เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ กล่าวเปิดงาน Singapore International Energy Week (SIEW) 2021 ซึ่งจัดโดยสำนักงานตลาดพลังงาน สิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2564 ณ Sands Expo and Convention Centre โดยได้แสดงวิสัยทัศน์และแผนการด้านพลังงาน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์พลังงานสะอาดของสิงคโปร์

สิงคโปร์มุ่งมั่นต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าสิงคโปร์จะปล่อยก๊าซ CFC เพียงร้อยละ 0.1 ของโลก แต่สิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากปัญหาภาวะเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซ CFC ปริมาณมากทั่วโลกโดยเฉพาะปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพอากาศที่แปรปรวน และฝนตกหนักผิดปกติ ทั้งนี้ สิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำ มีเพียงพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สิงคโปร์พึ่งพาได้มากที่สุด แต่ก็ถูกจำกัดโดยเมฆหมอกที่ปกคลุมและพื้นที่ดินแดนอันจำกัดของสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงผลักดันการลด carbon footprint ในภาคพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะอาดของแหล่งพลังงานจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ และพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ บนอ่างเก็บน้ำ Tengeh รวมถึงการใช้แผงโซลาร์เซลล์แนวตั้งซึ่งสามารถติดตั้งบนผนังภายนอกของอาคารได้ โดยจะเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อีกจำนวน 4 เท่า เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตอย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ภายในปี 2573

ต่อจากนี้สิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมาย (1) การนำเข้าไฟฟ้าจำนวน 4 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2578 หรือประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณไฟฟ้าสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มนำเข้าไฟฟ้า 1.2 กิกะวัตต์ จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ และครั้งถัดไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 (2) การทดลองนำเข้าไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ จากมาเลเซีย และจัดทำโครงการนำร่องเพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์จากเกาะ Pulau Bulan ของอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในต้นปี 2565 (3) การนำเข้าไฟฟ้าจากอาเซียน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) เพื่อนำเข้าพลังงาน 100 เมกกะวัต์ ในปี 2565-2566 (4) การนำเข้าพลังงานคาร์บอนต่ำประเภทต่าง ๆ จากทั่วโลกโดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มา และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของสิงคโปร์ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่น ออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหาคาร์บอนต่ำ การดำเนินการด้านสภาพอากาศ และร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระดับภูมิภาค

สิงคโปร์จะสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกจากไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง โดยสิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะ (1) สร้างห่วงโซ่อุปทานระดับโลกสำหรับไฮโดรเจน (2) จัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการนำเข้าไฮโดรเจน ทั้งการจัดเก็บ การกระจาย และการใช้งาน (3) ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การเก็บรักษา และการใช้ไฮโดรเจน เพื่อเพิ่มศักยภาพและสามารถนำไปใช้อย่างทั่วถึง (4) รัฐบาลจะมอบเงินรางวัลจำนวน 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์แก่โครงการวิจัยที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ทั้งด้านเทคนิคและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนวัตกรรมการดักจับ การใช้และการจัดเก็บ (CCUS) ไฮโดรเจนและคาร์บอน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

SIEW จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการอภิปรายประเด็นด้านพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและทั่วโลก งาน SIEW 2021 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 มีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรี ประมาณ 30 คน และผู้บรรยาย/อภิปราย จำนวน 480 คนจากทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมในสถานที่จริงประมาณ 3,000 คน และผู้ชมออนไลน์ 20,000 คนจากกว่า 80 ประเทศ

กิจกรรมหลักในงาน ได้แก่ (1) SIEW Opening Keynote (SOK) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงMTI คนที่ 2 ของสิงคโปร์ (นายแพทย์ตัน ซี เล็ง) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน Singapore Energy Summit (SES) (2) Singapore-IRENA High Level Forum การหารือเรื่องการลงทุนในการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด (3) Singapore-International Energy Agency (IEA) Forum การอภิปรายทิศทางด้านพลังงานที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก (4) Asia Pacific Energy Regulatory Forum (APER) การหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านกฎระเบียบ และ (5) SIEW Thinktank Roundtables ช่วงที่ผู้ร่วมสัมมนามีส่วนร่วมในการอภิปรายเชิงลึก

วันที่ 2 พฤศจิกายน 64 หนังสือพิมพ์ The Straits Times รายงานว่าบริษัท Sunseap Group ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดได้รับเงินทุนสำหรับโครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Finance) จำนวน 85.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากธนาคาร DBS และธนาคาร UOB สำหรับโครงการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) ชื่อ “SolarNova 4” ใน HDB กว่า 1,200 แห่ง และหน่วยงานรัฐบาล 49 แห่ง โครงการนี้ถือเป็นโครงการพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน

แหล่งที่มา: SUNSEAP GROUP

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของเยอรมัน Germanwatch e.V. ได้จัดทำดัชนี Climate Change Performance Index (CCPI) ประจำปี เพื่อประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับ 57 ประเทศ และสหภาพยุโรปที่ร่วมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 90 ของโลก (สิงคโปร์ ไม่ติดอันดับ) โดยเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ สำหรับ CCPI 2021 ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 สำหรับประเทศที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สวีเดน 4 / สหราชอาณาจักร 5 /อินโดนีเซีย 24 / จีน 33 / ญี่ปุ่น 45 / มาเลเซีย 56) การประเมินประสิทธิภาพวัดจาก 4 หมวดหมู่ คือ 1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (40%) 2. พลังงานหมุนเวียน (20%) 3. การใช้พลังงาน (20%) 4. นโยบายภูมิอากาศ (20%) โดย CCPI ไม่ได้รวมสิงคโปร์ในการจัดทำดัชนีดังกล่าว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง