สิงคโปร์กับอียูประกาศเจรจาความตกลงร่วมมือด้านดิจิทัล

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 หลังการประชุมนอกรอบของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างสหภาพยุโรปและสิงคโปร์ (EU-Singapore Digital Partnership)1 ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงอนาคตเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย โดยในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า  ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการสานต่อความร่วมมืออันยาวนานระหว่างทั้งสิงคโปร์และสหภาพยุโรปด้านการค้า การวิจัย และเทคโนโลยี และจะเป็นการกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้บริโภค และธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องร่วมกันกับข้อปฏิบัติการค้าดิจิทัลที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อเศรษฐกิจดิจิทัลแบบเปิด และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรอบการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัลระหว่างทั้งสองฝ่ายและกับทั่วโลก ทั้งนี้ สิงคโปร์และสหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักการเหล่านี้เพื่อออกกฎการค้าดิจิทัลแบบทวิภาคี และเชื่อว่า ข้อตกลงการค้าดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเจรจากับองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation) ที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

ความร่วมมือดังกล่าวได้รับถูกนำเสนอครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2564 ในการประชุมคณะกรรมการการค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-สิงคโปร์ เพื่อช่วยยกระดับความร่วมมือในประเด็นด้านดิจิทัลต่างๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า การไหลเวียนของข้อมูลที่เชื่อถือได้และนวัตกรรมข้อมูล ความน่าเชื่อถือทางดิจิทัล มาตรฐาน ทักษะทางดิจิทัลสำหรับคนทำงาน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของธุรกิจและบริการสาธารณะ การเป็นหุ้นส่วนยังอำนวยความสะดวกในความพยายามร่วมกันในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เช่น 5G/6G ปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลประจำตัวดิจิทัล

นาย Lee กล่าวว่า สิงคโปร์และสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์อันดี โดยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวจะยิ่งช่วยพัฒนาความร่วมมือในด้านดิจิทัลมากขึ้น และจะปูทางไปสู่การเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่มากขึ้นระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ซึ่งผู้นำอาเซียนและสหภาพยุโรปมีความสนใจที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยทั้งสองภูมิภาคมุ่งมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะเป็นการสร้างข้อตกลงการค้ารูปแบบใหม่ระหว่างประเทศต่างๆ

ในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า  ทั้งสองกลุ่มจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุมไปถึงประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านน้ำ ขยะในทะเล เศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียวและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนในอนาคตจะช่วยยืนยันการมีเป้าหมายระยะยาวร่วมกัน

นาย Lee กล่าวเสริมว่า สิงคโปร์มีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศในด้านการค้าแบบดั้งเดิม แต่ขณะนี้สิงคโปร์กำลังดำเนินการเป็นหุ้นส่วนในสองด้านใหม่นี้ โดยสิงคโปร์จะสามารถดึงดูดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมายังสิงคโปร์ได้ผ่านความร่วมมือทางดิจิทัลใหม่ ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีโอกาสมากขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ สหภาพยุโรปมีความสนใจที่จะร่วมมือในด้านเศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากสหภาพยุโรปดำเนินการอย่างจริงจังในการลดคาร์บอนเพื่อให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก รัฐบาลฯ พยายามผลักดันข้อตกลง/ความร่วมมือด้านดิจิทัลกับหลายๆ ประเทศ โดยได้ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ/กรอบการทำงานร่วมกันสำหรับการค้าดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ และช่วยให้ธุรกิจ รวมถึง SMEs สามารถเชื่อมต่อแบบดิจิทัลกับคู่ค้าในต่างประเทศได้ดีมากขึ้น เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ราบรื่นและง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว โดยมี Singapore Green Plan 2030 เป็นแม่บทของประเทศ

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ภาครัฐอาจจะต้องส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างผลผลิต รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจ รวมถึง SMEs และประชาชนที่จะได้มีโอกาสสร้างรายได้จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยได้


1 ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะลงนามอย่างเป็นทางการในต้นปี 2566 นอกจากข้อตกลงกับสหภาพยุโรปแล้ว สิงคโปร์ยังมีข้อตกลงในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี เป็นต้น


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง