รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศภาพรวมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ปี 2565 และคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2566

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 คิดเป็นร้อยละ 3.6 (ต่ำกว่าประมาณการที่ร้อยละ 3.8) ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตที่ลดลงในไตรมาสที่ 4/2565 โดยเติบโตเพียงร้อยละ 2.1 (ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4) ทั้งนี้ MTI คาดว่า GDP สิงคโปร์จะเติบโตได้น้อยลงในปี 2566 ที่ร้อยละ 0.5 – 2.5 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ประจำปี 2565

GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 4/2565 เติบโตร้อยละ 2.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากผลจากการหดตัวของอุปสงค์ของตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชีวการแพทย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ภาคการผลิตหดตัว ร้อยละ 2.6 (แบบ Year-on-Year) ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี คือ (1) บริการอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 19.6 (2) อสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 15.2 (3) งานธุรการและสนับสนุนธุรกิจ ร้อยละ 10.5 (4) ภาคการก่อสร้าง ร้อยละ 10 (เติบโตต่อเนื่องทุกไตรมาส) และ (5) โรงแรมและที่พัก ร้อยละ 7.8

ปี 2565 GDP ของสิงคโปร์เติบโตร้อยละ 3.6 (ลดลงจากร้อยละ 8.9 ในปี 2564 โดย GDP สิงคโปร์ มีมูลค่ารวม 643,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มจาก 569,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร (GNI per capita) คิดเป็น 95,787 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เพิ่มจาก 87,308 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2564) ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่สำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ได้แก่ (1) การผลิต ร้อยละ 21.6 (2) การค้าส่ง ร้อยละ 18.6 (3) ภาคการเงินและประกันภัย ร้อยละ 13.5 (4) คมนาคมและการจัดเก็บสินค้า ร้อยละ 10.4 และ (5) สารสนเทศและการสื่อสารและภาคบริการมืออาชีพมีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 5.4 

ธุรกิจในสิงคโปร์ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (main drivers) ได้แก่ ภาคการค้าส่ง การผลิต สารสนเทศและการสื่อสาร บริการมืออาชีพ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนธุรกิจที่เติบโตได้ดีในปี 2565 ได้แก่ (1) บริการอาหารและเครื่องดื่ม เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.2 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ (2) ภาคอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14.1 (3) โทรคมนาคมและการสื่อสาร เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ธุรกิจที่ MTI เชื่อมั่นว่าจะยังเติบโตในปี 2566 คือภาคการก่อสร้าง ในขณะที่ภาคการผลิตน่าจะยังคงหดตัวลงอีกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคการส่งออกของสิงคโปร์

อัตราการจ้างงานของสิงคโปร์ในปี 2565 รวม 3.9 ล้านอัตรา เพิ่มขึ้นจาก 3.65 ล้านอัตราในปี 2564 อัตราการว่างงาน ร้อยละ 2.1 ลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2564 ในขณะที่ต้นทุนในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เช่นกัน ได้แก่ (1) ค่าจ้างแรงงานในทุกภาคเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และ (2) ค่าดำเนินธุรกิจในภาคการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในสิงคโปร์ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI All-item) ตลอดปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ดัชนีค่าใช้จ่ายในครัวเรือน (Domestic Supply Price Index) เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 18.6

มุมมองของสิงคโปร์ต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2566

เศรษฐกิจของจีนในปีนี้น่าจะเติบโตได้ดีและเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชีย โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานโลกมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นบ้างเแม้อยู่ในช่วงที่อุปสงค์โลกหดตัว ซึ่งสิงคโปร์คาดการณ์ว่าภาคการบิน การท่องเที่ยว ศิลปะ ตลอดจนอุตสาหกรรมบันเทิงของเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลดีจากการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยของจีน

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีโอกาสน้อยที่จะเติบโตได้ดีในปี 2566 เนื่องจากนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว (อาทิ การเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ซึ่งส่งผลต่อภาคการบริโภคและการลงทุน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งดำเนินนโยบายทางการเงินใกล้เคียงกันเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่กลับส่งผลต่ออุปสงค์ภายในที่หดตัวภายในเขตเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MTI สิงคโปร์มีความเห็นสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารโลกว่า เศรษฐกิจของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของตลาดภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

ปัจจัยที่ไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2566 ได้แก่ (1) นโยบายการเงินแบบตึงตัวในประเทศพัฒนาแล้วจะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่นโยบายดังกล่าวอาจสร้างความเสี่ยงและความเปราะบางต่อ เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและครัวเรือน (2) หากสงครามในยูเครนและความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาคอุปทานของโลก ส่งผลเสียต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ และลดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อาจส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในระดับหนึ่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

จากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนน่าจะเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 4.3 นั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า สิงคโปร์จะพยายามขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนและประเทศในอาเซียนมากขึ้นในปี 2566 เพื่ออาศัยจังหวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เปิดประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีมาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วย

แม้สิงคโปร์จะบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีในปี 2565 แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และตัดสินใจผิดพลาดในบางประเด็น อาทิ การลงทุนของบริษัท Temasek (วิสาหกิจที่รัฐบาลสิงคโปร์ถือครองหุ้นร้อยละ 100) ได้ลงทุนใน FTX ซึ่งเป็นบริษัทด้านการค้าสกุลเงินคริปโต โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 Temasek มีมูลค่าการลงทุนใน FTX กว่า 403,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท) แต่เมื่อบริษัท FTX ในตลาดเงินคริปโตของสหรัฐฯ ประกาศล้มละลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่งผลให้ Temasek และสิงคโปร์สูญเงินเสียเงินลงทุนใน FTX ดังกล่าวเกือบทั้งหมด

สิงคโปร์ยังคงพยายามเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมหลอกลวงเงิน (scams) ซึ่งปี 2565 การหลอกลวงเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสิงคโปร์มีมูลค่ารวม 660.7 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ (ประมาณ 16,517 ล้านบาท) เพิ่มจาก 632 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ในปี 2564 จำนวน scams 31,728 คดี เพิ่มจาก 23,933 คดีในปี 2564 โดยร้อยละ 53 ของผู้ถูกหลอกมีอายุระหว่าง 20 – 39 ปี


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง