สรุปสถานการณ์ตลาดแรงงานในสิงคโปร์ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้เผยแพร่เอกสาร Labour Market Developments ของปี ค.ศ. 2022 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ระบุว่า ภาพรวมตลาดแรงงานในสิงคโปร์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2564  โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตลอดปี 2565 เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รายงานสถานการณ์แรงงานในสิงคโปร์ปี 2565

ภาพรวมตลาดแรงงานของสิงคโปร์ในปี 2565 เติบโตได้ดี การจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์รวม 227,800 อัตรา (ไม่รวมพนักงานทำความสะอาดบ้าน) ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ร้อยละ 2.9 โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานคนต่างชาติ จำนวน 201,600 อัตรา เนื่องจากสิงคโปร์เปิดประเทศอย่างปลอดภัยตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ทำให้นายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติ (Work Permit Holders) ในภาคธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและการผลิต

แหล่งที่มา: Ministry of Manpower, Straits Times Graphics https://www.straitstimes.com/singapore/jobs/retrenchments-in-q4-2022-double-of-q3-mom-report)
แหล่งที่มา: Ministry of Manpower, Straits Times Graphics https://www.straitstimes.com/singapore/jobs/retrenchments-in-q4-2022-double-of-q3-mom-report)

อัตราการว่างงานโดยรวมลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ในปี 2565 จนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยอัตราการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์และ PR อยู่ที่ร้อยละ 3.0 และ 2.9 ตามลำดับ

การปลดพนักงานและยุติการจ้างงาน จำนวน 6,440 ราย ซึ่งลดลงจนต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 ภาคธุรกิจในสิงคโปร์จะปลดพนักงานหรือยุติสัญญาจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากไตรมาสที่ 3/2565 จำนวน 2,990 ตำแหน่ง โดยอุตสาหกรรมที่มีการปลดพนักงานมากที่สุด คือ (1) ภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 670 ตำแหน่ง (2) การค้าส่ง 450 ตำแหน่ง และ (3) ข้อมูลและการสื่อสาร 370 ตำแหน่ง ซึ่งเหตุผลหลักที่ปลดพนักงาน คือ การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4/2565 อัตราการหางานได้ใหม่ภายใน 6 เดือนของคนอยู่ถาวร (Permanent Residents – PR) ที่ถูกเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73.1 สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม อัตราการเปิดรับสมัครงานใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2565 จนถึง 4/2565 โดยในเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนรวม 104,500 อัตรา และอัตราการเปิดรับสมัครงานต่ออัตราผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.33 ตำแหน่งงานส่วนใหญ่เป็นงานด้านการก่อสร้างและการผลิต ซึ่งสิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ

แนวโน้มตลาดแรงงานสิงคโปร์ในปี 2566 

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ประเมินว่า ถึงแม้การจ้างงานในเดือนธันวาคม 2565 จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ความท้าทายจากความผันผวนและการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในอนาคต โดยการจ้างงานในสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะลดลงและไม่สม่ำเสมอในทุกภาคส่วน ส่วนภาคการบินและการท่องเที่ยว รวมถึง โรงแรม ที่พัก คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ การท่องเที่ยว และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของจีน ในทางกลับกัน ภาคการผลิตอาจเติบโตได้ไม่ดีนัก เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลงและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงดำเนินโครงการเพิ่มทักษะในการทำงานแก่พนักงาน เช่น (1) Jobs Transformation Maps (JTMs) จำนวน 10 รายการ ที่หน่วยงาน Workforce Singapore (WSG) ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้นายจ้างและพนักงานมีทักษะที่จำเป็นและสามารถออกแบบงานใหม่ ๆ ได้ล่วงหน้า (2) โครงการ Support for Job Redesign ภายใต้ Productivity Solutions Grant ให้เงินช่วยเหลือและบริการออกแบบการจ้างงานแก่นายจ้างที่ประสงค์จะเพิ่มผลิตภาพในธุรกิจ (3) โครงการ Career Conversion Programmes ช่วยเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ให้กับพนักงาน รวมทั้งฝึกอบรมพนักงานระดับกลาง (mid-career) ให้พร้อมสำหรับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ และ (4) ระบบค่าจ้างที่ยืดหยุ่น (Flexible Wage System) ซึ่งนายจ้างควรนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาและบริหารจัดการค่าตอบแทนพนักงาน

แหล่งที่มา: https://www.wsg.gov.sg/

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ถึงแม้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อการจ้างงาน แต่ผลการศึกษาของบริษัท LinkedIn พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังเป็นสาขาที่สร้างโอกาสสำหรับตลาดงานต่อไปในปี 2566 จากการจัดอันดับงานที่เติบโตเร็วที่สุดในสิงคโปร์ 15 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นงานด้านเทคโนโลยีและการขาย โดยอันดับที่ 1 – 3 คือ ผู้ช่วยฝ่ายพัฒนาการขาย วิศวกรระบบคลาวด์ และผู้บริหารบัญชีองค์กร นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่าพนักงานมากกว่าร้อยละ 50 กำลังเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเพิ่มพูนความรู้เชิงลึกในสาขาที่เป็นที่ต้องการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ตัวพนักงานเองในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้

บริษัทวิจัย Skytrax ของสหราชอาณาจักร ได้จัดอันดับท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 โดยท่าอากาศยานชางงี สิงคโปร์ ได้รับอันดับที่ 1 เป็นครั้งที่ 12 (สูงขึ้นจากอันดับที่ 3 ในปี 2564 และ 2565) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ในพิธีมอบรางวัลท่าอากาศยานโลกประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่ Passenger Terminal Expo เนเธอร์แลนด์ ท่าอากาศยานชางงี สิงคโปร์ ยังได้รับเลือกให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในเอเชีย ดีที่สุดในโลกในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและอาหารในสนามบิน ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวพิจารณาถึงปัจจัยด้านแรงงานสัมพันธ์และศักยภาพของแรงงาน ซึ่งสะท้อนว่านโยบายส่งเสริมการพัฒนาแรงงานและการจ้างงานในภาคการบิน
ของสิงคโปร์เริ่มบรรลุผลตามที่วางแผนไว้

สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า การปลดพนักงานในบรรษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อตลาดงานในสิงคโปร์ไม่มากนัก เนื่องจากในปี 2566 ภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยกว่าสหรัฐฯ และยุโรป กอปรกับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีนทำให้ตลาดด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และการท่องเที่ยวในภูมิภาคจะยังคงเติบโตในปีนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรมของสิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานที่เคยทำงานในภาคธุรกิจนี้ยังไม่มั่นใจถึงความมั่นคงในอาชีพ จึงยังไม่กล้ากลับเข้าสู่ภาคบริการเหล่านี้มากนัก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง