สิงคโปร์เตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 9 แนวโน้มของผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ประชาชน และการปรับนโยบายทางการเงินของรัฐบาลสิงคโปร์

เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และเป็นช่วงที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราภาษี GST (ภาษีมูลค่าเพิ่ม เทียบเท่า VAT ของไทย) โดยนายลอว์เรนซ์ วอง (H.E. Mr. Lawrence Wong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์จะแจ้งรายละเอียดในการแถลงร่างงบประมาณประจำปี (Budget 2022) ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์จึงได้จัดทำบทวิเคราะห์เรื่องการขึ้นภาษี GST ดังนี้

ข้อมูลภูมิหลัง

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้ภาษี GST ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ในอัตราร้อยละ 3 และทยอยปรับขึ้นภาษีรวม 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ปี 2546 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 4 ครั้งที่ 2 ปี 2547 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 5 และ ครั้งที่ 3 ปี 2550 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 7 โดยที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ปรับขึ้นภาษีมาแล้ว 15 ปี จึงเห็นควรปรับอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564) ภาษี GST คิดเป็นรายได้อันดับ 3 ของรัฐบาลสิงคโปร์ (ร้อยละ 15) รองจากภาษีเงินได้นิติบุคคล (ร้อยละ 21) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ร้อยละ 20)

เมื่อปี 2561 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแผนปรับขึ้นอัตราภาษี GST เป็นร้อยละ 9 ซึ่งแต่เดิมวางแผนจะปรับขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี 2564 ถึง 2568 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ทำให้ในปี 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ต้องประกาศชะลอการปรับขึ้นภาษี GST ออกไปก่อน ต่อมา ในปี 2564 แม้ว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโตได้ดี (ประมาณร้อยละ 7.2) แต่เป็นการเติบโตที่ไม่สมดุลกันทุกอุตสาหกรรม และยังคงมีแรงกดดันจากภาคส่วนที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงภาวะการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์ที่สูงขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ยังไม่ประกาศขึ้นภาษีเมื่อปีที่ผ่านมา

ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราภาษี GST ในปี 2565

การดำเนินงบประมาณขาดดุล เมื่อปี 2563 เศรษฐกิจของสิงคโปร์ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน รวมทั้งต้องดำเนินงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2563 (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564) งบประมาณภาครัฐของสิงคโปร์ขาดดุล 6,490 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และปีงบประมาณ 2564 (เมษายน 2564 – มีนาคม 2565) คาดว่าจะขาดดุลสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนการปรับขึ้นภาษี GST ตามที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้าด้วยแล้ว (ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินงบประมาณแบบเกินดุลครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 จำนวน 840 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)

โครงสร้างรายจ่ายของรัฐบาลสิงคโปร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายภาครัฐของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 เท่า จาก 33,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2550 เป็น 75,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2562 ซึ่งหากพิจารณาตามโครงสร้างงบประมาณแล้ว ค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า จาก 2,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 11,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในช่วงปีดังกล่าว ทั้งนี้ สิงคโปร์กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยปี 2564 สิงคโปร์มีการขยายตัวของประชากร (คนชาติและ PR) ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 เมื่อปี 2553) และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 หรือ 960,000 คน ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งอัตราผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลก็เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่าด้วย

การป้องกันการใช้เงินทุนสำรอง (Past Reserves) เมื่อปีงบประมาณ 2563 ประธานาธิบดีสิงคโปร์ได้อนุมัติการนำเงินสำรองของประเทศมาใช้เป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2552 และสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในจำนวน  52,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีมูลค่ารวมเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าสิงคโปร์ควรจะเก็บรักษาเงินทุนสำรองไว้ในยามฉุกเฉินและจำเป็นเท่านั้น โดยพยายามไม่นำออกมาใช้อีก รวมทั้งควรคิดเผื่ออนาคตของคนสิงคโปร์รุ่นหลังด้วย ดังนั้น การเพิ่มภาษี GST จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ภาครัฐ และลดความเสี่ยงที่จะต้องนำเงินทุนสำรองมาใช้อีก

ปัจจัยทางการเมือง นักวิชาการท้องถิ่นเห็นว่า พรรค People’s Action Party (PAP – พรรครัฐบาล) น่าจะวางแผนการปรับขึ้นภาษี GST ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงต่อจากนี้ โดยปี 2565 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะขึ้นภาษี GST เนื่องจาก สิงคโปร์มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2566 และอาจจัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีปรากฏการณ์สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ดังนั้น การขึ้นภาษี GST ที่กระทบกับประชากรทั้งหมดในช่วงใกล้เคียงหรือหลังการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่อความนิยมในตัวผู้นำคนใหม่และเสถียรภาพทางการเมืองของพรรค PAP ด้วย ทั้งยังเพิ่มความท้าทายในการหาเสียงของพรรค PAP เห็นได้จากผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2563 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านของสิงคโปร์ที่คัดค้านการปรับขึ้น GST ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง

ผลกระทบและมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ภาคธุรกิจ นาย Lam Yi Young ประธานสภาธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation – SBF) ให้ข้อมูลหลังจากการประชุมใหญ่ของ SBF เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ว่า นักธุรกิจในสิงคโปร์มีความกังวลเรื่องแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นภาษี GST ของรัฐบาลสิงคโปร์ในปีนี้ กอปรกับอัตราค่าแรงที่สูงขึ้นจากภาวะการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าในปี 2565 ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ภาคเอกชนบางส่วนยังคงประสงค์ให้รัฐบาลสิงคโปร์ชะลอการปรับขึ้นภาษี GST ออกไปก่อน หรือทะยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นไปค่อยไป แต่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารท้องถิ่น อาทิ DBS ประเมินว่ารัฐบาลสิงคโปร์น่าจะปรับขึ้นภาษี GST เป็นร้อยละ 9 แบบครั้งเดียว ภายในเดือน กรกฎาคม 2565 นอกจากนี้ ภาคเอกชนบางส่วนยังระบุถึงภาระต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของรัฐบาล อาทิ แผนการเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น

ภาคประชาชน สำนักข่าวท้องถิ่นรายงานว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีข้อกังวลว่าจะมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าอาหารที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษี GST เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางซึ่งบางส่วนเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 20 และการเพิ่ม GST ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 – 3 ในปีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการ โดยผู้บริโภคจะต้องแบกรับผลพวงของปัญหาเหล่านี้ และเข้าสู่ “ช่วงรัดเข็มขัด” แม้ว่าดัชนีค่าจ้างแรงงานในปีนี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 – 3 ในปีนี้ก็ตาม

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ นาย Sung Eun Jung นักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics วิเคราะห์ว่า หากรัฐบาลสิงคโปร์ปรับขึ้นภาษี GST ก็ควรต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีมาตรการรองรับผลกระทบ เนื่องจากอาจเพิ่มแรงกดดันด้านราคา และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยอัตราเงินเฟ้อทั้งในสิงคโปร์และทั่วโลกทำให้ภาคการบริโภคลดลงและเศรษฐกิจอาจชะลอตัวในที่สุด อย่างไรก็ตาม นาย Takua Kamata ผู้อำนวยการธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานสิงคโปร์ไม่มีข้อห่วงกังวลในการปรับขึ้นภาษีของรัฐบาลสิงคโปร์ เนื่องจาก รัฐบาลสิงคโปร์มีความโปร่งใส่และชัดเจนกว่าเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหลายแห่งในภูมิภาค ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ภาษี GST เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือ GST เป็นภาษีอัตราถดถอย (regressive tax) ซึ่งอาจสร้างภาระให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้มาก เนื่องจากต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้

มาตรการรองรับของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อกรณีผลกระทบจากการปรับขึ้น GST

มาตรการช่วยเหลือประชาชน ในการแถลงงบประมาณ ปี 2563 (Budget 2020) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ได้จัดทำงบประมาณ Assurance Package วงเงิน 6,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไว้ล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี GST ต่อประชาชนสิงคโปร์ทั่วไปในระยะ 5 ปี โดย รัฐบาลจะจ่ายเป็นเงินสดระหว่าง 700 – 1,600 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่คนชาติสิงคโปร์ ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือในระยะยาว 10 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำโครงการคูปองลดภาษีในโครงการ Community Development Council vouchers มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์/ใบ แจกจ่ายแก่ครัวเรือนของคนชาติสิงคโปร์ เพื่อใช้ในศูนย์อาหาร (hawkers centres) และร้านค้าในเขตที่อยู่อาศัย (heartlands)

มาตรการทางการเงิน สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่ออุปโภคบริโภคจำนวนมาก ดังนั้น การที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าในสิงคโปร์สูงขึ้นตามไปด้วย โดยภาวะเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Inflation) ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นร้อยละ 2.1 เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จึงได้ประกาศนโยบายเชิงรุก (pre-emptive adjustment) โดยกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ (S$NEER policy band) ให้มีค่าความชันสูงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 MAS ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) จากเดิมร้อยละ 1 – 2 เป็นร้อยละ 2 – 3 ในปีนี้ และคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ (CPI-All items) จะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยในช่วงต่อจากนี้ MAS จะปรับเพิ่มความชันของกรอบค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะกลาง

แหล่งที่มา: Monetary Authority of Singapore

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

จากสถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ค.ศ. 2021 สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากร [GDP (PPP) per Capita] สูงที่สุดในเอเชีย และสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จำนวนรายได้ 102,742 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาของบริษัท KPMG ระบุว่า ด้วยอัตราภาษี GST ร้อยละ 7 ในปัจจุบัน สิงคโปร์จึงยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในโลกและในเอเชีย โดยปี 2564 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วโลก มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 19 และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วเอเชียมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11.6 ทั้งนี้ สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวในอาเซียนที่มีแผนปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้ โดยอินโดนีเซียวางแผนจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 11 ในเดือนเมษายน 2565

สถานเอกอัครราชทูตมีข้อสังเกตว่า นอกจากการปรับขึ้นภาษี GST แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ได้พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีและปรับขึ้นอัตราภาษีอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ โดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ด้วย โดยในปี 2556 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับภาษีรถยนต์หรูหรา (luxury cars) และปี 2555 และ 2560 ได้ปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคล ในปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการเตรียมการปรับอากรที่ดิน (duty stamp) สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป โดยหวังว่าจะลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ในช่วงนี้ อีกประการหนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์ได้ศึกษาโมเดลเศรษฐกิจในภาคสาธารณสุขซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญของประเทศพัฒนาแล้วที่มีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ [โดยในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 12,530 ดอลลาร์สหรัฐ/คน) คิดเป็นร้อยละ 19.7 ของ GDP สหรัฐฯ] เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนในเชิงโครงสร้างด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง