โรงแยกเกลือออกจากน้ำทะเลแห่งที่ 5 ของสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ซึ่งตรงกับงานสัปดาห์น้ำนานาชาติ (Singapore International Water Week – SIWW) ของสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดโรงงานแยกเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination Plant) แห่งที่ 5 บนเกาะ Jurong Island เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำน้ำทะเลมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำจืดจากต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งน้ำจากน้ำทะเลคิดเป็น 25% ของน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในสิงคโปร์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060)

เดิมสิงคโปร์มีโรงแยกเกลือจากน้ำทะเล ทั้งหมด 4 แห่ง คือ (1) SingSpring ก่อตั้งเมื่อปี 2548 (2) Tuas South ก่อตั้งเมื่อปี 2556 (3) Tuas ก่อตั้งเมื่อปี 2561 และ (4) Keppel Marina East ก่อตั้งเมื่อปี 2563  โดยโรงงานแห่งใหม่ที่เกาะ Jurong ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.7 เฮคเตอร์ มีขนาดประมาณสนามฟุตบอล 5 สนาม และสามารถผลิตน้ำได้ 30 ล้านแกลลอน หรือ 137,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของความต้องการน้ำต่อวันในสิงคโปร์ ทั้งยังสามารถแยกเกลือออกจากน้ำทะเลได้ดีกว่าโรงงานทั้ง 4 แห่งประมาณ 5% นอกจากนี้ โรงงานยังมีระบบอัตโนมัติขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ ต้องการกำลังคนเพียง 2-3 คนเท่านั้น

แหล่งที่มา: Public Utilities Board (PUB)
(https://www.pub.gov.sg/news/pressreleases/2022PR07)

ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องโรงงานแห่งใหม่นี้จะดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท Tuas Power และบริษัท ST Engineering เป็นระยะเวลา 25 ปี ซึ่งได้รับเลือกตั้งแต่ปี 2560 โรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงไฟฟ้า Tembusu Multi- Utilities Complex หรือ TMUC ของบริษัท Tuas Power (เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556) ซึ่งสิงคโปร์จะได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการของหน่วยงานเหล่านี้ เช่น การแบ่งโครงสร้างการรับและปล่อยน้ำทะเล และการจัดสรรพลังงานจากโรงงานผลิต

ในปัจจุบัน สิงคโปร์มีแหล่งที่มาของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศจาก 4 แหล่ง ได้แก่ (1) การนำเข้า (2) แหล่งน้ำในประเทศ (3) ระบบบำบัดน้ำ NEWater และ (4) การแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ตามลำดับ โดยสิงคโปร์ประเมินว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปริมาณปัจจุบันภายในปี 2603 สำนักงานน้ำแห่งชาติสิงคโปร์ (PUB) จึงได้จัดทำแผนให้ระบบบำบัดน้ำ NEWater ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ (weather-resilient) และระบบแยกเกลือออกจากน้ำทะเลให้สามารถรองรับต่อความต้องการน้ำในสิงคโปร์ได้สูงสุด 85% ในอนาคต เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านอุปทานน้ำ และลดการพึ่งพาแหล่งน้ำจากต่างประเทศ

นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจให้ความเห็นว่า โรงงานแยกเกลือจากน้ำทะเลแห่งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรน้ำในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างโรงแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมีต้นทุนที่สูง และต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะเกิดความคุ้มค่าในเชิงการเงิน นอกจากนี้ การแยกเกลือออกจากน้ำทะเลยังมีปริมาณร่องรอยของก๊าซคาร์บอน (Carbon Footprint) ที่สูงกว่าวิธีบริหารจัดการน้ำอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงทางน้ำในสิงคโปร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาได้โดยง่าย รัฐบาลสิงคโปร์จึงมีนโยบายสนับสนุนการสร้างความยืดหยุ่นของแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป  


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง