital solutions ในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลต่อการชะลอตัวของภาค IT ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบรรษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ จำนวนมาก

ภาคการส่งออกที่หดตัวลงของสิงคโปร์ ไม่ส่งผลต่อการส่งออกมายังประเทศไทย

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ภาคการส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ในภาพรวมหดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามภาวการณ์ตลาดโลก โดยการส่งออก (1) กลุ่ม non-oil domestic exports (NODX) เมื่อเดือนธันวาคม 2565 เริ่มหดตัวร้อยละ 20.6 และหดตัวถึงร้อยละ 25 ในเดือนมกราคม 2566 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2566 NODX หดตัวร้อยละ 15.6 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ และ (2) กลุ่ม non-oil reexports (NORX) เมื่อเดือนธันวาคม 2566 หดตัวร้อยละ 7.2 และเดือนมกราคม 2566 หดตัวถึงร้อยละ 10.4 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 แต่กลับมาหดตัวอีกร้อยละ 6.1 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 

การส่งออกของสิงคโปร์ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังจีน (รวมฮ่องกงและไต้หวัน) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกลุ่ม EU แต่ยังไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าไทย – สิงคโปร์ เท่าใดนัก จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ไทย เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 การนำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์มาไทยยังคงขยายตัวร้อยละ 2.87 มูลค่ารวม 2,508,390.42 ล้านบาท แต่การส่งออกสินค้าของไทยไปสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 1.12 มูลค่ารวม 2,373,188.95 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 135,201.48 ล้านบาท

ภาวะเงินเฟ้อของสิงคโปร์เริ่มชะลอตัว

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ประกาศข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสิงคโปร์ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ณ เดือน มีนาคม 2566 เริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) อยู่ที่ร้อยละ 5 ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และอัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI all items) อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ลดลงจากร้อยละ 6.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 6.6 ในเดือนมกราคม 2566

ธนาคารกลางสิงคโปร์คาดการณ์ว่า ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ เฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5 และน่าจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 2.5 ได้ในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 – 5.5 ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว โดย MAS เห็นว่าระดับค่าเงินของสิงคโปร์ในปัจจุบันมีความสมดุลดีอยู่แล้วทั้งในแง่ของการควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายในและการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จึงเห็นควรคงระดับการตรึงค่าเงินของสิงคโปร์ (S$NEER Policy) ไว้ในอัตราปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

อัตราการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ในขณะนี้ยังอยู่ในช่วง downtrend ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า หากในไตรมาสต่อไปเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังไม่สามารถเติบโตได้ดีกว่านี้ หรือไม่ได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศของจีนตามที่หวังไว้ (cautious optimism) MTI น่าจะประกาศปรับลดอัตราคาดการณ์การเติบโต GDP สิงคโปร์ ในปีนี้จากที่เคยตั้งไว้ร้อยละ 0.5 – 2.5

แม้ว่าภาคการส่งออกของสิงคโปร์จะยังไม่ฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะยังคงสามารถเติบโตได้จากภาคบริการ และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่พึ่งพาการผลิต โดย Economist Intelligence Unit (EIU) ประเมินว่า สิงคโปร์ แคนาดา และเดนมาร์ก เป็น 3 ประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีที่สุดในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ในขณะที่ไทยซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จะเติบโตจากนโยบายการกระจายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานแบบ จีน+1 (China+1 Policy) ของภาคเอกชนจากต่างประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า การเปิดประเทศของจีน และการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนมิได้ส่งผลเชิงลบต่อการสาธารณสุขของสิงคโปร์อย่างที่นักวิชาการบางกลุ่มเคยกังวล ทั้งนี้ สิงคโปร์พยายามเร่งเปิดเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์กับจีนมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากจีน ในขณะที่สถาบันการเงินในสิงคโปร์ ได้รายงานบทวิเคราะห์เรื่องการเคลื่อนย้ายทุนและย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีจีนมายังสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็น “ดาบสองคม” ต่อสิงคโปร์เอง เนื่องจากแม้ว่าจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้ามาของชาวจีนอพยพระลอกใหม่ แต่สิงคโปร์ก็มีความเสี่ยงเรื่องประชากรล้นเมือง และอัตราค่าเช่าที่พักอาศัยที่สูงขึ้นจากอุปสงค์ของเศรษฐีจีนอพยพซึ่งมีกำลังซื้อมากและมองว่าสิงคโปร์เป็น “เขตปลอดภัย” (safe haven)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง