ธนาคารกลางสิงคโปร์กระชับนโยบายค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ครั้งที่ 5 และรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ สิงคโปร์ไตรมาสที่ 3/2565

สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอรายงานพัฒนาการของปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 3/2565 ดังนี้

พัฒนาการการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในสิงคโปร์

สถานการณ์เงินเฟ้อในสิงคโปร์ยังคงรุนแรงขึ้น ณ เดือนกันยายน 2565 ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) สูงขึ้นร้อยละ 5.3 และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI All-Item) สูงกว่าร้อยละ 7.5 (แบบปีต่อปี) ซึ่งถือเป็นภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของสิงคโปร์ในรอบ 14 ปี โดยภาวะเงินเฟ้อแบบเดือนต่อเดือนของดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.4

แม้ธนาคารกลางสิงคโปร์จะปรับนโยบายทางการเงินแบบค่าเงินแข็งค่า (re-centre the mid point of the Singapore Dollar Nominal Effective Exchange Rate – S$NEER) มาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถชะลออัตราเงินเฟ้อได้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์จึงได้ออกเอกสารแถลงนโยบายว่าจะใช้นโยบายทางการเงินแบบแข็งค่าขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 5 ดังนั้น ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์จึงน่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างน้อยจนถึงช่วงไตรมาสที่ 1/2566

ธนาคารกลางสิงคโปร์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์น่าจะบรรเทาลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานประมาณร้อยละ 3.5 – 4.5 และดัชนีราคาผู้บริโภคประมาณร้อยละ 5.5 – 6.5 ท่ามกลางปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ นโยบายการเงินของรัฐบาลสิงคโปร์ ทั้งการเพิ่มภาษี GST (เทียบเท่าภาษี VAT) ในปี 2566 และการใช้นโยบายค่าเงินแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อได้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 3/2565

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) เผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 3/2565 ว่า GDP ของสิงคโปร์ เติบโตร้อยละ 4.4 แบบปีต่อปี และ 1.5 แบบไตรมาสต่อไตรมาส โดยภาคธุรกิจที่เติบโตได้ดีที่สุดแบบปีต่อปี คือ ที่อยู่อาศัย บริการอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านธุรการต่าง ๆ เติบโตร้อยละ 9.2 ภาคการก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 7.8 ธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง เติบโตร้อยละ 6.2 และบริการในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เติบโตร้อยละ 6.1

หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ภาคธุรกิจที่เติบโตได้ดีที่สุดในไตรมาสที่ 3/2565 ได้แก่ ธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง การคมนาคม และการจัดเก็บสินค้า เติบโตร้อยละ 4.2 อันเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการประชุมระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ในขณะที่ภาคการก่อสร้างเติบโตร้อยละ 3.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์ จะขึ้นภาษี GST ในวันที่ 1 มกราคม 2566 จึงเร่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างเท่าที่จะทำได้ในปีนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงอัตราคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2565 ที่ร้อยละ 3 – 4 หลังจากที่เติบโตร้อยละ 7.6 ในปี 2564

ในด้านแรงงาน อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดภาวะเงินเฟ้อของค่าจ้างในตลาดแรงงาน รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมบัตรอนุญาตทำงานประเภทใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดแรงงานคุณภาพดีจากต่างประเทศมาทำงานในสิงคโปร์ ทั้งในภาคเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูง และภาคบริการ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า นโยบายดังกล่าวเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อของสิงคโปร์ หลังจากที่สิงคโปร์ ส่งเสริมการจ้างงานคนชาติสิงคโปร์ และลดการจ้างงานคนต่างชาติตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจ รวมถึงบริษัทข้ามชาติมีทางเลือกน้อยลงในการจ้างงาน และส่งผลให้ค่าจ้างของคนชาติสิงคโปร์สูงขึ้น และต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่ cost-push inflation ที่รุนแรงขึ้น

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ จากสถิติเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน 2565 การค้าระหว่างประเทศของ สิงคโปร์ เติบโตร้อยละ 30.5 ร้อยละ 26.0 และร้อยละ 20.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีตลาดส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (NODX) 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) สหรัฐฯ (2) กลุ่ม EU 27 ประเทศ (3) อินโดนีเซีย (4) ญี่ปุ่น (5) เกาหลีใต้ (6) ไทย (7) มาเลเซีย (8) ฮ่องกง (9) ไต้หวัน และ (10) จีน ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังจีนและฮ่องกงยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้ามายังไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Non-Electronic NODX

ภาคการนำเข้าสินค้ามายังสิงคโปร์ เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน 2565 เติบโตร้อยละ 32.4 ร้อยละ 30.9 และร้อยละ 21.4 ตามลำดับ สินค้าที่สิงคโปร์เร่งนำเข้าจากต่างประเทศในไตรมาสนี้ คือ อาหาร โดยเฉพาะ เนื้อไก่ เนื่องจากมาเลเซียระงับการส่งออกเนื้อไก่มายังสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 11 ตุลาคม 2565 และพลังงาน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สิงคโปร์ได้เริ่มนำเข้าไฟฟ้าจากโครงการ LTMS-PIP ในกรอบอาเซียน โดยในเดือนสิงหาคม 2565 มีการซื้อขายไฟฟ้าแล้วมากกว่า 85,000 MWh

มาตรการเยียวยาประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST

เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 กระทรวงการคลังสิงคโปร์ได้ออกมาตรการ Household Support Package วงเงิน 560 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเยียวยาผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST ไปแล้วครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์และทั่วโลกยังไม่มีท่าทีจะบรรเทาลง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ (นาย Lawrence Wong) จึงได้แถลงเรื่องมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม (October Support Package) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือชาวสิงคโปร์ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

มาตรการเยียวยาครั้งนี้ประกอบด้วย (1) Cost of Living (COL) Special Payment คือ การจ่ายเงินสดอุดหนุนแก่ชาวสิงคโปร์ 2.5 ล้านคน เป็นเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน (2) CDC Vouchers คือ คูปองแทนเงินสดสำหรับซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคในร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือน (รวมกับมาตรการครั้งก่อนหน้าเป็น 300 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อครัวเรือน) (3) Public Transport Vouchers คือ คูปองค่าโดยสารรถขนส่งมวลชน จำนวน 600,000 ใบ ใบละ 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ แก่ทุกครัวเรือนที่มีผู้มีรายได้น้อยกว่า 1,600 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อเดือน และ (4) Financial Assistance Schemes ของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียน จำนวน 10,500 คน รวมทั้งเงินช่วยเหลือทางการศึกษา (bursary quanta) แก่ Institute of Technical Education (ITE)

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวว่า หากครอบครัวใดไม่จำเป็นต้องใช้ CDC Vouchers ก็สามารถบริจาคให้ครอบครัวที่ต้องการได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมสิงคโปร์ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์กับประเทศในอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา นอกจากการแลกเปลี่ยนการเยือนกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ในระดับรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอแล้ว สิงคโปร์กับไทยยังได้จัดการประชุม Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นประธานร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (นายแพทย์ Tan See Leng)

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกันยายน 2565 สิงคโปร์ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานกับลาว กัมพูชา และในกรอบอาเซียน โดยในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสิงคโปร์อยู่ระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ (State Visit) ระหว่างวันที่ 16 – 20 ตุลาคม 2565 โดยบรรลุความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน และการลงทุนเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Vietnam-Singapore Industrial Park (VSIP) ที่เมือง Can Tho เวียดนาม ในขณะที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เพิ่งกลับจากการเดินทางเยือนออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 16 – 18 ตุลาคม 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุม Singapore-Australia Annual Leader’s Meeting ครั้งที่ 7 โดยสองฝ่ายได้บรรลุความร่วมมือเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด และคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมีโทรเลขเรื่องพัฒนาการความร่วมมือด้านพลังงานสิงคโปร์ – ต่างประเทศ แยกมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากเป็นประเด็นทีสิงคโปร์สนใจเพิ่มพูนความร่วมมือกับไทย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง