เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัท BlackRock, บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) และบริษัท Temasek ได้ร่วมกันจัดการประชุมด้านการลงทุนและการเงินที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ ปี 2564 (Singapore Sustainable Investing and Financing Conference 2021 – SSIFC) เป็นครั้งแรก ในหัวข้อ Bridging the Gap – Advancing Asia’s Sustainable Future โดยมีนาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ดังนี้

“พลิกวิกฤตสู่โอกาส”

โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงภัยพิบัติด้านสาธารณสุขระดับโลกที่รุนแรง อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เห็นว่า วิกฤตที่ใหญ่ คือ ภัยจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกในเชิงบวก คือ การให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อความพยายามในการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก ทั้งการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในระดับปัจเจกบุคคล โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต การแก้ปัญหาอย่างมีระบบเพื่อรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและถาวร  และความพยายามที่จะจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

บทบาทของกลุ่มธนาคาร การเงิน และการลงทุน

ภาคการเงิน การธนาคาร และธุรกิจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างจริงจัง ในอดีตแนวทาง ESG อาจขัดแย้งกับการเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดในการลงทุน แต่ปัจจุบัน ลูกค้าและนักลงทุนมีการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว                   

การผลักดันสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต สามารถดำเนินการได้ 3 ด้าน คือ 1) การกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือของแนวคิด “สีเขียว” ต่าง ๆ และ “การเปลี่ยนแปลง” ที่นักลงทุนจำเป็นต้องปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนจะมีส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ในปี 2573 อาเซียนจะมีการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงถึงประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี 2) การปรับปรุงข้อมูลในด้านความพร้อมในการใช้งาน คุณภาพ และข้อเปรียบเทียบ เพื่อให้สามารถวัดผลความก้าวหน้าในด้านความยั่งยืนของบริษัท สถาบันการเงิน และนักลงทุนต่าง ๆ รวมถึงการประเมินผลกระทบของการดำเนินงาน/การลงทุนที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ มีค่าใช้จ่ายสูง มีข้อจำกัด และมีแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย การนำเทคโนโลยี เช่น AI ภาพถ่ายดาวเทียม และอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) มาใช้จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มความถูกต้องและความละเอียดของข้อมูลได้ และ 3) การนำมาตรฐานสากลที่น่าเชื่อถือมาใช้ในการเปิดเผยและการรายงาน

สิงคโปร์และการเงินสีเขียว

สิงคโปร์มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาการเงินสีเขียวทั้งในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและโลก ดังนี้ 1) อนุกรมวิธาน (Taxonomy) คณะทำงาน Green Finance Industry Taskforce (GFTI) กำลังพัฒนาอนุกรมวิธานสำหรับสถาบันการเงินในสิงคโปร์ และภูมิภาค 2) การติดตามข้อมูล MAS เพิ่งเปิดตัวโครงการ Project Greenprint นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามและประมวลข้อมูลด้านการระดมเงินทุนของโครงการตามแนวทาง ESG รวมถึงการวัดผลประเมินผลโครงการฯ 3) การเปิดเผยข้อมูล ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และ SGX กำลังกำหนดแผนงานสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศโดยสถาบันการเงินและนิติบุคคลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นอกเหนือจากแผนสิงคโปร์สีเขียว (SGP 2030), การปรับราคาคาร์บอนที่เหมาะสม และการทบทวนอัตราและแนวทางภาษีคาร์บอน รัฐบาลกำลังพิจารณาโครงการริเริ่มหลายโครงการเพื่อขยาย finance ecosystem ที่ตอบสนองความต้องการของสิงคโปร์และภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1) การขยายตลาดสินเชื่อคาร์บอน เช่น การจัดตั้งตลาดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอน Climate Impact X (CIX) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย DBS Bank, SGX, Temasek และ Standard Chartered

2) กระตุ้นการจัดหาเงินทุนและการลงทุนอย่างยั่งยืน รัฐบาลจะเป็นผู้นำโดยการวางกรอบและกฎเกณฑ์ และเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เช่น 1) สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEA) เป็นคณะกรรมการชุดแรกที่ออกตราสารหนี้หลายสกุลเงิน (multicurrency medium term note – MTN) มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และวางกรอบการทำงานตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เพื่อสนับสนุนตลาดการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) กระทรวงการคลังสิงคโปร์ได้จัดตั้งสำนักงาน Green Bonds Programme Office (GBPO) แห่งใหม่ เพื่อพัฒนาขอบข่ายงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการตราสารหนี้สีเขียว ตลอดจนอุตสาหกรรมและนักลงทุนสัมพันธ์ 3) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ธนาคาร HSBC และ บริษัท Temasek ร่วมกับธนาคาร Asian Development Bank และบริษัท Clifford Capital Holdings) ประกาศเปิดตัวความร่วมมือกระตุ้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ยั่งยืนในเอเชียมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสินเชื่อให้สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี

3) สร้างและพัฒนาทักษะความสามารถทางด้านการเงิน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ประกาศการจัดตั้งสถาบันการเงินที่ยั่งยืนและการเงินสีเขียว [Sustainable and Green Finance Institute (SGFIN)] เพื่อการวิจัยซึ่งสนับสนุนโดย MAS และวางแผนที่จะเปิดดำเนินการภายในสิ้นปี 2564

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

การประชุม SSIFC จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในงานสัปดาห์ระบบนิเวศน์และความเจริญรุ่งเรือง Ecosperity Week 2021 ที่จัดขึ้นโดย Temasek ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2564 ซึ่งรวบรวมผู้นำธุรกิจระดับโลก ผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุน และภาคประชาสังคมในภูมิภาค เพื่อเจาะลึกถึงโอกาสในด้านการลดการปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทบทวนธรรมชาติและทรัพยากร ตลอดจนการลงทุนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน

NEA ได้ออกพันธบัตรสีเขียวมูลค่า 1,650 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ [จากตราสารหนี้หลายสกุลเงิน (MTN) 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์] เพื่อเป็นการจัดหาเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เริ่มต้นด้วย Tuas Nexus Integrated Waste Management Facility ซึ่งเป็นโรงงานแบบบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวในงานเสวนาการเงินสีเขียวและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Green Finance and Investment for a Greener Economy in Thailand) ว่าล่าสุดไทยได้ออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วเป็นมูลค่ารวม 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 190,000 ล้านบาท) เพื่อเดินหน้านโยบายการเงินสีเขียว ระดมเงินจากตลาดเงินทุนให้แก่โครงการที่ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมและสังคม งานเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อนำร่องก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง